‘ชาตินิยม’ ในสายตาคนรุ่นใหม่ : รักชาติได้…ในแบบของฉัน

รักชาติ คือ คำที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก แต่สำหรับเด็ก เยาวชนในยุคนี้ คำคำนี้อาจกลายเป็น ดาบสองคม ที่ทั้งใช้ รวมพลัง และ กดทับ ความคิดที่แตกต่าง บางคนถูกกล่าวหาว่า “ไม่รักชาติ” เพียงเพราะตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ หรือเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง

ในช่วงเวลาที่การเมืองไทยตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง ทั้งจากปมปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา เลยเถิดไปถึงคลิปแฉการสนทนา และการใช้ช่องทางโซเซียลมีเดียของผู้นำเพื่อนบ้าน มาเล่นงานกันจนสั่นคลอนการเมืองไทยในเวลานี้ ยังไม่รวมศึกในประเทศ ของกลุ่มประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ถามหาความรับผิดชอบทางการเมืองจากนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญคือชูธงเรียกร้องให้ รักษาอธิปไตย จนอาจเลยเถิดไปถึงไปถึง ชาตินิยม หรือไม่ ?

The Active ชวนจับสัญญาณความเคลื่อนไหวการเมือง ท่ามกลางกระแส “ชาตินิยม” ผ่านมุมมองของเยาวชน คนรุ่นใหม่ เพื่อช่วยกันทบทวนว่า ความรักชาติในปัจจุบัน ควรมีหน้าตาแบบไหน ? และเยาวชน คนรุ่นใหม่กำลังพยายามบอกอะไร ? กับสังคม 

  • ภูมิพัฒน์ สาลี นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุ 21 ปี

เขาอยากชวนสังคมทำความเข้าใจก่อนว่า ทุกคนอยู่ในปริมณฑลของคำว่า ชาตินิยม เสมอ ทุกคนย่อมมีความรู้สึกเกี่ยวกับชาตินิยมอยู่แล้ว เป็นส่วนที่ฝังเข้าไปในลึก ๆ ของผู้คนได้มากกว่าที่คิด เพราะชาติ คือ ชุมชนที่ถูกแสดงด้วยการเล่าเรื่องแบบใดแบบหนึ่ง เรื่องเล่านั้นถูกยอมรับเสียจนเราอาจไม่เคยคิดตั้งคำถามกับมัน

“ชาตินิยมมีประโยชน์แน่นอน คือ สร้างชาติขึ้นมาได้ และข้อเสียของมันคือมันสร้างแค่ชาติเรา ไม่ใช่ชาติอื่น เราภูมิใจในชาติเรา เขาก็ภูมิใจในชาติเขา ถ้าต่างคนต่างอยู่จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้ำเส้นของกันและกัน ปัญหาก็จะเกิดขึ้น และชาตินิยมจะกลายมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ง่ายมาก ๆ ทรงพลังมาก ๆ เพราะเราอยู่ในกรอบชาตินิยมทุกวัน ทุกเวลา มันเลยไม่แปลกที่ชาตินิยมจะนำมาใช้ได้ง่าย ๆ ถ้าเข้าใจตรงนี้ อารมณ์ก็จะน้อยลง”

ภูมิพัฒน์ สาลี

ภูมิพัฒน์ ยังมองว่า ชาตินิยมมีรากฐานเกี่ยวกับอารมณ์และจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ เช่น “เสียอะไรก็เสียไป แต่จะไม่ยอมเสียชาติไทย” ทว่าถ้าพูดเรื่องเศรษฐกิจชายแดน 2 ประเทศ ที่ถูกปิดมันก็เชื่อมกัน มีเม็ดเงินที่จับต้องได้หายไป ความเป็นชาตินิยมจึงอาจอ่อนกำลังลงก็ได้ในตอนนี้

“คนส่วนมากจะมองว่า การพูดเรื่องชาตินิยม คือการพูดเรื่องอารมณ์และจิตวิญญาณเป็นหลัก เช่น บรรพบุรุษของเรา อดีตของเรา แต่กลับไม่มองเห็นมิติอื่น ๆ ที่ชาตินิยมก็ส่งผลด้วย ชาตินิยมไม่ได้แค่สร้างจิตวิญญาณ แต่ชาตินิยมสร้างเศรษฐกิจ ชาตินิยมสร้างสังคม สร้างความหลากหลาย ชาตินิยมสามารถทำให้คนอยู่ด้วยกันได้ด้วยซ้ำ”

