คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เตรียมมอบรางวัล “มูลนิธิกระจกเงา – นักพัฒนาเอกชน – สื่อ – แรงงาน – ท้องถิ่น” รวม 9 บุคคล/องค์กร ในวันสิทธิมนุษยชนสากล 19-20 ธ.ค. นี้
วันนี้ (22 พ.ย. 2567) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ภาณุวัฒน์ ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 39/2567 โดยมีวาระสำคัญ คือการประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 – 2567
วสันต์ ภัยหลีกลี้ เปิดเผยว่า ตามที่ กสม. เห็นสมควรให้มีการมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 – 2567 เพื่อยกย่อง เชิดชู และประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่อุทิศตนปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้สังคมได้รับรู้เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคคลและองค์กร ตลอดจนเพื่อประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ประวัติ ผลงานของบุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลให้เป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจแก่บุคคลอื่นในสังคม
กสม. ได้เห็นชอบรายชื่อบุคคลและองค์กรที่สมควรได้รับรางวัลฯ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 – 2567 เสนอเรียบร้อยแล้ว จึงขอประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นฯ รวมทั้งสิ้น 9 รางวัล ดังรายชื่อต่อไปนี้
(1) เอกชัย อิสระทะ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเขาคูหา นักสิทธิมนุษยชนที่ทุ่มเทในการทำงานด้านสิทธิทางการเมืองภาคพลเมือง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องชุมชนและฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยเป็นบุคคลสำคัญในการต่อสู้เคลื่อนไหวกรณีการให้สัมปทานระเบิดหินเขาคูหา ซึ่งสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชนมายาวนานกว่า 20 ปี กระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนเขาคูหาออกจากการประกาศเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม
(2) พัทยา เรือนแก้ว ประธานสมาคมเครือข่ายคนไทยในต่างแดน ประเทศเยอรมนี (NTO) นักวิชาการและนักวิจัยอิสระที่อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือทางกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิของคนไทยในประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงและผู้หญิงข้ามเพศที่ตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวง การให้คำปรึกษาช่วยเหลือด้านกฎหมายครอบครัวแก่ผู้หญิงไทยที่สมรสกับชาวเยอรมัน รวมถึงเด็กไทยไร้สัญชาติ เพื่อให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสมและสามารถพำนักอยู่ในประเทศเยอรมนีได้อย่างมีศักดิ์ศรี
(3) สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน ขับเคลื่อนการทำงานด้านสิทธิชุมชน การทำประมงพื้นบ้าน การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเป็นผู้จัดตั้งเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัด รวมถึงนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ผ่านการรณรงค์ การจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม รวมถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งนำไปสู่การยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อาทิ โครงการแลนด์บริดจ์ สงขลา – สตูล
(4) นิติธร ทองธีรกุล ผู้ชำนาญการอาวุโส สำนักสร้างสรรค์เนื้อหา Thai PBS ศิลปินเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้มีความมุ่งมั่นในการสื่อสารเชิงวัฒนธรรมโดยนำปัญหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมาร้อยเรียงเป็นบทเพลง เพื่อสร้างความเข้าใจ และความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ได้สร้างสรรค์บทเพลงในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และศิลปินที่มีชื่อเสียงในการสื่อสารสิทธิมนุษยชนสู่สาธารณะ
(5) เครือข่ายแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ กลุ่มเครือข่ายแรงงานที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ ซึ่งยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิแรงงาน โดยเรียกร้องค่าเสียหาย รวมถึงการได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการ และการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับความเดือดร้อนโดยประสานกับองค์กรระหว่างประเทศในกระบวนการส่งกลับประเทศไทย และการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศฟินแลนด์ ส่วนในประเทศไทย เครือข่ายฯ ได้ผลักดันให้เกิดความตื่นตัวและการตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสิทธิแรงงานกระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
(6) นุชนารถ บุญคง ผู้จัดการมูลนิธิบ้านครูน้ำ ผู้ทุ่มเทในการทำงานด้านมนุษยธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กเร่ร่อน เด็กไร้สถานะ เด็กไร้สัญชาติ ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทำงานด้วยความยากลำบากภายใต้ข้อจำกัดและแรงเสียดทานจากทัศนคติของคนในสังคม โดยเฉพาะการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กที่มิได้มีสัญชาติไทย ซึ่งมีความเสี่ยงและต้องต่อสู้ทางกฎหมายจากการถูกดำเนินคดี
(7) องค์การบริหารส่วนตำบลจาน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ องค์กรภาครัฐระดับท้องถิ่น ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสมและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีการจัดตั้งงบประมาณรองรับการดำเนินงาน จัดกิจกรรมที่หลากหลาย และจัดตั้งศูนย์บริการประจำตำบลที่ให้การดูแลด้านสุขภาพและการฝึกอาชีพสร้างรายได้แก่กลุ่มคนเปราะบางในชุมชน
(8) มูลนิธิกระจกเงา เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาสังคมเพื่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น คนไร้บ้าน บุคคลสูญหาย ผู้ป่วย ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ผู้สูงอายุ เด็กเร่ร่อน กลุ่มคนจนเมือง และผู้ประสบภัยพิบัติ โดยมีการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายอย่างยั่งยืน อาทิ โครงการจ้างวานข้าฯ ที่สามารถเปลี่ยนสถานะของคนไร้บ้านสู่การเป็นคนที่มีรายได้มั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลบมโนภาพเดิมว่าคนไร้บ้านเป็นภาระของสังคมสู่การเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ
(9) มนตรี อุดมพงษ์ รักษาการบรรณาธิการข่าว 3 มิติ สื่อมวลชนผู้ทำงานเชิงสืบสวนสอบสวนที่มิได้เป็นเพียงผู้นำเสนอข่าว แต่มีความทุ่มเทในการทำหน้าที่ควบคู่กับการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยจากการลงพื้นที่แบบเกาะติดสถานการณ์ทำให้ได้หลักฐานสำคัญในคดีที่สามารถพิสูจน์ความจริงจนผู้เสียหายพ้นจากข้อกล่าวหาและได้รับการชดเชยเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่แกะรอยจนได้ข้อเท็จจริงที่สามารถขยายผลนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีกับผู้มีอิทธิพลที่กระทำความผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมาย
“กสม. ขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับ 9 บุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลฯ ประจำปี 2566 – 2567 นี้ โดยเป็นที่ประจักษ์ว่า องค์กรและบุคคลทุกคนที่ได้รับเลือกมีผลงานในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีความมุ่งมั่นในการทำงาน แม้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความยากลำบาก จนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีต่อบุคคลและองค์กรอื่น ๆ ในสังคมได้ ทั้งนี้ กสม. จะมีพิธีมอบรางวัลให้แก่บุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 20 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร”