ไทยเดินหน้าแอป “หมอพร้อม” สู่ Big Data คลังข้อมูลสุขภาพยกระดับบริการสาธารณสุข ขณะที่ 17 เขตเศรษฐกิจห่วงปัญหาเด็กเกิดน้อย เข้าสู่สังคมสูงวัยกระทบเศรษฐกิจ พร้อมส่งไม้ต่อสหรัฐจัดประชุมเอเปคสาธารณสุขปี 2566
วันที่ 22-26 ส.ค. 2565 ไทยจัดการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ (HLM) ครั้งที่ 12 ก่อนจะจัดประชุมใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยหนึ่งในวาระสำคัญคือการถอดบทเรียนจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทุกประเทศเผชิญร่วมกัน เพื่อนำมาสู่การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือการสร้าง Digital Health
ที่ผ่านมาการล็อกดาวน์ปิดเมือง ดูจะเป็นมาตรการที่ทุกประเทศเลือกใช้รับมือกับการระบาดโควิดระยะแรก แต่ทุกประเทศก็รู้ดีว่า ต้องแลกมาด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจเวทีเอเปคด้านสาธารณสุขซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจึงเน้นไปที่ความพยายามสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรม
การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ร้านค้ารายย่อย ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล แอปพลิเคชั่นเป๋าตังค์ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของไทยที่นำไปสู่สังคมไร้เงินสด มากขึ้น
แอปพลิเคชั่นหมอพร้อมที่ใช้จองวัคซีน และบันทึกประวัติการฉีดวัคซีน ขยับไปสู่พาสปอร์ตวัคซีนที่ใช้ระหว่างประเทศ สอดรับการเดินหน้าเปิดเมืองในหลายประเทศ
“หมอพร้อม” เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ไทยนำเสนอต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขของประเทศสมาชิกเอเปก ที่ทำหน้าที่เป็นวัคซีนพาสปอร์ต เชื่อมต่อไปแล้ว 75 ประเทศกลายเป็นแอปฯระดับต้น ๆ ของโลกซึ่งเวลานี้ระบบไลน์มีผู้ใช้งานในไทยแล้วเกือบ 15 ล้านคน ขณะที่แอปพลิเคชั่น มีผู้ใช้งานกว่า 23 ล้านคน
นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ หัวหน้ากลุ่มสารสนเทศทางระบาดวิทยา กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค หนึ่งในผู้คิดค้นแอปฯหมอพร้อมบอกว่า ก้าวต่อไปของแอปฯหมอพร้อม คือการพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของเอเปกและสร้างความมั่นคงให้กับระบบสุขภาพไทยโดยการขยับไปเป็นสู่เป้าหมายเรื่อง Big Data เช่น บันทึกประวัติการรักษาโรคอื่น ๆ และเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ส่วนกลาง รวมไปถึงระบบการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยา ขณะที่ข้อมูลเหล่านี้ ก็จะถูกนำไปใช้แสดงผลรวม หรือ DASHBOARD เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล หรือ DATA ANALYSIS เพื่อเปลี่ยนระบบสาธารณสุขให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล และช่วยแก้ปัญหาการเชื่อมต่อระบบสุขภาพที่เป็นอยู่
ขณะที่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตประธานคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้มองเห็นข้อต่อสำคัญนี้เช่นกัน โดย ก่อนหน้านี้จึงดึง กสทช. มาร่วมสร้างเครือข่ายข้อมูลดิจิทัลสุขภาพประชาชน และคาดหวังว่า ภายใน 5 ปี จะสามารถตั้งหน่วยงานระดับชาติ คือ National Digital Health Agency ดูแลข้อมูลสุขภาพประชาชนเต็มรูปแบบ และสร้างเครือข่ายให้บริการครอบคลุมหนึ่งเดียว ทุกกองทุนสุขภาพ
ด้านประเทศสมาชิกเอเปกก็เห็นตรงกันว่า ข้อมูลด้านสุขภาพที่เชื่อมโยงถึงกันจะช่วยยกระดับการรักษาและการป้องกันโรค สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ เพราะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์แนวโน้มของโรค และความต้องการของยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนในภูมิภาคเข้าถึงยาและวัคซีน ที่ใช้การรักษาอย่างทั่วถึง
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวหรือ One Health ช่วยสร้างสมดุลสุขภาพกับเศรษฐกิจ เป็นธีมหลักของการร่างข้อตกลงให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันภายใน ปี 2040 ให้เป็นทิศทางเดียวกัน
“One Health” คือการทำงานแบบบูรณาการหลายกระทรวงทั้งในและต่างประเทศเพราะเรื่องสุขภาพ ไม่สามารถพึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เพียงหน่วยงานเดียวอีกทั้งยังต้องเน้นนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือจัดการระบบสุขภาพ และรับมือภาวะฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ด้วย
“การหารือในรอบนี้เน้นการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ครั้งต่อไป ผ่านการลงทุนเรื่องระบบสุขภาพ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งการเร่งพัฒนาและผลิตวัคซีน และการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัล”
อนุทิน กล่าว
ผลลัพธ์ที่สำคัญจากการประชุมครั้งนี้คือ ข้อมติ 12 ข้อ ในถ้อยแถลงของประธาน(Chair’s Statement) ที่มุ่งสร้างสมดุลด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ และสนับสนุนการลงทุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ซึ่งปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ การเปิดพรมแดนสร้างการเดินทางที่ปลอดภัย ไม่กระทบต่อการป้องกันโควิด นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจของเอเปคร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะการแบ่งปันและถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนโควิด และอำนวยความสะดวกทางการค้า
เอเปกห่วงปัญหาเด็กเกิดน้อยกระทบเศรษฐกิจ
ขณะที่อีกปัญหาสุขภาพสำคัญ ที่หลายประเทศเผชิญร่วมกัน และจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตที่นอกจากโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่แล้วนั่นก็คือปัญหาเด็กเกิดน้อยลง โดยปัจจุบันสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจพบว่า มีถึง 17 เขตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับปัญหาโครงสร้างประชากร เข้าสู่สังคมสูงวัย จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกเอเปก ที่กำลังเผชิญกับปัญหาเด็กเกิดน้อยเช่นกัน โดยมีเด็กแรกเกิดลดลงทุกปี จากปี 2560 เด็กเกิดประมาณ 7 แสนคน ปัจจุบันในปี 2564 ลดเหลือ 5.4 แสนคน จำนวนการเกิดลดลงเรื่อยๆ จนใกล้เคียงจำนวนการตาย หากไม่ทำอะไรเลยการเกิดจะน้อยกว่าการตายประชากรไทยอาจจะลดลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานที่ต้องอุ้มชูดูแลทั้งสังคม วัยเด็ก และวัยสูงอายุ มีจำนวนลดลงและแบกรับภาระมากขึ้น โดยคาดว่า 40 ปีข้างหน้าวัยทำงานลดลง 15 ล้านคน มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 12 ล้านคน ทำให้กระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเงินการคลังของประเทศ
การประชุม ครั้งนี้ ประเทศสมาชิกเอเปคได้มาแลกเปลี่ยนสถานการณ์และหารือเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาสถานการณ์นี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนครอบครัว ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาองค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชน ของแต่ละเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วม
ประเทศไทยมีการนำเสนอเรื่องของโครงการครอบครัวคุณภาพ Smart Families มีการออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ คือ นโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 เพื่อส่งเสริมการเกิดที่มีความพร้อม มีความตั้งใจ และส่งเสริมการดูแลเลี้ยงดูเด็กที่เกิดมาให้เติบโตได้เต็มศักยภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
ส่งไม้ต่อสหรัฐจัดประชุมเอเปคสาธารณสุขปี 2566
26 ส.ค. 2565 วันสุดท้ายของการประชุม มีรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากเขตเศรษฐกิจเอเปคมาร่วมประชุม On-site ถึง 15 เขตเศรษฐกิจ และ อีก 5 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุมออนไลน์ รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นกว่า 150 คนซึ่งมากกว่าทุกครั้งที่เคยจัดมา
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้บรรลุข้อมติถึง 12 ข้อ ที่สามารถนำมาดำเนินการในการสร้างสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและในตอนท้ายของการประชุม ได้แสดงความยินดีและส่งมอบการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจครั้งต่อไปให้แก่ผู้แทนของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพในปี 2566