ภูมิพัฒน์ สาลี

เขาย้ำว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดสงคราม ไม่มีใครอยากให้เกิดการปะทะ เพราะทุกฝ่ายเสียกำลัง ปิดด่านก็ไม่มีรายได้ทั้ง 2 ฝั่ง แต่คนที่มีอำนาจไม่พูดประเด็นนี้ ทุกอย่างจึงประกอบสร้างร่วมกัน แต่ปัญหา คือ หลายคนมองไม่เห็นสิ่งที่ประกอบสร้างอยู่ภายในโครงสร้างนั้น ๆ

เมื่อถามว่าแล้ว คนรุ่นใหม่ควรอยู่กับกระแสชาตินิยมอย่างไร ? ภูมิพัฒน์ ให้คำตอบว่า ต้องตระหนักรู้ให้ได้ว่าชาตินิยมนั้นอยู่กับเราและส่งผลกับเรายังไง รู้แบบรอบด้าน ไม่ได้อาศัยอารมณ์และจิตวิญญาณอย่างเดียว เพราะว่า ชาตินิยมไม่มีทางหายไป ตราบใดที่แนวคิดรัฐชาติยังมีอยู่ พูดง่าย ๆ คือหลายคนยังขาดความรู้ทางการเมือง คนที่มีอำนาจเขารู้ ก็เลยคล้อยตามได้ง่าย ๆ ถ้าเรามีภูมิคุ้มกันเรื่องชาตินิยม ปัญหาก็จะไม่เกินเลยไปมากกว่านี้

  • ติณณ์ นาคเพชร อายุ 20 ปี

ต้องกลับมาทบทวนเรื่องความหมายของ ชาตินิยม ก่อน ว่า ครอบคลุมไปถึงตรงไหน ? ส่วนเรื่องการใช้กําลังตอบโต้กัน แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมามีกรณีศึกษามากมายว่า เมื่อไรมีสงคราม เมื่อนั้นย่อมมีการสูญเสีย

“ข้อพิพาทเกิดขึ้นได้ในทุกแวดวง แต่สิ่งหนึ่งที่ควรจะตระหนักไว้ก็คือ การแก้ปัญหานั้นต้องยืนอยู่บนหลักมนุษยธรรม ต้องมองถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้มันก็มีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่เรื่องของข้อพิพาท”

ติณณ์ นาคเพชร

คนรุ่นใหม่ควรอยู่กับกระแสชาตินิยมอย่างไร ? ติณณ์ ยอมรับว่า ชาตินิยมแต่ละยุคสมัยไม่เหมือนกัน มันเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะรักชาติของตนเอง แต่เราอาจจะต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

  • รวีวัสสา รัตนายน พนักงานบริษัท และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน อายุ 24 ปี

ความจริงแล้วการปลุกปั่นทางทหาร ส่งผลต่อประชาชนตัวเล็ก ๆ คนธรรมดา มีเพื่อนที่อยู่แถว ๆ นั้น เล่าว่าปกติคนที่อยู่ชายแดนเขาก็ไม่ได้เกลียดชังอะไรกัน ค้าขายกันตามปกติ ทั้ง 2 ประเทศ ก็มีวัฒนธรรมร่วมกัน เราเป็นคนเหมือนกัน

เธอยังตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยผ่านยุครัฐประหารมาแล้ว ในยุคนั้นรัฐบาลมีความพยายามให้เราภาคภูมิใจในความเป็นชาติ เป็นวิธีหนึ่งที่เราอาจจะต้องตระหนักรู้ว่าบางคนโดนโฆษณาชวนเชื่อ การปลุกปั่นคนในชาติก็อาจไม่ต่างจากการรักษาคะแนนเสียงของคนบางกลุ่มเช่นกัน 

