พร้อมระบุมีประกันภัยพร้อมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ด้าน “อาจารย์ธรณ์” ส่งคณะประมงเก็บข้อมูลผลกระทบก่อน-หลังน้ำรั่ว หวังไม่ซ้ำเติมแนวปะการัง และชาวประมง จี้หน่วยงานหาทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
วันนี้ (5 ก.ย. 2566) ความคืบหน้าเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภาพดาวเทียม Gistda ถ่ายเมื่อ 06.00 พบคราบน้ำมันกระจายเป็นหย่อม คาดว่าจะทยอยขึ้นฝั่งพื้นที่คือเกาะค้างคาว เกาะสีชังตะวันออก ชายฝั่งศรีราชา บางพระ และบริเวณใกล้เคียง ช่วงวันที่ 8-10 ก.ย. นี้
ตามที่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) ได้แจ้งเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อช่วงดึกของคืนวันที่ 3 กันยายน 2566 โดยบริษัทฯ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์และดำเนินการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายทันทีตั้งแต่เกิดเหตุแล้วนั้น
บริษัทฯ ขอแจ้งให้ทราบความคืบหน้าว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการขจัดคราบน้ำมันซึ่งประเมินว่ามีปริมาณประมาณ 60,000 ลิตร และมีจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือไทยออยล์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร โดยบริษัทฯ ได้เร่งรัดดำเนินการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบของเหตุการณ์ ดังนี้
- ดำเนินการขจัดคราบน้ำมันและวางทุ่นล้อมไม่ให้คราบน้ำมันเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่ง โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุนกำลังพล เรือ อากาศยาน อุปกรณ์ และสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล
- สำรวจและวิเคราะห์หาสาเหตุของการรั่วไหลในเบื้องต้น ร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค
- ติดตามทิศทางการไหลของกระแสน้ำ และคาดคะเนทิศทางการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมันเพื่อเตรียมมาตรการป้องกันกรณีคราบน้ำมันถูกพัดเข้าชายฝั่ง
- เตรียมความพร้อมกำลังพลจากกองทัพเรือเพื่อขจัดคราบน้ำมันบนชายฝั่งและการเข้าช่วยเหลือ หากเกิดเหตุ พบคราบน้ำมันบนชายฝั่งหรือเกิดผลกระทบต่อชุมชน
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 4 กันยายน 2566 ทีมผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า คราบน้ำมันจะมีทิศทางการเคลื่อนตัวขนานกับเกาะสีชัง อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 5 กันยายน 2566 ไม่พบกลุ่มคราบน้ำมันขนาดใหญ่ พบเพียงแค่แผ่นฟิล์มบาง ๆ บนผิวน้ำทะเลเท่านั้น ซึ่งบริษัทฯ จะยังคงทำการสำรวจเพื่อให้มั่นใจต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความเสียหายซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงภัยทุกชนิด (All Risk Policy) ทั้งทรัพย์สิน (Property Damage) การหยุดชะงักของธุรกิจ(Business Interruption) การขนส่งสินค้าทางทะเล (Marine Cargo Policy) ความรับผิดต่อสิ่งแวดล้อม (Pollution Legal Liability Policy) และความรับผิดตามกฎหมาย ต่อบุคคลภายนอก (Third Party Liability)
“บริษัทฯ จะยังคงเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป”
แถลงการณ์ ไทยออยล์ ระบุ
ด้าน ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุถึงการกำจัดคราบน้ำมันว่า ใช้ 2 วิธีคือทุ่นกักและสารช่วยกำจัด แต่น้ำมันที่ลอยกระจายเป็นหย่อม อีกทั้งคลื่นลม อาจทำได้ยากหน่อย กรมควบคุมมลพิษอนุมัติสาร 4,500 ลิตร สอดคล้องกับปริมาณน้ำมันตามที่แจ้ง (1:10) ถือว่าไม่สับสนเมื่อเทียบกับครั้งก่อน
ส่วนคณะประมงมีสถานีแถวฝั่งศรีราชา ตอนนี้ออกเก็บข้อมูลล่วงหน้าเท่าที่ทำได้ไว้แล้วยังมีของหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กรมทะเล กรมควบคุมมลพิษ ฯลฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลกระทบครั้งนี้จะไม่มากมาย ทั้งต่อระบบนิเวศ (แนวปะการัง) และต่อกิจการของพี่น้องริมชายฝั่ง สำหรับการแก้ปัญหา ล้อมคอกที่ยังล้อมไม่สำเร็จ คงต้องว่ากันต่อไป