ยืนยัน ตรวจแล้ว 25 คน ทุกช่วงวัย ไม่พบพิษสะสม หรือผลกระทบต่อร่างกาย สามารถขับออกได้ทางปัสสาวะ พร้อมเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ-สุขภาพประชาชน ต่อเนื่อง หากพบสัญญาณเสี่ยงพร้อมขยายการตรวจทันที
วันนี้ (9 ก.ค. 68) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีพบสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก ว่า สถานการณ์ดังกล่าวถูกตรวจพบตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยกรมอนามัยได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ รวมถึงกรมประมง เพื่อเฝ้าระวังอย่างครอบคลุมทั้งในสิ่งแวดล้อม สัตว์น้ำ และสุขภาพมนุษย์
ในส่วนของมนุษย์ กรมอนามัยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มและน้ำประปาหมู่บ้านหลายจุด โดยเฉพาะในเขตที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำปนเปื้อน พบว่า น้ำประปาในบางพื้นที่ไม่มีสารหนูปนเปื้อน แต่มีความเสี่ยงจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งต้องมีการดูแลเป็นกรณีเฉพาะ
“เราตรวจมาตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว 25 คนซึ่งเป็นการตรวจต่อเนื่อง ไม่ใช่ตรวจเพียงครั้งเดียวแล้วจบ ตรวจคัดกรองทั้งเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 3 ปี วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุอายุเกิน 70 ปี ผลที่ได้ยังไม่พบความผิดปกติทางร่างกายจากสารหนู และจากการตรวจปัสสาวะก็ไม่พบค่าที่เกินมาตรฐาน”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์

ส่วนความกังวลของประชาชนที่ได้รับข่าวว่าพบสารหนูในเด็กนั้น พญ.อัมพร ยืนยันว่า การตรวจพบสารหนูในปัสสาวะไม่ได้หมายความว่าเป็นอันตรายเสมอไป เพราะสารหนูมีอยู่ในธรรมชาติ และบางรูปแบบ เช่น สารหนูอินทรีย์ ที่ได้จากการบริโภคอาหารทะเล จะไม่ก่อพิษต่อร่างกาย ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมก่อนตรวจจึงมักให้หลีกเลี่ยงอาหารทะเลล่วงหน้า
ในคนทั่วไปอาจมีสารหนูอยู่ในร่างกายได้ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารทะเล ซึ่งจะพบสารหนูในรูปแบบอินทรีย์ที่ไม่เป็นพิษ ร่างกายจะสามารถขับออกได้ทางปัสสาวะ
กรณีที่มีการรายงานผลตรวจ 2 รอบว่า พบสารหนู แต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐานนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก หากค่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
“ค่ามาตรฐานของสารอาร์เซนิกในปัสสาวะอยู่ที่ 100 ไมโครกรัมต่อลิตร เราตรวจรวม ไม่แยกประเภทอินทรีย์หรืออนินทรีย์ แต่ค่าที่ตรวจได้ก็ยังต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่มีอันตราย”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์
ขณะที่การแยกตรวจชนิดของสารหนูนั้น แม้จะให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ลึกขึ้น แต่ยังไม่จำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากค่าที่ตรวจได้ยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ค่าปนเปื้อนในแม่น้ำสูงขึ้น หรือมีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติ อาจมีการขยายขอบเขตการตรวจทันที
เมื่อถามถึงความเกี่ยวข้องระหว่างค่าที่ตรวจพบกับแม่น้ำกก พญ.อัมพร ระบุว่า จากผลตรวจในขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าแม่น้ำกกเป็นแหล่งต้นตอที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง
“ผลตรวจออกมาในระดับปกติ ถือเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนว่าประชาชนสามารถดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีแหล่งน้ำใกล้เคียงที่มีค่าปนเปื้อนสูง แต่ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงแหล่งเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม และมีระบบการจัดการน้ำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์
แม้จำนวนผู้ได้รับการตรวจจะยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด แต่กรมอนามัยยืนยันว่า หากพบจุดเสี่ยงเพิ่มเติม จะสามารถขยายขอบเขตการตรวจสอบได้โดยทันที ขณะนี้ยังไม่พบว่าอาหาร สัตว์น้ำ หรือแหล่งน้ำที่ประชาชนบริโภคมีการปนเปื้อนสารอาร์เซนิกในระดับที่เป็นอันตราย
“การจะตรวจมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้ เพราะการตรวจแต่ละครั้งมีต้นทุน แต่แน่นอนว่า เราให้ความสำคัญกับชีวิตและสุขภาพของประชาชนมากกว่ามูลค่าทางงบประมาณเสมอ”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์

ยืนยันข้อมูลโปร่งใส – ปฏิเสธข้อกล่าวหารัฐ ‘ปกปิดข้อมูล’
พญ.อัมพร ยังปฏิเสธข้อสงสัยว่าทางราชการมีการปกปิดข้อมูล โดยระบุว่า หากพบข้อมูลผิดปกติจริง หน่วยงานจะเร่งแจ้งเตือนและดำเนินการตรวจสอบทันที ไม่ปกปิดไว้
“เราไม่มีเหตุผลใดที่จะปิดบังข้อมูล กลับกัน เรามีหน้าที่แจ้งเตือนประชาชนให้เร็วที่สุด ถ้าพบความเสี่ยง เราต้องส่งสัญญาณ ไม่ใช่เงียบไว้ เพราะมันจะร้ายแรงและสร้างผลกระทบมากกว่า”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์
กรมอนามัยยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และพร้อมเพิ่มการตรวจหากพบปัจจัยเสี่ยงใหม่ พร้อมขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการรายงานข้อมูลอย่างถูกต้อง และอย่าปล่อยให้ข่าวลือสร้างความตื่นตระหนกโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ย้ำตรวจต่อเนื่องทุกเดือน – เฝ้าระวังทั้งแหล่งน้ำและร่างกายประชาชน
กรมอนามัย ยังคงติดตามคุณภาพน้ำในพื้นที่รอบแม่น้ำกกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำประปาและน้ำดื่ม พร้อมเฝ้าระวังอาการของประชาชนในพื้นที่ หากพบว่าใครมีอาการผิดปกติหรือมีประวัติเสี่ยงใกล้ชิดแหล่งน้ำ ก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทันที
“ขอให้ประชาชนที่สงสัยหรือได้รับข้อมูลว่ามีผู้ตรวจพบสารหนู แจ้งตรงมาที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือแม้แต่กรมอนามัย เพื่อให้เราตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว หากเป็นจริงจะได้ดูแลทั้งผู้ได้รับผลกระทบและกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์
ในทางกลับกัน หากข่าวนั้นไม่เป็นความจริง ก็อาจสร้างความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่