‘คกก.ปฏิรูปฯ ด้านปราบโกง’ แถลงผลงาน 5 ด้าน “มานะ” ชี้แก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ไม่ได้รับตอบสนอง ย้ำข้อมูลราชการต้องเปิดเผยทั้งหมด ระบบราชการถึงจะโปร่งใส
วันนี้ (27 พ.ค. 2565) ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้จัดแถลงข่าว “การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในรอบปีที่ผ่านมา” นำโดย ภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการฯ, พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานอนุกรรมการฯ, มานะ นิมิตรมงคล กรรมการฯ, ปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), สิน สื่อสวน ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน, ภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ กฤษณ์ กระแสเวส ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.
ภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการฯ ชี้แจงว่า แผนการปฏิรูปประเทศ ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 และได้ปรับปรุงโดยประกาศใช้แผนการปฏิรูปประเทศ(ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ หรือ กิจกรรม ‘Big Rock’ ซึ่งถูกกำหนดไว้จำนวน 5 กิจกรรม ได้แก่
- การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต โดยส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีบทบาทเป็นแกนหลักในการต้านภัยทุจริต โดยดำเนินการผ่านกลไกเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ภาคีภาคประชาสังคม เพื่อป้องกันการทุจริตในพื้นที่ของตนเอง เช่น จัดตั้งคณะ ‘ผู้ก่อการดี’ 17 จังหวัด 71 ตำบล เป็นกลไกหลักขยายความร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆ
- การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ผลักดันการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐโดยไม่ต้องร้องขอ และเตรียมช่องทางให้ผู้แจ้งเบาะแส เช่น จัดให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการฟ้องปิดปาก หรือ Anti-SLAPP Law ที่ห้ามเจ้าหน้าที่ฟ้องร้องบุคคลที่แสดงความเห็นหรือเปิดโปงการทุจริต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
- การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ในการดำเนินคดีทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การกำหนดบทลงโทษกับหน่วยงานและหัวหน้าหน่วยงานที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยคาดว่าจะให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2565
- การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ เช่น การจัดทำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทุกคนต่อหัวหน้าหน่วยงาน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้มีมติแก้ไขกฎหมาย
- การพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ โดยมีการจัดทำการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริต และมาตรฐานการบริหารจัดหารความเสี่ยงมาใช้ในโครงการที่มีวงเงินสูง 500 ล้านบาท ถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย โดยมีการติดตาม ตรวจสอบ โดย ป.ป.ท. ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ
“เราใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ พบว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเรื่องนี้ คือ คน กฎหมาย และภาครัฐ ปัจจุบันดำเนินการจนประสบผลสำเร็จจริงจัง แต่หลายเรื่องจะทำให้สำเร็จ ต้องได้รับความเข้าใจ ความตื่นตัว และการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อไม่ได้ประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง จึงได้รับการสนับสนุนยาก…”
ในขณะที่ มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะกรรมการฯ กล่าวว่าจากผลการประเมินทั้งในและนอกประเทศ เราพบว่าสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย วันนี้เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ความร้ายกาจที่สร้างความรุนแรงให้สังคมไทย ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย ในทางกลับกันยังเกิดการคอร์รัปชันในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมาด้วย และสิ่งนี้เป็นพื้นฐานในการสร้างความล้มเหลว แม้การต่อสู้กับเรื่องนี้ ต้องใช้เวลายาวนานมากพอสมควร แต่ประชาชนยังหวังจะเห็นชัยชนะ
แต่ในภาพรวม มานะ กล่าวว่า มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้น ว่าภาครัฐและองค์กรต่างๆ มีมาตรการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเกิดขึ้นชัดเจนเป็นลำดับ ดังนี้ การเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐผ่านเว็บไซต์ และการให้บริการภาครัฐมีงานบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e service มากกว่า 350 โครงการ รวมถึงการขับเคลื่อนในมาตรการอื่นๆ อีกด้วย
“เป็นความจริงในวันนี้ ที่เราต้องรับรู้ร่วมกัน ว่าภาคเอกชนตื่นตัวมากขึ้น มีความตั้งใจหลายอย่างในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เกิดการตรวจสอบกันเอง และที่สำคัญ คือ พลังความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริต เป็นพลังที่กล้าจะเรียกร้อง และชักชวนคนรู้จักให้ออกมาช่วยต่อต้านเรื่องนี้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาช่วยเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่ได้ผลดีอย่างมาก”
ในขณะที่ประเด็นที่ประชาชนยังสงสัยเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ในส่วนของ เอกสารลับ หรือลับสุดยอด ที่การเข้าถึงของประชาชนไม่สามารถทำได้ โดยหน่วยงานมักอ้างว่าเป็นเอกสารที่ไม่สามารถเปิดเผยได้นั้น มานะ กล่าวว่า กรรมการปฏิรูปประเทศฯ ได้ส่งข้อเสนอผ่านไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี แต่แนวทางที่เสนอไป ไม่ได้รับการตอบสนองโดยสิ้นเชิง โดยยืนว่าข้อมูลข่าวสารทางราชการต้องได้รับการเปิดเผยทั้งหมด เราจึงจะมีระบบราชการที่โปร่งใส
ภักดี กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนแนวทางป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อจากนี้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา โดยเราจะเสนอผ่านไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดใหญ่ เพื่อทำแผนปฏิรูปให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ยังหน่วยงานภาครัฐ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน ที่ต้องเปลี่ยนเป็นพลังพลเมือง ขยายผลไปทั่วทั้งประเทศ จึงจะเกิดผลที่เป็นรูปธรรม