ผอ.สำนักงานรับรองร้านยาคุณภาพ ขานรับเข้าร่วมเครือข่าย ระบบสุขภาพ กทม. หวังเชื่อมต่อโรงพยาบาลแม่ข่าย มีระบบ Telemedicine กับ รพ.พร้อมส่งต่อหากพบผู้ป่วยอาการหนัก ขณะที่ประชาชนสะท้อนร้านยาร่วมโครงการมีสาขาน้อย ไม่ครอบคลุม
วันนี้ (24 ม.ค. 2566) นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ครบ 6 เดือนแล้วหลังจากที่กรุงเทพมหานครประกาศทำ Sandbox ระบบสุขภาพ กทม. ในพื้นที่แรกคือโรงพยาบาลราชพิพัฒน์โมเดล ครอบคลุม 5 เขต ได้แก่ ทวีวัฒนา บางแค หนองแขม ภาษีเจริญ และตลิ่งชัน ซึ่งพยายามที่จะให้ประชาชนทุกสิทธิสุขภาพ เข้าถึงระบบบริการสุขภาพของกรุงเทพมหานครได้สะดวกที่สุด
วันนี้จึงจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่ให้บริการมาว่าได้รับสะดวกมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดจุดอ่อนด้านการแพทย์ปฐมภูมิหรือเส้นหลอดเลือดฝอย ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข การจับมือกับคลินิกอบอุ่นให้เป็นเครือข่ายเดียวกันเชื่อมโยงถึงกัน
ล่าสุดได้ลงไปในระดับร้านขายยาใกล้บ้าน โดยเป็น “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ที่เชื่อมกับ สปสช. มาก่อนหน้านี้เพื่อดึงเข้ามาเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย กทม. อย่างจริงจัง เชื่อมโยงประวัติผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล มีการปรึกษาผ่านระบบ Telemedicine โดยจะทดลองที่ Sandbox ราชพิพัฒน์ก่อน
“แต่ยอมรับว่าโจทย์ใหญ่การดึงร้านยาร่วมทำ Sandbox คือการทลายข้อจำกัดเรื่องสิทธิสุขภาพ เนื่องจากขณะนี้จ่ายยาฟรีเฉพาะผู้ใช้สิทธิบัตรทองเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายให้สิทธิประกันสังคม หรือข้าราชการได้”
นพ.สุขสันต์ กล่าว
ด้าน ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตอนเริ่มทำ Sandbox ระบบกทม. ก็มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับทั้ง 3 กองทุนสุขภาพสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ อย่างไรก็ตาม ประชากรที่ลงทะเบียนระบบบัตรทอง ใน กทม. มีถึง 7.8 ล้านคนโดยตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาสิ่งที่ทำไปแล้ว ส่วนที่หนึ่งคือการจัดบริการเชิงรุก เช่น รถทันตกรรมไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ห้องปฏิบัติการตรวจเลือดเคลื่อนที่ และขนาดนี้กำลังพัฒนาระบบร้านยาที่ดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อย และจัดให้มี Telemedicine ผ่านโทรศัพท์มือถือ
ส่วนที่ 2 กองทุนสุขภาพท้องถิ่น คือให้สำนักงานเขตเป็นพี่เลี้ยงกับประชาชนผู้นำชุมชน เพื่อเขียนโครงการของบประมาณ สปสช. จัดกิจกรรมด้านสุขภาพกำหนดร้อยละของการอนุมัติให้เพิ่มสูงขึ้น เร่งการใช้เทคโนโลยีเข้าถึงชุมชนผ่านอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงแพทย์ผ่านโทรศัพท์มือถือได้รวมทั้งใช้โทรศัพท์มือถือในการเก็บชุดข้อมูลสุขภาพเพื่อต่อยอดการทำงาน
และส่วนที่ 3 พยามแก้ปัญหาโรงพยาบาลเอกชน9 แห่งที่ถูกยกเลิกสัญญาสิทธิบัตรทอง และต้องประสานคลินิกชุมชนอบอุ่นซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่ขึ้นตรงกับ สปสช. รับผู้ป่วยมาดูแลต่อ ซึ่งปัจจุบันก็จะเพิ่มคลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานครให้ได้ 260-270 แห่ง
ขณะที่ ภญ.เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองร้านยาคุณภาพกล่าวว่ายินดีที่ร้านยาคุณภาพจะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ใน Sandbox ระบบสุขภาพ กทม. ซึ่งตอนนี้ตัวเลขคร่าวทั่วประเทศมีร้านยาราว10,000 เข้าร่วมโครงการ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” จ่ายยาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเพียง 1,000 แห่ง และในกรุงเทพมหานครมีเพียง 300 แห่ง เฉพาะเขตหนองแขม และเขตบางแค รอบโรงพยาบาลราชพิพัฒน์มีเพียง 11 ร้าน
“เราคาดหวังว่าเมื่อร่วมมือกับ กทม. ทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันจะให้เกิดการเชื่อมต่อจากร้านยาปฐมภูมิเข้าไปสู่โรงพยาบาล ประชาชนจะได้รู้สึกอุ่นใจเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย แม้จะมาที่ร้านยาก็เหมือนได้ใกล้มือหมอ”
ภญ.เพ็ญทิพา กล่าว
ภญ.เพ็ญทิพา ยอมรับว่าสิ่งที่ทำต่อคือการวางระบบร่วมกันกับ กทม. จะทำอย่างไรให้เภสัชกร สามารถปรึกษาแพทย์ของโรงพยาบาลแม่ข่ายได้ จะส่งตัวต่ออย่างไร เมื่อส่งกลับมาจะต้องช่วยดูแลต่ออย่างไร ยังไม่นับรวมเรื่องกรณีข้ามสิทธิ์สุขภาพ หรือโรงพยาบาลนอกสังกัด กทม. จะต้องเชื่อมโยงกันได้หรือไม่
- อ่าน ทลายกรอบ 3 กองทุนสุขภาพ หนุนการแพทย์ปฐมภูมิ
- อ่าน กทม.เดินหน้า Sandbox กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ดึงร้านยาเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ
- อ่าน กทม. จับมือ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ดูแลผู้ป่วยใกล้บ้าน-ลดแออัดโรงพยาบาล
รีวิว 6 เดือนราชพิพัฒน์โมเดล : Sandbox ระบบสุขภาพ กทม.แห่งแรก
ผู้สื่อข่าว The Active รายงานว่า ประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. กลุ่มตัวแทนร้านยาชุมชนอบอุ่น ร่วมร้อยคนแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนา Sandbox ระบบสุขภาพ กทม. ราชพิพัฒน์โมเดล ตัวอย่างเช่น กลุ่มประเด็นระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไป แสดงความเห็นว่าการเข้าถึงแอปพลิเคชันยังมีขั้นตอนที่ซับซ้อน อยากให้เข้าถึงง่ายขึ้น การมีอาสาสมัครเทคโนโลยี ควรเป็นบุคคลในชุมชนจะทำให้เข้าถึงคนในชุมชนได้มากกว่า พร้อมเสนอให้เชื่อมโยงกับโรงเรียนที่เป็นลูกหลานของคนในชุมชนเพราะวัยรุ่นจะเข้าใจเรื่องต่างๆได้ง่าย ส่วนร้านยาใกล้บ้านยังขาดการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากยังมีประชาชนไม่ทราบข่าวสาร อยากให้ทุกสิทธิการรักษาครอบคลุม สามารถรับยาได้ใกล้บ้าน เพิ่มร้านยาในโครงการเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงง่ายและใกล้บ้าน
นอกจากคัดกรองทั่วไปแล้วอยากให้มีการเพิ่มเติมรถเอกซเรย์ หมอทำฟัน หมอตรวจตา อยากให้ตั้งจุดให้ความรู้ในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหารู้หลักการและวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง อยากให้ส่งทีมแพทย์เฉพาะทาง ลงไปชุมชนหมุนเวียนกันเดือนละ 1 ครั้ง อยากให้จัดตารางออกตรวจพร้อมกัน เช่นตรวจตาพร้อมกับตรวจโรคทั่วไป อยากให้มีการตรวจผู้ป่วยติดเตียงถึงบ้าน ต้องการให้มีการนำยาโรคประจำตัวติดรถไปด้วยเมื่อตรวจเสร็จได้รับยาทันที
อีกกลุ่มประเด็นการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง มองว่าศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองเพื่อการฟื้นฟูและการดูแลแบบประคับประคอง เข้าถึงลำบาก ต้องเดินทางไกลจากโรงพยาบาล การขอเอกสารส่งตัวมารักษาค่อนข้างยากเอกสารเยอะใช้เวลานาน ต้องการให้แต่ละชุมชนมีรถรับส่งคนในชุมชนไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นด้วย เนื่องจากคนในชุมชนไม่ได้รักษาที่โรงพยาบาลที่เดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักสถานที่ตั้งของศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองเพื่อการฟื้นฟูและการดูแลแบบประคับประคอง.