กทม. รองรับผลกระทบจากคลินิกภาคประชาสังคม หยุดจ่ายยาเพร็พตามประกาศ สบส. “ทวิดา” ขอโทษประชาชน ยอมรับยาไม่พอ พร้อมสั่งสต็อกยา ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขวัดธาตุทอง คาดน่าจะมีผู้เข้ามาขอใช้บริการมากกว่าพื้นที่อื่น
วันนี้ (17 ม.ค. 2565) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีคลินิกภาคประชาสังคมหยุดจ่ายยาป้องกันเชื้อ HIV ก่อนการสัมผัส หรือ ยาเพร็พ ตามประกาศกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่ต้องจ่ายยาโดยเภสัชกรหรือแพทย์ของสถานพยาบาลภาครัฐเท่านั้น จนทำให้เกิดผลกระทบต่อพนักงานบริการและกลุ่มเสี่ยงตามที่เป็นกระแสข่าวไปแล้ว โดยบอกว่ากรุงเทพมหานคร คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร หรือ BKK Pride Clinic จำนวน16 แห่งอยู่ในศูนย์บริการสาธารณสุขทั่วกรุง โดยล่าสุดสั่งการในสำรองยาเพร็พให้มีจำนวนเพียงพอหามีประชาชนมาขอรับบริการ ในระหว่างที่คลินิกภาคประชาสังคมยังไม่สามารถจ่ายยาได้ โดยในฐานะหน่วยบริการของรัฐจะจ่ายยาเพร็พฟรี กับประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทอง ประกันสังคมหรือสิทธิใดเพราะถือว่าเป็นงานส่งเสริมและป้องกันโรคที่ต้องทำอย่างทั่วถึง ซึ่ง กทม.จะไปเกลี่ยงบประมาณข้ามสิทธิในระบบการเงินหลังบ้านภายหลัง
- อ่าน “กรมควบคุมโรค” ยืนยัน “ยาเพร็พ” ต้องจ่ายโดยแพทย์รัฐ
- อ่าน หวั่นติดเชื้อ HIV พุ่ง หลังคลินิกภาคประชาสังคม หยุดจ่ายยาเพร็พ
- อ่าน สปสช. ยืนยันคลินิกภาคประชาสังคม ยังจ่ายยา PrEP, PEP ได้ตามเดิม
- อ่าน รู้ว่าเสี่ยง! คุณก็รับ PrEP – PEP ฟรีได้นะ
“ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาต้องขอโทษประชาชนที่มีบางส่วนที่ไปเข้าไปรับยาเพร็พ ใน BKK Pride Clinic แล้วพบว่ายาไม่เพียงพอ ซึ่งยอมรับว่าขาดการประเมินสถานการณ์ช่วงนี้ไป ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ให้นำยาเพร็พ ไปสต็อกที่ศูนย์บริการสาธารณสุข โดยเฉพาะที่ศูนย์บริการสาธารณสุขวัดธาตุทอง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผู้เข้ามาขอใช้บริการมากกว่าพื้นที่อื่น”
สำหรับคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร หรือ BKK Pride Clinic ในโรงพยาบาล สังกัดสำนักการแพทย์ กทม. เฟสแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร โดยตั้งเป้าให้ครบทั้ง 11 โรงพยาบาลในสังกัด
ส่วนของศูนย์บริการสาธารณสุขให้บริการใน 16 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา ศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรีเขตคลองสาน ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 บางซื่อ เขตบางซื่อ ศูนย์บริการสาธารณสุข 25 ห้วยขวาง เขตห้วยขวาง ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี เขตมีนบุรี และศูนย์บริการสาธารณสุข 48 นาควัชระอุทิศ เขตหนองแขม
ทั้งนี้ พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี หรือ IHRI ให้สัมภาษณ์กับ The Active ไว้เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 ว่าสถานการณ์ปัจจุบันกลุ่มเสี่ยง HIV เข้าถึงการป้องกันโรคในหน่วยบริการขององค์กรภาคประชาสังคมมากกว่าสถานบริการของรัฐ จากตัวเลขปัจจุบันมีผู้รับยาเพร็พ อยู่ทั่วประเทศจำนวน 10,000 คนในจำนวนนี้ 8,000 คนรับยาอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครกับ 2 คลินิกขององค์กรภาคประชาสังคมคือ SWING Clinic และ คลินิกฟ้าสีรุ้ง