“เข็มหมุดจิ้มมือทุกปี” ความเสี่ยง พนง.เก็บขยะ หลังคืน “ลอยกระทง”

วอนใช้ไม้กลัด หรือ ลูกแม็ก แทนเข็มหมุด ลดการบาดเจ็บ ขอ 1 กระทง 1 ครอบครัว จัดการง่าย “ชัชชาติ” ชวนลอยกระทงดิจิทัล ผ่าน Projection Mapping ครั้งแรกของโลก “ลดขยะ รักษาประเพณี”

ณัฐกรณ์ ปัทมะนาวิน พนักงานเก็บขนขยะ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

เพจมนุษย์กรุงเทพฯ นำเสียงสะท้อนของ ณัฐกรณ์ ปัทมะนาวิน พนักงานเก็บขนขยะ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. ซึ่งระบุถึงความเสี่ยงของการเก็บขยะในช่วงวันลอยกระทง โดยระบุว่า เขาเก็บขยะในงานลอยกระทงครั้งแรก เมื่อปี 2559 พบว่ามีกระทงจำนวนเยอะพอสมควร ส่วนมากเป็นหยวกกล้วย มีขนมปังบ้าง แต่ไม่ค่อยมีโฟม เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เขาเป็นผู้รับผิดชอบดูและจัดการขยะในพื้นที่บริเวณสะพานมัฆวานฯ ถึงแยกเจริญสวัสดิ์ หากว่ามีกระทงลอยมาตามคลองผดุงกรุงเกษม พนักงานก็จะใช้สวิงตักขึ้นมา ใส่เข่งไม้ไผ่ แล้วยกขึ้นรถหกล้อ โดยเริ่มเก็บตั้งแต่ 3 ทุ่มจนถึงเที่ยงคืน และช่วงเช้าค่อยมาเก็บอีกรอบ

“งานลอยกระทงถือว่าเหนื่อยกว่าวันปกติ กระทงที่เก็บได้ จะต้องนำมาแยกของตกแต่งออกจากกระทง โฟมจะทิ้งเป็นขยะทั่วไป ขนมปังที่เละแล้วจะทิ้งเป็นขยะเศษอาหาร หยวกกล้วยจะเอาไปโรงทำปุ๋ย สิ่งที่คนเก็บเจอทุกปีคือเข็มหมุดจิ้มมือ ต้องล้างแผลแล้วเปลี่ยนถุงมือ เข้าใจว่าใช้ไม้กลัดคงไม่แน่น ถ้าเป็นไปได้ใช้ลูกแม็กก็ยังดีครับ ผมคิดว่ากระทงหยวกกล้วยน่าจะดีที่สุด เก็บง่ายกว่า และจัดการต่อได้ง่าย กระทงขนมปังเป็นอาหารปลาได้ก็จริง แต่ไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่ ถ้าเป็นคลองเล็ก ๆ หรือพื้นที่ปิดก็ไม่เหมาะ พอคนมาลอยเยอะ ๆ ปลากินไม่หมดก็ทำให้น้ำขุ่นน้ำเสีย ส่วนกระทงโฟม ผมว่าไม่ควรมีแล้ว มันย่อยสลายยากและใช้เวลานานมาก“

ณัฐกรณ์ ปัทมะนาวิน

ณัฐกรณ์ ยังบอกด้วยว่า ลอยกระทงปีนี้มีงานเลียบคลองผดุงกรุงเกษมหลายวัน ซึ่งก็เข้างานกันตามปกติ เตรียมสถานที่จัดงาน ทำความสะอาดโป๊ะไม่ให้มีตะไคร่น้ำ ช่วงระหว่างลอยก็คอยอำนวยความสะดวกในงาน พอหลัง 3 ทุ่มก็เริ่มเก็บกระทง เขามองว่า คนน่าจะเยอะ เพราะโควิดผ่านไปสักพักแล้ว

ถ้าถามว่า ควรมีการลอยกระทงไหม ? พนักงานเก็บขนขยะคนนี้ บอกว่า ควรมี ซึ่งตนไปลอยกับแฟนและลูกบ้าง บอกลูกตามที่ผู้ใหญ่เคยสอน ลอยเพื่อสักการะพระแม่คงคา เป็นการขออโหสิกรรมสายน้ำ

“เรามากัน 3 คน ก็ลอยด้วยกันแค่กระทงเดียว ถ้าไม่มีเทศกาล ผมอาจทำงานกลับบ้านแล้วนอนพัก ไม่ได้พาครอบครัวไปไหน เทศกาลทำให้ได้ใช้เวลาร่วมกัน แต่ควรรณรงค์เรื่องวัสดุของกระทง ถ้าเป็นไปได้ก็ควรลดจำนวนลง เป็นหนึ่งครอบครัวต่อหนึ่งกระทงก็ได้ครับ”

ณัฐกรณ์ ปัทมะนาวิน

ขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เชิญชวนประชาชนลอยกระทงดิจิทัลที่คลองโอ่งอ่าง โดยกล่าวว่า อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลก กับการลอยกระทงดิจิทัลผ่าน Projection Mapping ที่กรุงเทพมหานคร จัดให้พี่น้องประชาชนในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ณ คลองโอ่งอ่าง

“ที่พิเศษไปกว่านั้นคือทุกคนสามารถระบายสีให้กับกระทงดิจิตอลของตัวเองลงบนรูปกระทงที่จัดเตรียมไว้ให้ พร้อมทั้งเขียนชื่อ เขียนคำขอพร แล้วสแกนภาพฉายเป็นแสงไฟ ลอยลงไปยังคลองโอ่งอ่างได้เลย กิจกรรมนี้เป็นความตั้งใจของกทม.ที่อยากออกแบบแนวทางการอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมของเราในรูปแบบใหม่ที่ดีกับโลกมากกว่าเดิม… อยากเชิญชวนให้ทุกคนได้มาร่วมลอยกระทงดิจิทัล เพื่อลดขยะ แต่ยังคงประเพณีอันดีงามไว้ด้วยกัน”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

สำหรับประชาชนที่สนใจลอยกระทงดิจิทัลผ่าน Projection Mapping สามารถร่วมสนุกแบบไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้ 3 วิธี

  1. เดินทางมาที่งาน ณ คลองโอ่งอ่าง และเลือกกระทงผ่านกระดาษ ก่อนระบายสี ใส่ข้อความ
  2. เดินทางมาที่งาน ณ คลองโอ่งอ่าง และเลือกกระทงผ่านแท็บเล็ต ก่อนระบายสี ใส่ข้อความ
  3. Download และ print รูปแบบกระทงจากที่บ้าน พร้อมใส่ข้อความระบายสี ก่อนนำมาส่งให้ที่หน้างาน โดยสแกน QR Code หรือคลิก link : https://drive.google.com/drive/folders/1m_NE6tcFCcjLBhsto9ayqjzK0r43uMbR?usp=sharing

ร่วมลอยกระทงมิติใหม่ ณ คลองโอ่งอ่าง บริเวณสะพานบพิตรพิมุข ตั้งแต่เวลา 18.00 น. – 24.00 น. แนะนำให้ใช้บริการขนส่งมวลชน เดินทางมาง่าย ๆ ด้วย รถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสามยอด ประตูทางออก 1 หรือหากใครไม่ออกจากบ้าน สามารถลอยกระทงออนไลน์แจ้งปัญหาที่พบเจอมาให้กทม.ได้ที่ Traffy Fondue

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active