ภาคประชาชนตื่นตัวสนับสนุนปราบโกง เรียกร้องปรับปรุงกลไกเปิดข้อมูลภาครัฐ สร้างเครื่องมือให้ร่วมตรวจสอบ ย้ำสมการ “คน” และ “ข้อมูล” นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
วันนี้ (8 มิ.ย. 2565) The Active Thai PBS ร่วมด้วย คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเวทีสาธารณะ “ปราบโกง ประเทศไทย 2022” พูดคุยถึงความตื่นตัวของภาคประชาชน เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ที่มีนโยบายที่ใช้ต่อต้านคอร์รัปชันทันที โดยเฉพาะการทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบภาครัฐ ทั้งที่ประเทศไทยมีแผนปฏิรูปปราบปรามทุจริต แผนแรก ปี 2560 แต่จนถึงวันนี้ ปัญหาการทุจริตก็ยังไม่ลดลง ล่าสุดมีแนวทางการปราบโปรง 2020 ผ่านแนวทางปราบโกง 5 Big Rock ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, การพัฒนาข้อมูลข่าวสาร และระบบกฎหมายคุ้มครองพยาน ผู้แจ้งเบาะแส, พัฒนากระบวนการยุติธรรมโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ, ระบบราชการโปร่งใสไร้ผลประโยชน์, สกัดกั้นการทุจิตเชิงนโยบายขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทาย มรดกปราบโกงในสังคมไทย
ภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ ระบุว่า แผนปฏิรูปปราบปรามทุจริต แผนแรกของไทยเกิดขึ้นใน ปี 2560 การขับเคลื่อนไม่ราบรื่น นำมาปรับกันปี 2563 และใช้จริงปี 2564 เน้นไปที่การปฏิรูปกฎหมาย-ภาครัฐ-กระบวนการยุติธรรมโดยเน้นให้สามารถพูดถึงเรื่องข้อมูลข่าวสารโดยไม่ต้องร้องขอ เน้นการปฏิรูปภาครัฐ-ระบบราชการ เพราะปัญหาใหญ่ไม่ใช่ทุจริต แต่เป็นประพฤติมิชอบ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ระบบอุปถัมภ์ ทั้งหมดนี้นำมาสู่แผนการปราบปรามทุจริต 5 Big rocks เพื่อเชื่อมต่อการทำงานกับภาคีต่างๆ ประกอบด้วย
- พัฒนาการมีส่วนร่วม เปลี่ยนประชาชนเป็นพลังพลเมือง แต่หลักการจะตอบสนองส่วนที่เราจะปฏิรูปประชาชน
- เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และคุ้มครองผู้ให้เบาะแส
- เราจะต้องมีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้รวดเร็วโปร่งใส และยุติธรรม ขณะเดียวกันก็จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดความเหลื่อมล้ำ
- ปฏิรูปภาครัฐ ให้เป็นภาครัฐที่โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์
- สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย ในการดำเนินการขนาดใหญ่
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าหากไม่สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายสังคมจะไปต่อไม่ได้ ปัญหาข้อติดขัดก็ยังมีไม่น้อย ปัญหาสำคัญสุดคือ เราไม่ได้รับการสนับสนุนตามที่ควร เช่น งบประมาณ ที่ควรจะต้อง ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ขอให้บูรณาแผนชาติ 2566-70 ให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และยังเป็นข้อเสนออยู่
ปัญหาการขับเคลื่อนเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เราเฟลมาแล้ว เราไม่มีกลไกที่กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งดัชนีคอร์รัปชัน Corruption Perceptions Index CPI ส่วนใหญ่ที่ตกลงต่อเนื่องมาจากปัญหา สินบน ความไม่ตระหนักผลกระทบทุจริต และการประพฤติไม่ชอบในภาครัฐ หากเราเอา 5 ข้อไปผลักดันอย่างจริงจังน่าจะช่วยตอบโจทย์ได้
ด้าน มานะ นิมิตรมงคล กรรมการปฏิรูปประเทศฯ และเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การมีแผนปราบปรามทุจริตฯ เป็นเหมือน แสงสว่าง เราได้เห็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันโดยพลังประชาชน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการปฏิรูปภาครัฐราชการ และการเมืองด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาหลักการรีดไถ เก็บเงินใต้โต๊ะ ภาคประชาชน คือ พลังสำคัญในการตรวจสอบ แต่พอมาดูกฎหมายน่าผิดหวัง เพราะไม่มีอะไรเป็นชิ้นอันจับต้องได้ เท่ากับไม่มีการแก้ไขอะไรเลย การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร กฎหมายฟ้องปิดปาก กฎหมายตัวนี้ก็ยังคลานต้วมเตี้ยม มันยังเป็นอะไรที่ต้องปีนภูเขาอีกหลายลูก… ขณะที่การทำงานของข้าราชการก็เป็นการทำงานเพื่อตอบสนอง KPI หลายงานบริการอย่าง One stop service ก็ประชาชนใช้น้อย เพราะไม่มีความเชื่อมั่น และการทำงานก็ไม่มีความเชื่อมโยง โดย ไทยมีแผน มีเป้าหมายและหลักการที่ดี แต่ภาครัฐและการปฏิบัติยังเป็นตัวถ่วงที่ทำให้เรื่องนี้เดินหน้าได้ช้า
ด้าน สิน สื่อสวน ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า Big rock คือการเปิดพื้นที่ทางนโยบายของคณะกรรมการปฏิรูปที่ทำเรื่องทุจริตเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทุจริตประพฤติมิชอบเบียดบังงบประมาณ ต้องเปลี่ยนประชาชาชนเป็นพลังพลเมือง โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตหากทำแต่ยังทุจริตอาจจะไม่รอด ควรทำเป็นขบวนองค์กรชุมชนด้วย และพยายามเคลื่อนไหวเรื่องนี้เป็นภารกิจที่เพิ่มเข้ามา
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามสร้างจิตสำนึกประชาชน สร้างระบบพื้นที่เปิดเผยโปร่งใสว่าเงินมาอย่างไร งบมาอย่างไร บางส่วนที่รับงบจากรัฐ และต่อต้านการทุจริต โดย ระยะเวลา ปีกว่า ทำไป 17 จังหวัด กว่า 170 ตำบล หรือเทศบาล เป็นจุดเริ่มที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวและทำเรื่องนี้ได้มากขึ้น มันคือความตื่นตัว ทั้งนี้ การต่อต้านทุจริตไม่ใช่ภาระแต่เป็นภาระกิจประชาชน เครือข่ายที่อยู่ในชุมชน 20-30 ประเภท เรื่องงบ เราได้งบไป 4-5 ล้านบาท ปีนี้ได้ 12-13 ล้านบาท เวลางบมาจะใช้งบให้มากที่สุดได้อย่างไร
รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กทม. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเรื่องสิ่งสำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ต้นจนถึงการตรวจรับงาน ต้องเปิดเผยสัญญาทางปกครอง และต้องมีเครื่องมือให้ประชาชนตรวจสอบ จากประสบการณ์ที่เคยฟ้องศาลอาญาทุจริตในคดีทุจริตภาครัฐแต่ถูกปฏิเสธเพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย ทั้งที่ยกมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญเรื่องหน้าที่ปวงชนชาวไทย แต่จากที่เคยถาม มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้รับคำชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญต้องการให้ข้าราชการเป็นผู้ฟ้อง ต่อมาให้มูลนิธิผู้บริโภคฟ้องต้องใช้เวลาสองปีกว่าที่ยอมให้มูลนิธิเป็นผู้ฟ้องได้ ดังนั้นคิดว่าควรจะทำลิสต์ผู้ที่มีสิทธิฟ้องขึ้นมาให้ชัดเจน
ภาคประชาชนตื่นตัวร่วมตรวจสอบปราบโกง
ในวงเสวนาหัวข้อ “โปร่งใสแบบไหนไม่ติด Lock ถ้าประชาชนมีส่วนร่วม” พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER กล่าวว่า เมื่อประชาชนตื่นตัวในการต่อต้านการทุจริตก็ควรมีกลไก หรือเครื่องมือสำหรับการตรวจสอบ ยกตัวอย่างกรณี GT200 การเข้าไปตรวจสอบงบประมาณ 7.5 ล้านบาท ต้องแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือต้องเข้าไปดูเว็บไซต์ของกรมสรรพวุธทหารบก เพื่อดูแบบการจัดซื้อจัดจ้าง เว็บไซต์ภาษีไปไหนดูสรุปการจัดซื้อจัดจ้าง สาม เว็บเครื่องมือสู้โกง ACT Ai เพื่อดูรายละเอียด ส่วนที่สองคือต้องไปดูที่กรมบัญชีกลางเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างแต่มีเวลาไม่กี่วันเพราะข้อมูลจะแสดงย้อนหลังในเว็บไซต์แค่หนี่งเดือน สะท้อนให้เห็นว่าแค่เรื่องเดียวแต่ต้องหาข้อมูลหลายแหล่ง อีกทั้งข้อมูลที่ได้ก็มีทั้งรูปแบบไฟล์พีดีเอฟ ไฟล์รูป และเลขไทย ดังนั้น เรื่องการเปิดเผยข้อมูลจึงต้องการให้เกิดการสร้างฐานข้อมูลเดียว ที่สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่มีรายละเอียด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประชาชนตื่นตัวในการร่วมตรวจสอบมากขึ้น เห็นได้จากยอดเอ็นเกจเม็นต์ที่สูงต่อข่าวการทุจริต ใช้อำนาจมิชอบที่คนสนใจแชร์ แต่ก็ยังไปต่อลำบาก นำมาสู่เรื่องข้อเสนอเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ปัจจุบันมีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร 2540 ที่ค้างอยู่ที่สภาฯ แต่เห็นว่าหากยึดตามร่างของครม. ไม่แก้จะดีกว่า เพราะเป็นการรวมร่างของข้อมูลข่าวสารและข้อมูลความมั่นคงที่ทำให้เกิดการผิดฝาผิดตัว ต่างจากร่างของพรรคก้าวไกลที่เปลี่ยนมายด์เซ็ตว่าข้อมูลข่าวสารไม่ใช่ของราชการแต่เป็นของทุกคน การไม่เปิดเผยเพราะเรื่องความมั่นคงจะต้องเป็นแค่บางเรื่องบางถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเท่านั้น
ด้าน วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ผลักดันร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะ กล่าวว่า สมการการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันคือ ‘ดุลพินิจ’ ลบด้วย ‘การตรวจสอบ’ ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาเรื่องการใช้ดุลพินิจทั้งการกำหนดหลักปฏิบัติหนึ่งสองสามสี่ เพื่อลดการใช้ดุลพินิจหรือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตัดสินใจร่วมกันหลายคน อีกด้านคือการเพิ่มกลไกการตรวจสอบทำให้ข้อมูลรัฐโปร่งใส่มากขึ้น นำมาสู่การเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ที่เปลี่ยนตั้งแต่ชื่อว่าไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารราชการแต่เป็นเรื่องของสาธารณะ หากยึดหลักนี้ก็จะเปลี่ยนวิธีคิดได้ โดยได้ไปดูแนวทางจากประเทศเอสโตเนียที่เขียนว่าข้อมูลภาครัฐในฐานข้อมูลต้องเปิดข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่งทำให้ทุกอย่างต้องเปิดเผยก่อนส่วนหน่วยงานไหนมองว่ามีเรื่องลับก็ไปปิดข้อมูลเป็นรายการไป หากทำแบบนี้ได้ก็จะทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลการงบประมาณ ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาตรวจสอบข้อมูลการทุจริตการจัดซื้อจัด
ขณะที่ ธนิสรา เรืองเดช WeVis เทคโนโลยีประชาชน เพื่อประชาธิปไตย มองว่า WeVis เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หวังอยากจะเห็นภาพการค้นหาข้อมูลภาครัฐทำได้เหมือนเสิร์ชกูเกิล ซึ่งทำงานมาเกือบสามปีก็เริ่มมีความหวัง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเช่นการเปิดเผยข้อมูลที่ยังมีข้ออ้างที่จะไม่เปิดเผย ไปจนถึงการเชื่อมต่อกับกลไกภาครัฐ และการประสานงานที่เหมือนพูดกับกำแพง ไม่รู้ว่าตอนนี้เรื่องไปถึงไหน ต้องตามต่ออย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีงานที่ทำไปคือเรื่องการตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่เปิดให้ใช้ได้ก่อนอภิปรายงบฯ ในวาระ1 ประมาณหนึ่งสัปดาห์ พบว่ามีคนเข้ามาดูเกือบแปดแ สนคนดังนั้นจะบอกว่าประชาชนไม่ตื่นตัวไมได้ รวมทั้งมีส.ส.หลายพรรค ติดต่อประสานเรื่องข้อมูลเพิ่มเติม หลายคน
อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ผ่านมาพบอุปสรรคหรือหินในการทำงานสี่ก้อน หนึ่งคืการมี “ข้ออ้าง” มากกว่า “ข้อมูล” ยกตัวอย่างเคยขอข้อมูลใช้เวลา 11 เดือนกว่าจะได้ก็ทำให้คำถามในวันนั้นถูกลืมหายไปกับสังคมแล้ว ประโยคที่จะได้ยินบ่อยของคนรุ่นใหม่คือ ๆ เขาไม่เขาใจว่าทำไมไม่เปิดข้อมูลถ้าไม่โกง ก็ไม่ต้องกลัวที่จะเปิดข้อมูล สอง รัฐบาลมีช่องทาง แต่ไม่เคยถามประชาชนว่าใช้ช่องทางใช้ลำบากหรือไม่ หรือแบบไหนที่อยากได้ กลไกแบบไหนเหมาะสม หลายประเทศ มี Government Design Service เราอาจต้องมาออกแบบใหม่ สาม ประชาชนอยากช่วย แต่ไม่มีระบบติดตาม แต่ล่าสุดเห็นตัวอย่าง โครงการเส้นเลือดฝอยของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ระบุว่าข้อมูลที่รับมาไปถึงไหน ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่มีระบบติดตามว่าแต่ละเรื่องไปถึงไหนอย่างไร และสุดท้าย ความหวังแก้ปัญหาคอร์รัปชัน มีคนบอกว่าการปราบคอร์รัปชันก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน ซึ่งก็ต้องหาควิกวินที่เห็นผลในระยะสั้น ถ้าบอกว่า ประชาชนไม่ดังพอ แต่ตอนนี้สะท้อนให้เห็นว่าเสียงดังมากแล้ว ดังจะเห็นจากยอดเอ็นเกจเม็นท์ในเรื่องของการตรวจสอบทุจริต ภาครัฐจะทำอะไรได้อีก ควิกวินที่จะปลดล็อกอะไรอีกหลายเรื่องคือ การแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร
ต่อภัสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้ง HAND Social Enterprise กล่าวว่า การต่อต้านการคอร์รัปชันสิ่งสำคัญคือประชาชน ถ้าไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ การต่อต้านก็จะไม่มีประสิทธิภาพแน่นอน โดย ‘ควิกวิน’ ที่สำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลที่จะส่งผลต่อดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) จากที่ได้ไปพบกับ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เพื่อพูดคุยถึงเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน พบว่ามีหลายเรื่องที่ทำได้ เช่น ข้อตกลงคุณธรรมที่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาช่วยให้ประเทศประหยัดงบไปได้ถึงแสนล้านบาท การเปิดเผยข้อมูลที่ทาง ACT Aiดึงข้อมูลมา 22 ล้านชุด เพื่อทำให้ค้นหาได้ง่าย ซึ่งได้พูดถึงการเชื่อมต่อกับระบบ กทม. ที่จะมีข้อมูลรายเขต ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมืออื่นๆ ตามมาอีกมาก
สุดท้ายคือประเด็นเรื่องการใช้ดุลพินิจ ที่อาจปรับแก้ให้ลดการใช้ดุลพินิจ เช่น การออกใบอนุญาตโดยไม่จำเป็น ลดการพบปะ คนต่อคน ก็จะช่วยลดโอกาสคอร์รัปชัน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะเกิดขึ้นได้จริงแค่ไหน แต่ก็มีความหวังหากรับแนวทางนี้ไปใช้ก็มีโอกาสความสำเร็จสูง กทม.อาจจะเป็นอีกต้นแบบโปรโตไทป์ ในการพัฒนาหรือเป็นแซนด์บอกซ์ ขนาดใหญ่ โดยสมการใหญ่ คนยังเป็นหลักสำคัญ และต้องมีข้อมูล เมื่อมี “คน” และ “ข้อมูล” การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้