‘รับฟังความเห็นประชาชน’ กลไกคลี่คำถามคาใจ สรรหา ‘ผอ.ไทยพีบีเอส’

กรรมการสรรหาฯ ย้ำ ข้อมูลจากประชาชนมีส่วนสำคัญ ต่อการพิจารณาอย่างเท่าเทียม เล็ง ถ่ายทอดสดการแสดงวิสัยทัศน์ หวังสร้างมาตรฐานการสรรหาผู้บริหารระดับสูงองค์กร หน่วยงานรัฐ ที่ใช้เงินภาษีประชาชน

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการสรรหาผู้อำนวยการองค์การองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ Thai PBS เปิดเผยกับ The Active ถึงกระบวนการสรรหาครั้งนี้ว่า เป็นความตั้งใจของคณะกรรมการสรรหาฯ ที่อยากจะให้กระบวนการสรรหาเป็นไปอย่างโปร่งใสให้ได้มากที่สุด โดยมีกระบวนการเชื้อเชิญให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุดเช่นกัน ทั้งนี้การเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชน ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะ เมื่อเป็นทีวีสาธารณะ ก็แปลว่าเป็นของประชาชน และกระบวนการนี้ไม่ใช่แค่การเปิดกว้างอย่างเดียว แต่ว่าให้ประชาชนได้ส่งข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัครเข้ามาให้คณะกรรมการใช้ประกอบการพิจารณา โดยสรุปถึง 2 เหตุผลหลัก ๆ คือ

  • เหตุผลแรก คณะกรรมการสรรหา มองว่า การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเรื่องที่ดี และสอดคล้องกับพันธกิจเพื่อสาธารณะ ของทีวีสาธารณะ ด้วยการเชิญชวนให้ประชาชนที่เป็นผู้ชมเข้ามา มีส่วนร่วมในกระบวนการ

  • เหตุผลที่สอง เป็นความเห็นส่วนตัว ที่หากมองไปให้ไกลกว่าการสรรหาผู้อำนวยการรอบนี้ อยากจะให้หลาย ๆ ฝ่ายมองว่ากระบวนการแบบนี้เป็นบรรทัดฐานที่ดี และอยากให้เกิดขึ้นกับองค์กรอื่น ๆ ที่สรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่ง ในหน่วยงานที่ใช้งบประมาณมาจากเงินภาษีของประชาชน

“จริง ๆ ก็ต้องยอมรับว่าตอนนี้องค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ หน่วยงานราชการทั้งหลาย ตอนนี้ถูกเพ่งเล็ง ถูกตั้งคําถามค่อนข้างมากจากสังคมไทย ฉะนั้นเราก็คิดว่ายิ่งบรรยากาศเป็นแบบนี้ ยิ่งคนตั้งคําถามเยอะ การกระทำที่บางทีก็ดูเหมือนจะไม่ได้สอดคล้อง หรือไม่ได้ปกป้องประโยชน์สาธารณะ ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่กระบวนการสรรหาผู้ที่เป็นผู้บริหารระดับสูง หรือ คณะกรรมการก็จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับประเด็นเรื่องของความโปร่งใส แล้วก็ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น”

สฤณี อาชวานันทกุล

อ่านเพิ่ม : ประกาศรายชื่อบุคคลผู้สมัครรับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.

ย้ำข้อมูลจากประชาชน มีส่วนสำคัญพิจารณาสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส

สฤณี ยังกล่าวว่า ประชาชนจะได้แสดงความเห็นตั้งแต่ตอนนี้ ไปจนถึงวันที่ 25 เม.ย. 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการสรรหาฯ เรื่องของการเชิญชวนประชาชน โดยยืนยันว่า ข้อมูลที่ประชาชนให้มาจะถูกให้ความสำคัญ และถือเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา โดยกระบวนการสรรหา จะมีขั้นตอนต่อไปก็คือ การคัดเลือกผู้ที่จะมาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งคณะกรรมการพยายามออกแบบกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น มีการถ่ายทอดสด ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่

“เข้าใจว่า อันนี้ก็น่าจะ เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่เหมือนกัน จะสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการตอนนี้ หรือว่ากระบวนการหลังที่เลือกกัน ก็พยายามจะให้สาธารณะได้มีส่วนร่วม แล้วก็อย่างน้อยได้เห็นว่าเราทําอะไรบ้าง”

สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณี ยังระบุว่า หน้าตาของเวทีการแสดงวิสัยทัศน์คณะกรรมการสรรหาฯ มีความตั้งใจให้เป็นลักษณะเหมือนกับผู้ชมรับชมรายการถ่ายทอดสดของไทยพีบีเอสอยู่ ซึ่งนอกจากจะเห็นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครแล้ว ยังเห็นการทําหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาฯ ด้วย เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับผู้รับชม และเป็นความพยายามที่จะตอบคําถามสังคมด้วย

“ที่ผ่านมาในหลายหลายองค์กรสาธารณะ บางทีประชาชนก็จะแค่ว่าโอเคมีกระบวนการสรรหาเกิดขึ้น แล้วพอเห็นอีกทีก็คือมาเห็นรายชื่อผู้ที่รับเลือกสุดท้ายเป็นผู้บริหารองค์กรไปเลย ก็จะไม่ได้เห็นว่ากระบวนการระหว่างทางเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นก็อาจจะเกิดคําถามว่าบุคคลที่รับการคัดเลือกเหมาะสม ไม่เหมาะสมตรงไหนอย่างไร”

สฤณี อาชวานันทกุล

ในขณะที่ผู้สมัครเองที่รับทราบว่า กระบวนการเป็นแบบไหน น่าจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้สมัคร กล่าวได้ว่าเป็นการให้ความสำคัญกับการพิสูจน์คุณสมบัติของตัวเองตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการสรรหาฯ กําหนด เมื่อกระบวนการโปร่งใส คำถามที่ว่าใครเป็นคนของใครก็จะน้อยลง ด้วยกระบวนการแบบนี้จะทำให้ผู้สมัครต้องเตรียมตัวมากขึ้น

เมื่อถามว่า กังวลแค่ไหน หากมีความเห็น “จัดตั้ง” สฤณี ย้ำว่า กรณีที่มีคนมาแสดงความเห็นถึงขึ้นตอนการเปิดรับฟังความเห็น จะมี IO หรือไม่ นั้น อาจจะต้องทำใจ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใครที่มาแสดงความเห็น เพียงแต่เจตนาของการเปิดให้มีส่วนร่วม กระบวนการไม่ได้ทำแบบ Popular Vote แต่ใช้คุณสมบัติต่าง ๆ ประกอบการพิจารณาที่มีความชัดเจน 

หวังกลไกมีส่วนร่วม สร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของไทยพีบีเอส

ขณะที่ ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ กรรมการสรรหาฯ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Pokpong Junvith ก่อนหน้านี้โดยระบุว่า หวังให้กระบวนการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ครั้งนี้เป็นตัวอย่างใหม่ ๆ ของการสรรหาผู้นำหน่วยงานรัฐ ที่มีความรับผิดรับชอบต่อสาธารณะ เพราะไทยพีบีเอสเป็นองค์กรสื่อ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ ค้นหาความจริง สร้างความโปร่งใส ส่องไฟไปยังที่มืดให้สว่าง กระบวนการสำคัญอย่างการสรรหา ผอ. จึงควรสะท้อนหลักการเหล่านี้

ยิ่งไปกว่านั้น ไทยพีบีเอสเป็นองค์กรสื่อสาธารณะ เป็นองค์กรเพื่อสาธารณะ ใช้เงินสาธารณะ ด้วยความเป็นสาธารณะจึงควรเปิดกว้างและเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา หากดำเนินการสรรหา ผอ. โดยยึดหลักนี้ จะสร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของไทยพีบีเอสเพิ่มมากขึ้นในสังคม เป็นกระบวนการเรียนรู้ให้สังคมเข้าใจและเห็นคุณค่าของสื่อสาธารณะมากขึ้น ปลุกกระแสความสนใจกระบวนการสรรหาผู้นำไทยพีบีเอสในสังคม รวมถึงเปิดบทสนทนาสาธารณะเกี่ยวกับการปรับตัวของสื่อสาธารณะเพื่อรับมือความท้าทายแห่งอนาคต นอกจากนั้น อาจทำให้ผู้สมัครคุณภาพดีมั่นใจและตัดสินใจลงสมัครมากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการสรรหาในมุมมืดที่ทำกันในกลุ่มกรรมการไม่กี่คน

“กระบวนการสรรหาที่ accountable ต่อสาธารณะ จะทำให้กรรมการสรรหาต้อง accountable ต่อสาธารณะไปด้วย และต้องตั้งใจทำงานอย่างมีคุณภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ เพราะสังคมจับตามอง”

ผศ.ปกป้อง จันวิทย์

ผศ.ปกป้อง ยังชี้ตัวอย่างรูปธรรมของกระบวนการสรรหาแบบเปิดในครั้งนี้ คือการถ่ายทอดสดผ่านทางเว็บไซต์ และสื่อออนไลน์ของไทยพีบีเอส ในขั้นตอนการแสดงวิสัยทัศน์ และแนวคิดเชิงกลยุทธ์ของผู้สมัครที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบแสดงวิสัยทัศน์ รวมถึงในขั้นตอนที่ผู้สมัครต้องตอบคำถามของคณะกรรมการสรรหาฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาคมไทยพีบีเอสและประชาชนสามารถร่วมรับฟังวิสัยทัศน์ ติดตามการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาฯ ได้อย่างเปิดเผยและโปร่งใส

