อภิปรายนโยบายรัฐบาลวันแรก ‘นพ.ณรงค์’ สว. อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข หนุนตั้ง Health Board กระจายอำนาจการเงิน 12 เขตสุขภาพ ค้านนำโรงพยาบาลรัฐออกนอกระบบ ห่วงถ่ายโอน รพ.สต. ทำระบบบริการบิดเบี้ยว
วันนี้ (11 ก.ย. 2566) ที่ประชุมรัฐสภา นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภาในฐานะสมาชิกรัฐสภา อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข อภิปรายข้อเสนอแนะต่อนโยบายรัฐบาล ประเด็นการพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะแนวคิดคณะกรรมการกำหนดนโยบายที่เรียกว่า National Health Board เพื่อทำหน้าที่ด้านนโยบายสาธารณสุขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงฯ ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพว่า มีข้อเสนอแนะเชิงโครงสร้าง 3 ประเด็น และมีความห่วงใยอยู่ 1 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 คือ ความไม่เป็นเอกภาพของกลไกที่ดำเนินการด้านสาธารณสุข ตัวอย่างเช่น กลไกการเงินการคลัง บริหารโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กลไกการพัฒนาบุคลากร บริหารโดยสภาวิชาชีพ และทางมหาวิทยาลัย การพิจารณาค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับสภาพงาน อยู่ที่กรมบัญชีกลาง ดังนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยสมัยนั้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนด ควรให้มีกลไก คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้น National Health Board เพื่อให้นโยบายที่แยกส่วน มีเอกภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ประเด็นที่ 2 ควรมีการกระจายอำนาจระบบสาธารณสุขให้กับเขตสุขภาพ 12 เขตภูมิภาค และ กทม. 1 เขต ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า เขตสุขภาพเป็นคำตอบในการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่ได้ แต่ขณะนี้บริหารโดยกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น หากจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารเขตสุขภาพก็จะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับประเด็นการเงินการคลังที่บริหารโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ เป็นการรวมอำนาจไว้ที่คณะกรรมการ ในการออกแบบการเงินการคลังหนึ่งเดียว แต่ใช้ทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะไม่เหมาะกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน มีข้อเสนอหลายแหล่งว่าควรกระจายและตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพฯระดับเขต โดย 2 ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างของระบบสาธารณสุข
ประเด็นที่ 3 คือ ประสิทธิภาพของการบริหารโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะ รพ. ของ สธ. ครอบคลุมประชากรถึง 70 % หากสามารถบริหารเพิ่มประสิทธิภาพให้คล่องตัวก็จะทำให้ภาพรวมระบบสุขภาพดีขึ้น โดยทางออกเรื่องนี้ที่จะเป็นองค์การ รพ.มหาชน ไม่น่าใช่คำตอบ เพราะขณะนี้มีการพัฒนานวัตกรรมการบริหารหลายรูปแบบ จึงขอฝากรัฐมนตรีดูเรื่องนี้
ส่วนประเด็นที่เป็นข้อห่วงใย 1 ประเด็นคือ การถ่ายโอน รพ.สต. ไปอยู่ อบจ. ประมาณ 1 ใน 3 โดยวุฒิสภาลงพื้นที่ตลอด 1 ปีเต็ม พบว่ามีปัญหาการถ่ายโอน ความไม่พร้อม ส่งผลกระทบต่อประชาชน ระบบบริการกำลังบิดเบี้ยว จึงต้องขอฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เคยเป็น รมว.กระทรวงสาธารณสุข ทบทวนในประเด็นเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต. ว่าจะทำอย่างไรต่อไป