‘ประชาชน’ ชนะคดีฟ้องนายกฯ แก้ปัญหาฝุ่นเชียงใหม่ล่าช้า

‘นักวิชาการ’ หวังคำพิพากษาช่วยย้ำเตือนผู้บริหารประเทศ อย่าละเลยต่อความเดือดร้อน ฝากถึงเวทีอาเซียนร่วมมือแก้ปัญหา หลังศาลปกครองเชียงใหม่ ฟันผิด ‘นายกฯ-คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ’

10 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิชญ์ณัฏฐ์ คันธารัตนกุล ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองเชียงใหม่ อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส. 2/2566 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 2/2566 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ระหว่าง นายสุชาติ พิชัย ผู้ฟ้องคดี และนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

เนื้อหาการฟ้องระบุว่า นายกรัฐมนตรีละเลยการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใส่ใจปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิด 2.5 ไมครอน ไม่มีความจริงใจห่วงใยประชาชนในภาคเหนือที่ต้องสูดดมควันหรือฝุ่นละออง โดยไม่สั่งการให้กรมฝนหลวงให้ทำฝนหลวงเพื่อดับควันหรือฝุ่นละออง และไม่ทำการประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเขตภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังนิ่งเฉยต่อปัญหาควันหรือฝุ่นละออง ฯลฯ

แม้ว่า นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงและให้การต่อศาลว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564-2570 เป็นแผนกำหนดทิศทางการดำเนินการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศไปสู่เป้าหมายเดียวกัน พร้อมกำหนดมาตรฐานเป้าหมายจากสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ศาลได้วินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ละเลยต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 นายกรัฐมนตรี ละเลยต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

โดยศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่อใช้ในการระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมกันใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการอื่นใดเพื่อระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหามลพิษอันเกิดจากควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป และเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในระดับดีมาก หรือระดับดีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

ฝุ่น
ผศ.ชูเกียรติ น้อยฉิม

ผศ.ชูเกียรติ น้อยฉิม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.แม่ฟ้าหลวง มองว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นเชียงใหม่ของนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดำเนินไปอย่างล่าช้ามาก คำพิพากษาครั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศได้รู้ว่า การดำรงตำแหน่งมีเพื่อรับใช้ประชาชน ไม่ใช่เพื่อดำรงอำนาจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีหน้าที่ชัดเจน และให้ประชาชนเห็นว่าทำเต็มที่แล้ว

“ปัญหาหมอกควันพิษในภาคเหนือ เกิดมาเป็นสิบปีแล้ว แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้แสดงออกถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างดีพอ คาดว่าในอนาคตสถานการณ์จะดีขึ้น และอยากฝากประเด็นนี้ไปถึงอาเซียน เมื่อประเทศต่าง ๆ มีส่วนทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ได้รับผลกระทบ สมาชิกอาเซียนควรเอาความเดือดร้อนดังกล่าวเข้าในที่ประชุมระดับภูมิภาค เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากขึ้น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active