“นี่น่าจะเป็นครั้งแรก ๆ ที่มีการถ่ายทอดสดการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครตำแหน่งผู้นำสูงสุดของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอิสระ ให้สาธารณชนได้รับชมกันสด ๆ แตกต่างจากกระบวนการสรรหาผู้นำหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอิสระในอดีตที่มักดำเนินไปภายใต้ระบบปิด คิด-ทำ-เลือกกันเฉพาะในหมู่คณะกรรมการสรรหา ประชาชนไม่เคยมีโอกาสรับฟังวิสัยทัศน์และแนวคิดของผู้สมัครกับหู และตัดสินกับตา ว่าใครคิดอะไร ทำการบ้านมาดีแค่ไหน ในห้องปิดลับเกิดอะไรขึ้น ยิ่งสรรหากันในระบบปิด ยิ่งง่ายต่อการวิ่งเต้นและใช้สายสัมพันธ์อุปถัมภ์ เพราะกรรมการสรรหาไม่ต้อง accountable ต่อใคร หรือต่อสาธารณะเลย ไม่ต้องรับผิดชอบกับการตัดสินใจของตัวเอง เข้ามาทำงานเงียบ ๆ ในห้องปิดลับแล้วก็จากไป หลายครั้งทิ้งปัญหาไว้ให้องค์กรและสังคม”

ผศ.ปกป้อง จันวิทย์

ผศ.ปกป้อง ยังชี้ว่า นอกจากประเด็นเรื่องการสรรหาระบบปิด รู้สึกคาใจเวลาติดตามเฝ้าดูการสรรหาผู้นำหน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระอื่น ๆ คือ กระบวนการสรรหามักทำตามธรรมเนียมปฏิบัติที่แล้ว ๆ มา โดยมีข้อสงสัยว่ากรรมการสรรหาใช้เกณฑ์หรือข้อมูลอะไรในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร เพราะในการสรรหามักเรียกผู้สมัครทุกคนที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติมาแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ ทำให้มีผู้สมัครเข้ารอบจำนวนมาก จนแต่ละคนมีโอกาสได้แสดงวิสัยทัศน์และตอบคำถามแค่ 10-15 นาที เช่น การสรรหา กสทช. คราวหนึ่ง ผู้สมัครแต่ละคนมีเวลาแสดงวิสัยทัศน์ 5 นาที และตอบคำถามอีก 5 นาที วิถีเช่นนี้กลายเป็นเรื่องปกติของการสรรหาผู้นำหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระไป อีกหลายองค์กรก็ใช้แนวปฏิบัติไม่ต่างกันนี้ ทั้งที่เป็นตำแหน่งสำคัญ สร้างผลกระทบต่อสังคมวงกว้างสูง มีวาระดำรงตำแหน่งหลายปี และต้องดูแลงบประมาณและบุคลากรจำนวนมาก

“อดคิดไม่ได้ว่าทำไมเราไม่ออกแบบกระบวนการที่มีศักยภาพในการคัดสรรผู้สมัครคุณภาพ ให้เวลาอย่างเหมาะสม มีรูปแบบวิธีการทดสอบที่หลากหลายและมีนวัตกรรม จนสามารถวัดความรู้ความสามารถ ทัศนคติ ทักษะ ภาวะผู้นำ แพชชัน และตัวตนของผู้สมัครได้ครบถ้วนรอบด้าน ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ เรามักเคยชินกับการสรรหาที่ไม่ใส่ใจหรือมองไม่เห็นคนทำงานในองค์กรอยู่ในสายตา ทั้งที่พวกเขาเป็นคนที่รู้เรื่ององค์กรดีที่สุด ทำงานใกล้ชิดใช้ชีวิตอยู่กับมันทุกวัน มีกลุ่มคนทำงานที่อยากเห็นองค์กรตัวเองพัฒนาขึ้นและต้องการมีส่วนร่วมในการทำมันให้ดีขึ้นด้วยเสมอ”

ผศ.ปกป้อง จันวิทย์

ผศ.ปกป้อง ระบุว่า อย่างน้อยที่สุด คณะกรรมการสรรหาฯ ควรจะเปิดเวทีรับฟังเสียงของประชาคมในองค์กร ถ้าจะยิ่งดีขึ้นไปอีก ควรจัดเวทีรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรด้วย เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพปัญหาในปัจจุบันและความท้าทายในอนาคตขององค์กร การวิเคราะห์โจทย์สำคัญ ๆ ขององค์กร รวมถึงคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้นำองค์กร ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการสรรหาฯ ได้รับรู้ข้อมูลที่กว้างขวางหลากหลาย สำหรับใช้ประกอบการทำหน้าที่ในกระบวนการสรรหาต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active