ทั้งระดับอาเซียน ในประเทศ และท้องถิ่น ลั่น หากเป็นรัฐบาล เตรียมตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับอาเซียน ทำงานเชิงรุก ชี้ หลายข้อตกลงมีมานานแล้ว แต่ไม่มีรัฐบาลไหนใส่ใจ
17 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาฝุ่นละอองในภาคเหนือ ระหว่างลงพื้นที่ภาคเหนือเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ณ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยในเวที ได้มีการเสนอให้แก้ปัญหาหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ โดยได้นำเสนอการแก้ปัญหา แบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ ระหว่างประเทศ ในประเทศ และระดับท้องถิ่น พร้อมระบุว่างบประมาณแก้ฝุ่นเชียงใหม่ปีที่ผ่านมา มีเพียง 85 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ
โดยพิธาเตรียมเสนอเพิ่มงบฯ แก้ฝุ่นภาคเหนือให้เป็นองค์รวม คือ ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จากข้อมูลพบว่าเฉพาะช่วงฤดูฝุ่น ได้สร้างความเสียหายในมิติต่าง ๆในภาคเหนือเดือนละกว่า 3 พันล้านบาท หรือ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี มีความจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณแก้ปัญหา ขณะที่การแก้ปัญหาระหว่างประเทศ เตรียมสนับสนุนให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหาฝุ่นระดับภูมิภาค และดูข้อตกลงอาเซียน รวมถึงกองทุนที่มีอยู่ทั้งหมด ให้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม
“ASEAN Haze Agreement ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2004 เกือบยี่สิบปีแล้วที่ตั้งมา แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนใส่ใจ ผมนี่แหละจะเป็นคนที่จะเอาศูนย์ปฏิบัติงานของอาเซียน มาตั้งในเชียงใหม่ ASEAN Haze Portal ทำงานเชิงรุก ไม่ต้องประชุมใหม่ เอาข้อตกลงเดิมที่มีอยู่แล้ว และบอกให้ตั้งศูนย์มาทำ รัฐบาลใหม่จะใช้กลไกนี้ในการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ระดับอาเซียน”
พิธา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไม่สามารถแยกปัญหาสิ่งแวดล้อมออกจากปัญหาทางสังคมได้อีกต่อไป ผลกระทบของ PM2.5 ไม่ได้ส่งผลเพียงต่อสิ่งแวดล้อม แต่รวมถึงเศรษฐกิจและสาธารณะสุข สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสาธารณสุข คิดเป็นมูลค่าระดับหมื่นล้านบาท แต่งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมปีที่ผ่านมา มีเพียง 85 ล้านบาท และเป็นเบี้ยหัวแตก คือกระจัดกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ทำให้ต่างคนต่างแก้ปัญหาของตนเอง ในแง่ของงบฯ ไฟป่า อยู่ที่กรมป่าไม้ 14 ล้านบาท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) 3 ล้านบาท งบฯ กลุ่มจังหวัด 58 ล้านบาท และจังหวัด 10 ล้านบาท งบฯ ไม่เพียงพอและผิดสัดส่วนกับปัญหาที่ต้องเผชิญ
“งบประมาณแก้ฝุ่นต้องไม่เป็นเบี้ยหัวแตก แก้โครงสร้างอำนาจและการเงิน โดยผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ส่วนระดับท้องถิ่น เร่งติดตามการโอนถ่ายภารกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะการดับไฟป่าให้สำเร็จ และยังจะเพิ่มงบประมาณลงไปในระดับตำบล ตำบลละ 3 ล้าน แก้ฝุ่นไฟป่าระดับท้องที่”