รวีวัสสา ยอมรับด้วยว่า สื่อก็มีผล เพราะการไปตามติดทุกย่างก้าวของฮุนเซน คนยิ่งรู้สึกมีอารมณ์ร่วมตามไปด้วย แต่ก็มีการเคลื่อนไหวของบางองค์กรที่พยายามสื่อสารถึงปมปัญหา อย่าง เอมเนสตี้ ที่พูดถึงเรื่องการค้ามนุษย์ในกัมพูชา และพูดถึงนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยคนไทยที่โดนหลอกไปเป็นคอลเซ็นเตอร์ ดังนั้นสื่อควรมุ่งเน้นไปที่ตรงนี้มากกว่า เพราะการแทรกแซงทางการทูต การชี้นำว่ารัฐบาลไหนล่มจม นั้นสมควรแล้วหรือไม่ สื่อควรจะให้คนตั้งคำถามตรงจุดนี้ ไม่ใช่มุ่งไปที่ว่าวันนี้ฮุนเซนจะแฉอะไร

คนรุ่นใหม่ควรอยู่กับกระแสชาตินิยมอย่างไร ? รวีวัสสา ย้ำว่า ควรจะหนักแน่น และเชื่อมั่นในวิธีเจรจาด้วยสันติวิธี เราเห็นข่าวที่เขาปิดด่าน แล้วผู้ค้าได้รับผลกระทบ มันเป็นเรื่องของปากท้องคนที่นั่น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคนที่นั่นได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เขาต้องไปซ้อมรบที่บังเกอร์

“สิ่งที่เราต้องคำนึงจริง ๆ คือ ชีวิตของคน เขาไม่อยากสู้รบกัน เขาอยากมีชีวิตปกติธรรมดา ไม่มีใครอยากให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น เรารักชาติของเราได้ แต่การรักชาติของเราต้องไม่ใช่การไปแบ่งแยกว่าใครไม่ใช่มนุษย์ หลายคนที่มาทำงานที่ไทยก็เพราะความจำเป็น”

รวีวัสสา รัตนายน 

  • สุธาสินี ราชทอง นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วัฒนธรรมแบบชาตินิยมที่เกิดขึ้นคือ เป็นในลักษณะ Xenophobia (ความเกลียดกลัวต่างชาติ) คือ กระแสชาตินิยมทำให้เกิดการต่อแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในไทย ซึ่งพวกเขาไม่ได้ทำให้ให้เกิดความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องการเมืองที่ทำให้เกิดขึ้น ดังนั้นคนที่ติดตามข่าวจึงควรมีวิจารณญาณ อย่าให้ความเกลียดชังนำไปสู่การขับไล่แรงงานข้ามชาติ

แล้วถ้าถามว่าสำหรับ วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ มีความเป็นชาตินิยมอยู่บ้างไหมนั้น สุธาสินี เชื่อว่า ชาตินิยม คือการที่เราสนับสนุนความเป็นชาติของเรา แล้วเราก็มีความภูมิใจ มีความ Pride ต่อความเป็นชาติที่เราเรียกว่าชาติไทย ความภูมิใจตรงนี้ไม่ใช่ว่าจะเอาความเป็นชาติไปทำร้ายคนอื่น คนรุ่นใหม่กำลังตีความความเป็นชาตินิยม บางส่วนอาจสุดโต่ง เอาทุกอย่างไปแปะกับชาตินิยม แต่คือ ความรักชาติมันก็ไม่ควรไปทำร้ายคนอื่น

  • อติพล สิมะบวรสุทธิ์ พนักบริษัท อายุ 23 ปี

ชาตินิยม มีอยู่แล้ว แต่สำหรับคนรุ่นใหม่คิดว่า มันก็เปลี่ยนเยอะ กลายเป็น “ชาตินิยมเชิงวัฒนธรรม” มากกว่า ในโซเซียลฯ พอมีเหตุการณ์อะไรที่พูดถึงชาติไทยไม่ดี ก็จะมีความพยายามต่อสู้กัน รวมกลุ่มกัน เพื่อตอบโต้ “คุณจะมาหยามเกียรติ จะมาพูดถึงประเทศไทยแบบนี้ไม่ได้”

 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วรัตถ์ สารบรรณ

นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์

Alternative Text
AUTHOR

ณัฐพล ประกฤติกรชัย

นิสิต ชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย