IQAir รายงานเช้านี้ กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ 169 ติดอันดับ 11 จากทั่วโลก พบค่าฝุ่น PM2.5 สูงถึง 80.6 มคก./ลบ.ม. ‘เขตหนองแขม’ ระดับสีแดง เตือนงดกิจกรรมกลางแจ้ง ประชาชน-กลุ่มเสี่ยง ก่อนออกจากบ้านสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน
วันนี้ (8 ม.ค. 68) จากการรายงานคุณภาพอากาศจาก เว็บไซต์ IQAir พบว่า ในช่วงเวลา 9.00 น. กรุงเทพมหานคร คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ “เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ” ถึง “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” มีค่า AQI อยู่ที่ 169 ค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 80.6 มคก./ลบ.ม. หากเทียบคุณภาพอากาศจากทั่วโลก เมื่อช่วงเวลาประมาณ 10.00พบว่า กรุงเทพฯ ติดอยู่ในอันดับ 11 ขณะที่อันดับหนึ่งอยู่ที่เมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย มีค่า AQI สูงถึง 250
สอดคล้องกับข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 วันที่ 8 มกราคม 2568 พบค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 48.2 – 81.7 มคก./ลบ.ม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน โดยค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 70 พื้นที่ อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ขณะเดียวกันพบว่า ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐาน 75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ) จำนวน 1 พื้นที่ คือ “เขตหนองแขม” บริเวณสามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 : มีค่าเท่ากับ 81.7 มคก./ลบ.ม.
จึงแจ้งเตือนให้ประชาชน งดกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองทุกครั้ง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจากมลพิษทางอากาศ ให้เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
แอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่า หลายพื้นที่ของประเทศไทย ยังคงมีค่าฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบค่าคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ ยังคงกระจายอยู่ในทั่วภูมิภาคของประเทศไทย
ส่วน กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานด้วยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เนื่องจากการระบายอากาศไม่ค่อยดี การเกิดอินเวอร์ชั่นใกล้ผิวพื้นทำให้มลพิษทางอากาศแพร่กระจายได้อย่างจำกัด จึงเกิดการกระจุกตัวความเข้มข้นฝุ่นก็เพิ่มขึ้น ในช่วง 2-3 วันนี้ หลังจากนั้นจะลดลงในระยะสั้น แล้วกลับมาเพิ่มขึ้นอีกในรอบสัปดาห์หน้า
ขณะที่ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ระบบ VIIRS และจากข้อมูลดาวเทียมดวงอื่นๆ ของเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 พบว่า ประเทศไทยมีจุดความร้อนรวม 330 จุด ทั้งนี้ ข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่าจุดความร้อนที่เกิดขึ้นของประเทศเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตร 110 จุด, พื้นที่เขต สปก. 68 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 68 จุด, พื้นที่ชุมชนและพื้นที่อื่น ๆ 53 จุด, พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 29 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 2 จุด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ ลพบุรี 63 จุด
ส่วนจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านพบมากที่สุดที่ กัมพูชา 1,054 จุด, เวียดนาม 258 จุด, ลาว 122 จุด, พม่า 110 จุด และมาเลเซีย 5 จุด