คนไทย 7 ล้านคน ป่วยความดันโลหิตสูงไม่รู้ตัว สธ.เล็งวางเครื่องวัดความดันตามที่สาธารณะ

กรมควบคุมโรค เผยประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันโลหิตสูง 13 ล้านคน จำนวนนี้ 7 ล้านคน ไม่ทราบว่าตนเองป่วย แนะประชาชนวัดความดันสม่ำเสมอ เล็งสนับสนุนเครื่องวัดความดันในพื้นที่สาธารณะ 

17 พ.ค. 2565 วันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ “Measure Your Blood Pressure, Control It, Live Longer วัดความดันอย่างไร สูงเกินไปคุมให้ดี ช่วยยืดชีวีให้ยืนยาว” โดยกระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง และส่งเสริมการคัดกรองโดยสร้างความตระหนักในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชากร โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในกลุ่มประชากรอายุ 30-79 ปี มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเกือบ 1.3 พันล้านคน และมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้นแต่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ และยังพบว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต เป็นต้นซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยในปี 2562-2563 พบว่าประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 13 ล้านคน และในจำนวนนี้มีมากถึง 7 ล้านคน ไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 

หากผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการดูแลรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น อาจแสดงอาการต่างๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ ใจสั่น ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย วิงเวียน สับสน หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ  

“แต่หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตพร้อมติดตามวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดียิ่งขึ้น และจะลดภาวะแทรกซ้อน  ที่รุนแรงได้เป็นอย่างดี”

 นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแผนจะสนับสนุนให้มีเครื่องวัดความดันโลหิตในพื้นที่สาธารณะ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการวัดความดันโลหิตมากขึ้น สร้างความตระหนักและสร้างการรับรู้ต่อสุขภาพของตนเอง มุ่งเน้นให้ประชาชนวัดความดันโลหิตอย่างถูกวิธีและทราบระดับความดันโลหิตของตนเอง โดยเลขบนตัวไม่ควรเกิน 140 มม.ปรอท และเลขตัวล่างไม่ควรเกิน 90 มม.ปรอท เพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ใช้หลัก 3อ. 2ส. ดังนี้ 

  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ (ไม่หวานจัด)  
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละ 30 นาที  
  3. ทำจิตใจให้สงบเพื่อจัดการความเครียด  
  4. ไม่สูบบุหรี่  
  5. ไม่ดื่มสุรา  

สำหรับวิธีการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง คือ 

  1. ผู้ถูกวัด  ควรมีการเตรียมตัวก่อนการวัด ไม่ดื่มชา-กาแฟ และไม่สูบบุหรี่ก่อนทำการวัด 30 นาที  
  2. นั่งบนเก้าอี้หลังพิงพนักและหลังตรง  
  3. งดการพูดคุยระหว่างวัดความดันโลหิต  
  4. วางแขนไว้บนโต๊ะให้ปลอกแขน (Arm cuff) อยู่ระดับเดียวกับหัวใจ  
  5. ไม่เกร็งแขนและไม่กำมือขณะวัดความดันโลหิต 
  6. เท้าทั้งสองวางราบกับพื้นไม่ไขว่ห้าง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS