เปิดแผนจัดการฝุ่นเชิงรุก ตั้งเป้าลดการเผา 50%

รัฐ-ประชาสังคม เปิดแผนจัดการฝุ่นเชิงรุก ปี 2567 ปฏิวัติแนวทางใหม่ หลังพบว่า ปี 2566 ที่ผ่านมาฝุ่นพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยมุ่งแก้ปัญหาพื้นที่มีความเสี่ยงสูง สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน และประชาชน ตีวงล้อมควบคุมไม่ให้เกิดการเผาเกินความจำเป็น

วันนี้ 20 พ.ย. 66 ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ คณะทำงานจัดทำแผนป้องกันไฟป่าและการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระดับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือและจุดความร้อน โดยการห้ามเผาโดยเด็ดขาดพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถเป็นไปได้จริง เพราะยังมีการลักลอบจุดไฟทั้งแบบหลบและไม่หลบดาวเทียม เกิดการลุกลามแบบไร้การควบคุมดังสถิติย้อนหลังที่มีการใช้มาตรการนี้มาตลอด  ฝ่ายจัดการทุกส่วนทั้งท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานป่าไม้ ล้วนตกอยู่ในลักษณะของการตั้งรับสถานการณ์ 

ทางออกที่สำคัญและท้าทายในปี 2567 คือ “การใช้ไฟเชิงกลยุทธ” ในพื้นที่จำเป็นต้องใช้ และพื้นที่เสี่ยง-พื้นที่เกิดไฟซ้ำ ๆ ในขอบเขตพื้นที่และช่วงเวลาที่กำหนดร่วมกัน ควบคู่กับอีกหลายมาตรการ คือ แนวกันไฟ, จุดตรวจ-จุดสกัด, การเวรยาม เป้าหมายร่วมที่สำคัญคือลดไฟลักลอบจุดให้เหลือน้อยที่สุด ทุกการใช้ไฟมีการควบคุมจัดการให้อยู่ในขอบเขตและเวลาที่กำหนด ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้แผนการบริหารจัดการที่มีส่วนร่วม ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลัก คือ ชุมชน/ท้องที่ – ท้องถิ่น – หน่วยงานป่าไม้ในพื้นที่ – ปกครองอำเภอ และภาคีสนับสนุน ทั้งภาควิชาการ ประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน

โดยปี 2567 จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดพื้นที่มุ่งเป้าออกเป็น 7 กลุ่มป่า ที่มีนัยยะสำคัญต่อความสำเร็จหรือล้มเหลว จากพื้นที่เกิดจุดความร้อนสูงสุดในปี 2566 ประกอบด้วย กลุ่มป่าดังนี้ 1.) กลุ่มพื้นที่ป่าอำเภออมก๋อย 2.) กลุ่มพื้นที่ป่าอำเภอแม่แจ่ม 3.) กลุ่มพื้นที่ป่าดอยอินทนนท์ 4.) กลุ่มพื้นที่ป่าดอยสุเทพปุย สันป่าตอง สะเมิง แม่วาง 5.) กลุ่มพื้นที่ป่าอำเภอสันทราย แม่ออน 6.) กลุ่มพื้นที่ป่าศรีลานนาฯ 7.) กลุ่มพื้นที่ป่าดอยหลวงเชียงดาวฯ โดยกำหนดค่าเป้าหมายร่วมเรื่องจุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ จำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน และจำนวนผู้ป่วยโรค COPD ลดลง 50% จากปี 2566

กลไกขับเคลื่อนให้เกิดแผนและปฏิบัติการร่วมกันมี 2 ระดับ คือ ระดับจังหวัด ได้แก่ “คณะทำงานจัดทำแผนป้องกันไฟป่าและการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระดับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” และระดับกลุ่มป่า 7 คณะที่มีองค์ประกอบปกครองอำเภอ ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานป่าไม้ ปราชญ์ผู้รู้ในพื้นที่,ภาคเอกชน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อจัดทำ “แผนป้องกันไฟป่าและการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระดับพื้นที่” โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สาระสำคัญของแผนฯคือ กำหนด/โซนนิ่งพื้นที่ไฟจำเป็น กับพื้นที่ไม่ให้เกิดไฟโดยเด็ดขาด

ร่วมกับมาตรการอื่นๆ คือ แนวกันไฟที่เชื่อมโยงถึงกันระหว่างเขตติดต่อ จุดตรวจสกัด การลาดตระเวนร่วมระหว่างท้องที่-ท้องถิ่นและหน่วยงานป่าไม้ รวมถึงแผนงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ การป้องกันและลดผลกระทบสุขภาพ การฟื้นฟูดูแลป่าหลังฤดูไฟตลอดทั้งปี โดยจะต้องมีระบบสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการร่วมกัน ได้แก่เรื่อง

1) ระบบงบประมาณ/กองทุนชุมชน อุปกรณ์ต่าง ๆ การดูแลสวัสดิการอาสาสมัคร ฯลฯ จากช่องทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น,จังหวัด-องค์การบริหารส่วนจังหวัด, หมู่บ้านเครือข่ายของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่

2) ระบบงานข้อมูลวิชาการเพื่อสนับสนุนกระบวนการจัดทำแผน การปฏิบัติการ และการติดตามผล ได้แก่ระบบ FireD โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, การบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ นำโดยคณบดี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

3) บทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเอกชนระยะสั้นในการจัดการไฟในพื้นที่ป่าและระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

คณะทำงานฯได้มีการประชุมต่อเนื่องร่วมกันทุกสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม2566 เป็นต้นมา และแต่ละกลุ่มป่าได้จัดเวทีทำแผนฯ ในระดับพื้นที่ตำบล-อำเภอ จนได้แผนงานที่สำคัญร่วมกันดังนี้

1. พื้นที่จำเป็นต้องใช้ไฟในการบริหารจัดการแบบควบคุมร่วมกันจากพื้นที่ป่าทั้งหมด 9,794,186 ไร่ โดยกลไกอนุมัติอนุญาตระดับอำเภอ และพื้นที่นำร่องระดับท้องถิ่น 12 ตำบล  

– กลุ่มป่า อมก๋อยฯพื้นที่ป่าทั้งหมด 2,229,431.6 ไร่ พื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งหมด 59,672.1 ไร่ (2.68%)

-กลุ่มป่า แม่แจ่ม-กัลยาณิวัฒนาฯ พื้นที่ป่าทั้งหมด 2,099,395 ไร่ พื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งหมด 77,352.53 ไร่ (3.68%)

-กลุ่มป่าฮอด จอมทองฯ  พื้นที่ป่าทั้งหมด 1,131,768 ไร่ พื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งหมด 66,376 ไร่ (5.86%)

-กลุ่มป่าดอยสุเทพปุย สันป่าตอง สะเมิง แม่วาง พื้นที่ป่าทั้งหมด 537,496.52 ไร่พื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งหมด 115,844 ไร่ (21.55%)

-กลุ่มป่าสันทรายฯพื้นที่ป่าทั้งหมด 719,229 ไร่ พื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งหมด 32,235 ไร่ (4.48%)

– กลุ่มป่าศรีลานนา พื้นที่ป่าทั้งหมด 727,261 ไร่ พื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งหมด 31,927 ไร่ (4.39%)

– กลุ่มป่าเชียงดาว พื้นที่ป่าทั้งหมด 1,027,710 ไร่ พื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งหมด 163,246.25 ไร่ (15.88%) ไร่

2. จัดทำแนวกันไฟทั้งจังหวัดระยะทางประมาณ 3498.4 กิโลเมตร โดยกำหนดการ Kick off แนวกันไฟรอบดอยสุเทพฝั่งหน้าดอย ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566

3. จุดตรวจสกัดการเข้าป่าในช่วงเฝ้าระวังตลอด๓เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน 600 จุด

4. การเปิดรับสมัครอาสาสมัครป้องกันไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่จากภาคประชาชน เป้าหมาย 200,000 คน เพื่อรวมพลังคนเชียงใหม่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กPM 2.5

5. ประกาศเกียรติคุณหรือให้รางวัลตำบลที่มีการป้องกันไฟป่าและการบริหารจัดการได้ตามแผนงานที่กำหนด

6. เปิดศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ 

“ที่ผ่านมาเราวางแผนกับชาวบ้าน อบจ. หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางการบริหารจัดการเชื้อเพลิง มาตรการควบคุมอย่างมีส่วนร่วม ไม่ใช่ห้ามเผา แต่กำหนดพื้นที่เผาให้ชัดเจนเพื่อลดความเสี่ยงไฟลาม เพราะมันมีความจำเป็นต้องเผาอยู่ในบางกรณีก็จะต้องมาบริหารจัดการ เรียกว่าปีนี้เตรียมการเนิ่น ๆ มาตั้งแต่กลางปี เป็นการทำงานเชิงรุกที่ต่างจากที่ผ่านมา มั่นใจว่าจุดความร้อนในภาคเหนือจะน้อยลงแน่นอน ๆ แต่ปัญหาฝุ่นควันจะลดลงหรือไม่ต้องประเมินอีกที เพราะปัจจัยที่มาของฝุ่นควัน ไม่ใช่แค่ที่ภาคเหนือแต่มีฝุ่นข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านมาด้วย”

ด้าน กัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในหัวข้อ “วาระแห่งชาติ PM2.5 : จากนโยบายภาครัฐ สู่การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน” ว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และจุดความร้อน ปี 2566 มีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ดังนี้ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าเฉลี่ย PM2.5 24 ชั่วโมง มีปริมาณ 33 มคก./ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 18% จำนวนวันที่มี PM2.5 เกินมาตรฐาน จำนวน 52 วัน หรือเพิ่มขึ้น 148% พื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ค่าเฉลี่ย PM2.5 24 ชั่วโมง มีปริมาณ 62 มคก./ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 107% จำนวนวันที่มี PM2.5 เกินมาตรฐาน จำนวน 112 วัน หรือเพิ่มขึ้น 60% และจุดความร้อนทั้งหมด 109,035 จุด เพิ่มขึ้น 356%

ซึ่งในปี 2567 คาดว่า สถานการณ์เอลนีโญจะมีกำลังแรงตั้งแต่ปลายฤดูฝนปี 2566 อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มจะสูงกว่าค่าปกติ อากาศร้อนและแล้งมากขึ้น ปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ 10% ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองในปี 2567 จะมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหา กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2567 ที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ผ่านแผนที่มีชื่อว่า ‘มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567’ ซึ่งพัฒนามาจากการถอดบทเรียนปัญหาฝุ่นในปีที่ผ่านมา

สำหรับมาตรการนี้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ช่วงเตรียมการ (ต.ค.-ธ.ค.) ช่วงเผชิญเหตุ (ม.ค.-พ.ค.) และช่วงบรรเทา (ม.ค.-ก.ค.) โดยวางแนวทางการยกระดับการจัดการในพื้นที่มุ่งเป้า กำหนดเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่เผาซ้ำซาก โดยให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมลงทุนแก้ไขปัญหา โดยให้สิทธิประโยนช์และแรงจูงใจตอบแทน และปลดล็อกระเบียบให้เอื้อต่อการทำงาน และปฏิบัติการสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อสั่งการระดับชาติสู่ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดแบบถาวร

“การมุ่งเป้า มุ่งไปที่ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน และพื้นที่เกษตรที่พบพิกัดเผาไหม้เยอะมากที่สุด โดยสถิติพบว่ามพื้นที่เผาไหม้รวมแล้ว 6.5 ล้านไร่ หรือ 66% ของพื้นที่ป่าในปี 2566 ตั้งเป้าหมายให้มีการเผาไหม้ลดลง 50% หรือ 3.25 ล้านไร่ ทั้งในพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม สำหรับกลยุทธ์ในระยะเตรียมการ ให้มีการตรวจสอบไฟป่าให้เร็วขึ้น จัดทำแผนที่การเก็บของป่า เลี้ยงปศุสัตว์ และแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในป่า จัดระเบียบผู้เข้าใช้ประโยชน์ ทำกติการ่วมกันระหว่างรัฐ-ชุมชน การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า ในการเผชิญเหตุ ควบคุมการเข้าผ่า ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดเฝ้าระวังการเข้าออก ลาดตระเวน ปัญชาการเหตุ 24 ชั่วโมง เพิ่มมาตรการช่วงวิกฤต โดยเน้นทำงานร่วมกับภาคประชาชน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active