ภาคปชช. ดัน “การข้ามเพศ” เป็นบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน เสนอรัฐ คุ้มครองพลเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลาย ร่วมพัฒนานโยบายที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม
เมื่อวันที่ 19 ต.ค.65 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “เมื่อการข้ามเพศ ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ” เคลื่อนระบบบริการสุขภาพบุคคลหลากหลายทางเพศ หลังพบข้อจำกัดทั้งปริมาณ ใช้ฮอร์โมนเกินขนาดส่งผลอันตรายถึงชีวิต
สุภัทรา นาคะผิว กสม. ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.
สุภัทรา นาคะผิว กสม. กล่าวว่า สิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุขคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน การให้บริการเพื่อการข้ามเพศถือเป็นความจำเป็นด้านสุขภาพของกลุ่มคนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด และมีสิทธิที่จะกำหนดเจตจำนงในวิถีชีวิตของตัวเอง ซึ่งการข้ามเพศไม่ใช่การเสริมความงามพวกเขาจึงไม่ได้เรียกร้องสิทธิพิเศษแต่อย่างใด รัฐจึงต้องให้การคุ้มครอง
ด้าน ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญและสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศภาวะในสังคม และส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างทั่วถึง โดยกรุงเทพมหานคร เปิดนำร่อง “คลินิกสุขภาพเพศหลากหลายกรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic)” จำนวน 11 แห่ง ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต ได้แก่ กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ กรุงเทพกลาง กรุงเทพใต้กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ กรุงธนใต้ และจะเพิ่มเป็น 21 แห่งภายในปี 2565
ภายในการงานยังจัดฉายสารคดี “เมื่อการข้ามเพศ ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนข้ามเพศมีช่องทางสื่อสารความต้องการ ข้อจำกัดด้านบริการสุขภาพ และร่วมกันพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของคนข้ามเพศ เพื่อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะแม้ไทยจะได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย แต่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังถูกเลือกปฏิบัติในสังคม จากความเชื่อและทัศนคติแง่ลบ ส่งผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ เช่น เป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแก ถูกเลือกปฏิบัติ และพบว่าเข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยกว่ากลุ่มรักต่างเพศ ส่วนหนึ่งเกิดจากสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านสุขภาพผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีอยู่จำกัด มีประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องเพศ รวมถึงการขาดนโยบายทางสุขภาพที่ครอบคลุมความจำเป็นของผู้รับบริการ เช่นบุคคลข้ามเพศที่ต้องใช้ฮอร์โมน ค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการ ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกกังวล ขาดความมั่นใจ และไม่อยากเข้ารับบริการด้านสุขภาพ
“บุคคลข้ามเพศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงร่างกายให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ส่วนใหญ่หาซื้อฮอร์โมนกินเองตามท้องตลาด หรืออินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เกิดการใช้ฮอร์โมนเกินขนาด หรือผิดวิธี มีความเสี่ยงทางสุขภาพ อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อร่างกายและเป็นอันตรายถึงชีวิต ขณะนี้ สสส. ร่วมกับ GenV Clinic คลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี สานพลังภาคีเครือข่าย จัดตั้งศูนย์ให้บริการสุขภาพบุคคลข้ามเพศ ทั้ง 4 ภาค เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สำหรับงานวันนี้เป็นการสื่อสารเรื่องราวชีวิตในแง่มุมต่างๆ ของบุคคลข้ามเพศ ทั้งจากหนังสารคดี การเสวนา และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นต้นทุนที่จะนำไปขับเคลื่อนการทำงานสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ ให้ได้รับสิทธิบริการทางสุขภาพและสังคมที่สอดคล้องความจำเป็นในการใช้ชีวิตต่อไป”
ชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.
ณชเล บุญญาภิสมภาร ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย กล่าวว่า Nothing for Trans without Trans หรือ ไม่มีอะไรเป็นของคนข้ามเพศ หากคนข้ามเพศไม่ได้มีส่วนร่วม เป็นที่มาของโครงการฯ ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน พัฒนานโยบายและส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศ เพื่อรณรงค์เรื่องการสร้างระบบ และกลไกเชิงรุกในระดับนโยบายที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพโดยการสะท้อนปัญหา ช่องว่างการบริการ และแนวทางพัฒนาระบบบริการสุขภาพของคนข้ามเพศ จากตัวเจ้าของปัญหา เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่จะ “ไม่ลืมใครไว้ข้างหลัง” ด้วยการพัฒนาบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศที่มีคุณภาพ เป็นมิตร เข้าถึงง่าย และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