ฝุ่นภาคเหนืออ่วม รัฐสอบตกแก้ปัญหา PM 2.5

สภาลมหายใจภาคเหนือชี้เร่งสร้างกระบวนการแก้ปัญหา ด้านคดีฟ้องนายกรัฐมนตรี ละเลยการปฏิบัติหน้าที่รอฟังคำสั่งศาล 28 มีนาคมนี้

จากสถานการณ์และคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพนั้น วิทยา ครองทรัพย์ ผู้ประสานงานสภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวว่า มีข้อสังเกตว่ามีการเผาเยอะมากจนน่ากังวล แม้ว่าจะมีความพยายามควบคุมของภาครัฐแต่ยังเอาไม่อยู่ ประกอบกับฝุ่นข้ามแดน ส่งผลให้มีฝุ่นสะสมในพื้นที่ปริมาณมากและกระทบกับสุขภาพของประชาชนอย่างชัดเจน

สำหรับเจ้าหน้าที่ที่มาช่วยเหลือดับไฟและชาวบ้านที่พยายามช่วยเหลือกันเอง เห็นได้ชัดว่าขบวนการรับมือของรัฐบาล แค่เขายกศอกก็แพ้แล้ว ไม่ต่างจากปีก่อน ๆ นับสิบปีที่ผ่านมา แม้ประชาชนจะเคยดีใจเมื่อภาครัฐบอกว่าจะรับมือได้ แต่ก็ผิดหวังทุกครั้งเมื่อฤดูฝุ่นมาถึง

ขณะที่ระบบสาธารณะสุขนั้น ยังไม่สามารถรับมือได้ โดยแจกหน้ากากอนามัยให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยง ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากมีราคาค่าใช้จ่ายสูง แม้กระบวนการปกป้องประชาชนที่เคยจัดทำห้องปลอดฝุ่นในเทศบาลต่าง ๆ คนก็ไม่นิยมเข้า เท่ากับว่าสอบตกในเรื่องการปกป้องสุขภาพประชาชน เราผ่านรัฐบาลหลายคณะ หลายพรรค หลายขั้ว แต่ทุกสมัยก็รับมือเหมือน ๆ กันคือจะตั้งคณะทำงานแค่ช่วงก่อนฤดูฝุ่นเท่านั้น

“ข้อเสนอ 1. อยากให้มีกฎหมายเฉพาะเรื่องนี้ ต้องมีหน่วยงาน มีงบประมาณ บุคลากร มีอำนาจ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง 2. หากว่ากฎหมายพิจารณาไม่ทันก็อยากให้มีคณะทำงานเฉพาะกิจจัดตั้งเร่งด่วน ที่เข้ามาจัดการอย่างต่อเนื่อง ต้องแก้ไขปัญหาด้วยความเข้าใจ 3. จัดการมลพิษจากรถยนต์สันดาป 4. จัดการการเผาในที่แจ้ง ข้อสังเกตคือ ทำไมในช่วงเลือกตั้งพรรคการเมืองถึงมีนโยบายใหญ่จัดการเรื่องนี้ แต่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลกลับให้ความสำคัญน้อย”

ภูมิวชร เจริญผลิตผล ชาวบ้าน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ผู้ฟ้องคดีนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า เป็นการฟ้องตามกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เนื่องจากปัญหาหมอกควันเป็นภัยสาธารณะ ที่ต้องมีกระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาตามลำดับคือ ท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด กระทรวงฯ แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการเรื่องนี้อย่างไร ที่ทราบคือจังหวัดประกาศห้ามเผาเท่านั้น คิดว่าต้องเป็นอำนาจของนายกที่จะต้องสั่งการ จึงนำคดีไปฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อให้ศาลสั่งให้นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการแก้ปัญหา PM2.5 และดูแลสุขภาพของประชาชน

จากคำให้การของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอ้างในกระบวนการไต่สวนคำร้อง ระบุว่าถ้าฝุ่นเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ แต่จากการติดตามข้อมูลไม่พบว่ามีการจัดตั้งตามที่กล่าวอ้าง อย่างไรก็ตาม หลังศาลได้ไต่สวนสองฝ่ายแล้ว จึงรอฟังคำสั่งศาล ซึ่งมีนัดฟังคำสั่งศาล ในวันอังคารที่ 28 มีนาคมนี้

”หวังว่านายกรัฐมนตรี (รักษาการ) จะให้ความสนใจการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มากกว่าการยกให้เป็นหน้าที่ท้องถิ่นดูแลตามยถากรรม เพราะมีข้อจำกัดทั้งเรื่องงบประมาณ และกำลังคน เพราะถ้ามีไฟป่า เจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่อย่างกรมอุทยาน และกรมป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ ไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะจัดการ แต่หากศาลไม่รับคำฟ้องประชาชนก็ต้องรับกรรมไป เพราะนี่เป็นหนทางสุดท้ายแล้ว”

ส่วนคดีเก่าที่ฟ้องก่อนหน้านี้ 2 คดี คือ คดีการประกาศเขตควบคุมมลพิษใน 4 จังหวัดภาคเหนือ หวังให้จัดทำแผนบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน และมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด และคดีมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ให้ปรับปรุงมาตรฐานปัจจุบันคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใน 24 ชั่วโมง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น

สถานการณ์และคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือวันนี้ (25 มี.ค. 66) กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ รายงานว่าในพื้นที่ภาคเหนือ ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในระดับดีถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพบว่าจังหวัดที่จุดตรวจวัดรายงานว่ามีปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณ กว่า 201 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป อยู่ในเกณฑ์สีแดง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ในทุกจุดการตรวจวัด รวม 4 จังหวัด คือ จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน จ.น่าน จ.พะเยา ส่วน จ.เชียงใหม่ พบว่าพื้นที่ปริมาณฝุ่นอยู่ในเกณฑ์สีแดง มี 3 พื้นที่ คือ อ.ฮอด อ.เชียงดาว อ.แม่แจ่ม สำหรับจุดที่พบว่ามีปริมาณ PM 2.5 มากที่สุดคือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อยู่ที่ 354 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่จุดความร้อนในไทย ลาว และเมียนมา เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลค่าฝุ่นหลายจังหวัดภาคเหนือเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่แนวชายแดน ส่งผลให้ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีปริมาณฝุ่นสูงที่สุดในโลก 203 US AQI จากการจัดอันดับของแอปพลิเคชัน IQAir

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active