ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.ฎ. 4 ฉบับ ให้ผู้ใช้สิทธิประกันสังคม – ข้าราชการ สามารถใช้สิทธิเพื่อรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจากบัตรทอง ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ขั้นตอนหลังจากนี้เตรียมส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา
วันนี้ (14 มี.ค. 2566) นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา 4 ฉบับ กำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่
- ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการและบุคคลในครอบครัว
- ผู้มีสิทธิเบิกจ่ายเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของกรุงเทพมหานคร
- พนักงานเมืองพัทยาและบุคคลในครอบครัวตามข้อบัญญัติเมืองพัทยา เรื่องเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานเมืองพัทยา
- ผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
หลังจากนี้ ขั้นตอนต่อไป ร่าง พ.ร.ฎ.ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวจะถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจพิจารณาต่อไป เมื่อการดำเนินการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ร่าง พ.ร.ฎ.ทั้ง 4 ฉบับนี้จะถูกส่งกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเสนอทูลเกล้าฯต่อไป
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า การเสนอร่าง พ.ร.ฎ. ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในวันนี้นั้น เป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธานได้เร่งรัดให้มีการดำเนินการเรื่องนี้เพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองได้เข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จำเป็นโดยเร็ว
โดยได้มอบหมายให้ สปสช. หารือกับหน่วยงานที่ดูแลกองทุนสุขภาพของกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทอง อาทิ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เป็นต้น ออกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดสิทธิรับบริการสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในการดูแลของกองทุนนั้น ๆ สามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ได้
“เมื่อดำเนินการเรื่องนี้แล้วเสร็จ โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เท่ากับว่าต่อไปในอนาคต ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีกหน่วยบริการสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากมีหลักประกันที่เป็นข้อกฎหมายรองรับไว้แล้ว ต่อไปคนไทยทุกคนก็จะได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้”
เลขาธิการ สปสช. กล่าว