ข้อมูลย้อนหลัง 7 วันปริมาณฝุ่นพุ่ง 500 มคก./ลบ.ม. คณะแพทย์ มช.เผย ผู้ป่วยจากฝุ่น PM 2.5 เข้า รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ 3 เดือน 12,671 ราย ไม่นับที่ไม่สามารถเข้าพักรักษาตัวใน รพ. เพราะหอผู้ป่วยเต็มต่อเนื่อง แนะกลุ่มเสี่ยงควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง
วันนี้ (1เม.ย.66) ข้อมูลจาก Air 4 Thai กรมควบคุมมลพิษ รายงานปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่น PM 2.5 วันนี้ หลายจังหวัดภาคเหนือยังมีปริมาณค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเช่น จังหวัด แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, สุโขทัย, ลำพูน, ลำปาง, พิษณุโลก, น่าน, กำแพงเพชร โดย ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ค่าฝุ่นสูงสุด 330 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขณะที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จังหวัดเชียงรายปริมาณฝุ่นย้อนหลัง 7 วัน ค่าฝุ่นเกลี่ย 24 ชั่วโมงสูงถึง 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขณะที่วันนี้ค่าฝุ่นยังคงไม่ลดลงและยังสูงถึง 323 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ขณะที่เมื่อวานนี้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกสารรายงานผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5โดยระบุว่า มีผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และโรคเยื่อบุตาอักเสบมีอาการกำเริบ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จำนวน 12,671 ราย ( สถิติ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม จนถึง 31 มีนาคม 2566 ) และยังมีผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ เนื่องจากหอผู้ป่วยเต็มอย่างต่อเนื่อง
“ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง 20 กว่าเท่า เมื่อหายใจเข้าไปแล้วสามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ปอดและหลอดลมได้ นอกจากนี้ยังมีฝุ่น PM 0.1 ซึ่งเป็นฝุ่นละเอียดขนาดเล็กมาก สามารถทะลวงผ่านถุงลมเข้าสู่ระบบเลือด ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจและสมองอุดตันหัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ หอบหืดกำเริบ รวมทั้งอาการอื่น ๆ ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
บุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์วิกฤตหมอกควันภาคเหนือในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ประชาชนทุกท่านดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว โดยเริ่มจากตัวท่านเองต้องไม่เผาไม่เป็นต้นเหตุของปัญหาในการทำให้เกิดมลพิษ หมั่นตรวจสอบปริมาณฝุ่น PM2.5 ในอากาศ จากแอปพลิเคชันรายงานดัชนีคุณภาพอากาศหรือเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ”
นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์ ว่าหากระดับเกิน 35 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรลดการทำกิจกรรมนอกอาคาร หากระดับเกิน 50 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร คนทั่วไปควรงดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน รวมถึงงดการเข้าร่วมแข่งขันกีฬากลางแจ้งทุกประเภท
และหากเกิน 150 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ควรงดการออกนอกอาคาร ปิดประตูหน้าต่างมิดชิด อยู่แต่ภายในบ้าน เปิดเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมใส่หน้ากากที่ป้องกัน PM 2.5 ชนิด N95 และต้องสวมหน้ากากให้ถูกต้อง เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอย่างสูงสุด
สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางควรได้รับการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดและหากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยที่เกิดจากโรคมลพิษทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา พบ 2,019,854 ราย เฉพาะเดือนมีนาคม พบกลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด คือ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ โรคตาอักเสบ