เฝ้าระวัง 3 ประเทศหลักที่มีการระบาดในอังกฤษ สเปน และโปรตุเกส “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” เตรียม Real-time PCR ระยะเวลาการตรวจ 24 – 48 ชั่วโมง “กรมควบคุมโรค” เตรียมแผนจัดซื้อวัคซีนฝีดาษ
วันนี้ (24 พ.ค. 2565 )นายแพทย์จักรรัฐ วงศ์พิทยาอานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า หลังกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิง ตอนนี้ได้เริ่มคัดกรองด่านกรมควบคุมโรค ระหว่างประเทศในสนามบินต่างๆโดยจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับประเทศที่ได้มีการระบาดในประเทศแล้ว เช่นอังกฤษ, สเปน, โปรตุเกส และได้เริ่มยกระดับทางโรงพยาบาล ให้บุคลากรทางการแพทย์รู้จักเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง
โดยวันนี้จะมีการประชุมกรรมการวิชาการเรื่องโรคฝีดาษลิงครั้งแรก ซึ่งจะมีการหารือเรื่องปรับนิยามโรคติดต่ออันตราย ตามหลักการจะมี 3 เกณฑ์เหมือนโควิด-19 คือ
- ข้อมูลทางคลินิก จะกำหนดเรื่องอาการป่วยที่เข้าข่ายสงสัย
- ข้อมูลห้องปฏิบัติการ จะกำหนดเรื่องการตรวจ
- ข้อมูลระบาดวิทยา การกำหนดประวัติสัมผัสและประวัติเสี่ยง
ทั้งนี้จะมีการกำหนดให้กว้างเพื่อรองรับการระบาดที่อาจจะมากขึ้นในอนาคตด้วย ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่ออันตรายเนื่องจากยังไม่เคยถูกประกาศเป็นโรคอะไรเลยในประเทศไทย
“เราจะมีระดับความรุนแรงที่เราเตรียมไว้ แม้ว่ายังไม่พบการติดเชื้อในไทยแต่เราต้องเตรียมความพร้อมเรื่องเกณฑ์ต่างๆ ไว้ก่อน เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณรับทราบ”
เบื้องต้นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อนั้นอาจจะเป็นการติดเชื้อจากการร่วมงานเทศกาล รวมถึงมีการมีเพศสัมผัส ต้องยอมรับว่ายุโรป มีการวางมาตรการที่ค่อนข้างดี อย่างเบลเยี่ยมกักตัว 21 วัน อาจจะทำให้การระบาดไม่ข้ามทวีปก็ได้ หากไม่ได้ใกล้ชิดจริงๆ ทั้งนี้เท่าที่ดูอายุไม่เกิน 60 ปี ต่างประเทศยุติการปลูกฝีเร็วกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ ส่วนประเทศไทยก็ต้องหารือกันต่อ ว่าจะกักตัวอย่างไร โดยหลักการคือกักเท่าจำนวนวันฟักตัวที่นานที่สุด
ทั้งนี้หากเจอผู้เดินทางเสี่ยง จะขอส่งตรวจเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง และใช้เวลา24-48 ชั่วโมงทราบผล หากเป็นลบ ก็ปล่อยตัวได้ ตอนนี้ยังไม่มีรายงานการส่งตรวจเชื้อในผู้เดินทาง แต่แจ้งทุกจังหวัดเพิ่มการเฝ้าระวังให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มาคลินิกผิวหนัง ทั้งนี้จังหวัดท่องเที่ยว
“ตอนนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศยกระดับ มีเพียงการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีการระบาดผิดปกติ ในยุโรป ต้องติดตามใกล้ชิด คาดว่าจะมีการประชุมอีกเร็วๆ นี้และพิจารณาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่จากการติดตามในช่วง 2-3 วันมานี้ตัวเลขไม่ได้ขึ้นเยอะ”
เตรียมความพร้อมแล็ปตรวจฝีดาษลิง
ขณะที่นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อในคนและการตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัคซีนฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (smallpox) เพื่อให้การรับรองคุณภาพวัคซีนที่จะนำมาใช้ในการป้องกันโรค
สำหรับการการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยในคน นั้นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อในคน
ได้เตรียมการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยเทคนิค Real-time PCR ระยะเวลาการตรวจ 24 – 48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ ด้วยเทคนิค DNA sequencing ระยะเวลาการตรวจ 4 – 7 วัน
ต้องกลับมาปลูกฝีดาษซ้ำหรือไม่
นายแพทย์จักรรัฐ กล่าวถึงการพิจารณาปลูกฝีดาษอีกครั้งว่า ยังไม่มีการพิจารณาตอนนี้ ต้องประเมินสถานการณ์ก่อน ด้วยตอนนี้การติดเชื้อทั่วโลกยังอยู่หลักร้อยราย การปลูกฝีไม่สามารถทำได้ทันที เพราะต้องเตรียมทั้งวัคซีนและการระบุกลุ่มเป้าหมาย
“คนไทยที่อายุ 45 ปีขึ้นไปได้รับการปลูกฝี โดยหลักการคือจะมีภูมิคุ้มกัน ก็จะเสี่ยงน้อยกว่า ส่วนคนที่เกิดหลัง พ.ศ.2523 ไม่ได้รับการปลูกฝี ก็อาจนำมาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่กลุ่มเป้าหมายแรกจะต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโดยตรง”
ผอ.กองระบาดวิทยา ระบุ
การจัดหาวัคซีนฝีดาษ
ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรค กำลังหาว่ามีบริษัทไหนขายวัคซีนฝีดาษ และมีแผนที่จะจัดซื้อ แต่ต้องติดตามอยู่ว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน มีความจำเป็นต้องฉีดแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาทั่วโลกกวาดล้างไปหมดแล้ว ดังนันต้องประเมินสถานการณ์ที่จะมาสอดรับกัน
ด้านนายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษคนสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิง ได้ถึง 85% แต่เนื่องจากโรคฝีดาษคน ถูกกำจัดไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จึงเป็นระยะเวลามากกว่า 40 ปีแล้วที่ไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ แต่วัคซีนก็ยังมีการผลิตขึ้นเพื่อป้องกันการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ และป้องกันโรคฝีดาษลิง ซึ่งสหรัฐอเมริกามีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคฝีดาษคน จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) ได้แก่
- วัคซีน Imvamune (Imvanex หรือ Jynneos) ของบริษัท Bavarian Nordic
- วัคซีน ACAM2000 ของบริษัท Acambis ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จากสหรัฐอเมริกา หรือ FDA แล้ว
ในส่วนของการรับรองคุณภาพวัคซีนในแต่ละรุ่นการผลิตก่อนจำหน่าย สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความพร้อมในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัคซีนฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ทั้งด้านความปลอดภัย ด้านเคมี-ฟิสิกส์ และความแรงเพื่อยืนยันว่าวัคซีนนำเข้ามีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จึงมั่นใจได้ว่าหากมีการนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วน จะสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที
“ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาเฉพาะ ทั้งนี้กรมควบคุมโรค ประเทศสหรัฐ US-CDC ได้แนะนำให้ควบคุมโรคโดยใช้ ยารักษาโรคไข้ทรพิษ ได้แก่ Tecovirimat (ST-246), Cidofovir และ brincidofovir รวมถึงการให้แอนติบดีเสริมภูมิต้านทานสำเร็จรูปชื่อ Vaccinia Immune Globulin (VIG) สำหรับรักษาผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ หรือผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรุนแรง ทั้งนี้ยาดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการติดตามประเมินประสิทธิภาพ”
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุ