มูลนิธิรักษ์ไทย ชี้เป็นทางเลือกให้ผู้ใช้สารเสพติดกว่า 4 หมื่นคน เข้าถึงบริการสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ แต่ผู้ให้บริการ ยังมีจำกัดเหตุขาดการสื่อสาร ไร้งบฯ สนับสนุน
วันนี้ (25 มิ.ย.67) มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับ ภาคประชาสังคม และ หน่วยงานรัฐ จัดประชุมสัมมนาเนื่องใน วันต่อต้านยาเสพติดโลกประจำปี 2567 หัวข้อ “จากกฎหมายสู่การปฏิบัติ กับการลดอันตรายจากยาเสพติด” มุ่งเน้นความสำคัญของการลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) ภายใต้พระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ประชาสังคม และหน่วยงานระหว่างประเทศที่ทำงานด้านยาเสพติด
นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันยาเสพติด ยังคงเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐบาลจึงกำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นนโยบายเร่งด่วนในการบริหารราชการ โดยยึดหลัก ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา ผู้ค้า คือผู้ที่ต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม เร่งรัดปราบปรามยาเสพติด และป้องกันไม่ให้กลุ่มเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด โดยใช้การบูรณาการของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม
ทั้งนี้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการปรับมุมมองของสังคมในการให้โอกาสผู้เสพกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขภายหลังการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน และลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดและพฤติกรรมของผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนการศึกษาค้นคว้า วิจัย และพัฒนาแนวทางและมาตรการในการบำบัดรักษาทุกรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ ร่วมถึงส่งเสริมการให้บริการ Harm reduction
ขณะที่ พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย บอกว่า ในปี 2564 รัฐบาลได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านยาเสพติดในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมมีการพัฒนารูปแบบการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการนำมาตรการ “การลดอันตรายจากยาเสพติด” มาใช้ในการดำเนินการโดยมุ่งหวังให้เกิดผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและ เป็นแนวทางในการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขสถานการณ์ผู้เสพและผู้ติดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ภายใต้โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR หรือ STAR ดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยมีการดำเนินงานในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดใน 22 จังหวัด มีการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เสพ ผู้ติดสารเสพติด ชุมชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้ ผู้ใช้สารเสพติดกว่า 40,442 คน สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และลดอันตรายจากสารเสพติด มีการแจกอุปกรณ์ เช่น เข็มและอุปกรณ์สะอาด จำนวน 2,840,655 ชิ้น ได้รับการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 13,000 คน และส่งต่อบริการสารทดแทนสารอนุพันธ์ฝิ่น จำนวน 1,290 คน
ภายใต้การทำงานโครงการ STAR กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่ได้รับบริการลดอันตรายจากสารเสพติดเป็นกลุ่มที่เข้าถึงยากที่สุด คือกลุ่มฉีด ซึ่งเป็นสัดส่วน 2% ของผู้ใช้สารเสพติดทั้งหมด ผู้ใช้สารเสพติดในประเทศไทยอีก 98% ยังไม่ได้รับบริการลดอันตรายจากสารเสพติด จึงจำเป็นต้องขยายการดำเนินงาน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สารเสพติด และชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและร่วมจัดบริการ เพื่อให้ครอบคลุมผู้ใช้สารเสพติดทุกคน
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบำบัด รักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ได้ประกาศแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบำบัด รักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดจำนวน 6 คณะ ในการกำกับ ติดตาม กำหนดมาตรฐาน และพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการประสานนโยบาย ในการจัดการและดูแลผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด และได้มีการประกาศอนุบัญญัติภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 จำนวน 9 ฉบับ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดในวันที่ 17 มิ.ย.67 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ (ฉบับที่ 2) ที่เกี่ยวข้องกับปริมาณการครอบครอง “แอมเฟตามีน” ประกาศกระทรวงฉบับนี้ส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินงานลดอันตรายจากยาเสพติด ตามแนวทาง 9 ฉบับที่ได้มีการกำหนดไว้
“การลดอันตรายจากยาเสพติดเป็นมาตรการที่ต้องกระทำควบคู่กับกระบวนการบำบัดรักษาในทุกกระบวนการ และวิธีการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดทุกรูปแบบ โดยการเสริมสร้างให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายลดลง แม้จะยังไม่สามารถหยุดใช้ยาเสพติดได้ เพื่อเป็นการยืดหยุ่นวิธีการรักษาที่ยึดความพร้อมของผู้ติดยาเสพติดเป็นฐาน โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์ และความเข้าใจธรรมชาติของผู้ใช้ยาเสพติด โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทุกภาคส่วน”
พร้อมบุญ พานิชภักดิ์
มูลนิธิรักษ์ไทย พร้อมเครือข่ายยังร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงรัฐบาลเสนอให้มีการจัดประชุมอนุกรรมการบำบัดยาเสพติดแห่งชาติ เพื่อพิจารณาการดำเนินการลดอันตรายจากยาเสพติดในประเทศไทย
ซูฮายนงค์ สมาเฮาะ กลุ่ม Care Team Songkhla ยอมรับว่า สิ่งสำคัญในการทำงานลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดในพื้นที่ คือการสร้างมุมมองทัศนคติเกี่ยวกับยาเสพติดแบบตรงไปตรงมากับผู้เกี่ยวข้องในระดับการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การรับฟัง ไม่ตัดสิน ทำความเข้าใจร่วม เปิดใจ พูดคุยอย่างสร้างสรรค์ สร้างกลไกสะท้อนปัญหาจากกลุ่มเป้าหมาย บูรณาการร่วม หน่วยงาน ภาคี ความร่วมมือ ชุมชน ผู้ปกครอง ต่อกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด Care Team ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ใน จ.สงขลา
จนเกิดการดำเนินงานร่วมกันในพื้นที่ เปิด ศูนย์บริการสารทดแทนอนุพันธ์ฝิ่น (เมทาโดน) เกิดการดำเนินงานร่วมทุกภาคส่วนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในเป้าหมายเดียวกัน สร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างการเปลี่ยนแปลง เกิดการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดกับผู้ใช้สารเสพติดทั้งที่พร้อมและไม่พร้อมจะหยุดใช้ยาได้อย่างปลอดภัย เช่น คำพูดหนึ่งจากเจ้าของปัญหา ได้รับโอกาสเข้ามาทำงานที่มีใจอยากช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน “เมทาโดนได้รับ เฮโรอีนไม่ใช้ เงินมีเหลือใช้ คุณภาพชีวิตดีขึ้น ครอบครัว ชุมชนให้การยอมรับ”
พรหมมินทร์ กิตติคุณประเสริฐ ผู้จัดการกลุ่มมอบความหวัง ระบุถึงผลของนโยบายกฎหมายยาเสพติด ต่อการทำงานกระบวนการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ซึ่งช่วยทำให้ผู้ใช้สารเสพติด ได้รับข้อมูลของยาเสพติดอย่างรอบด้าน เกิดความเข้าใจ ได้รับการ เตรียมความพร้อม จากอาสาสมัครภาคประชาสังคม จนมีผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดยาเสพติดมากขึ้น อยู่ในระบบการบำบัดยาเสพติดได้ต่อเนื่องขึ้น จนมีผู้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงบวก และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
“นโยบายกฎหมายยาเสพติด ที่มีการกำหนดรูปแบบการบำบัดยาเสพติด โดยแนวทางการลดอันตรายจากยาเสพติดนั้น ทำให้แนวคิด ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ได้รับการปฏิบัติที่เป็นจริงมากขึ้น การจับกุมผู้ใช้ยาที่ไม่มีของกลางยาเสพติดในตัว จะถูกส่งต่อเข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาล ซึ่งมีกระบวนการการคัดกรองว่า เป็นผู้เสพ ผู้ติด หรือผู้พึ่งพิง ประเมินอาการ ประเมินตัวยาที่ใช้ ประเมินสุขภาพ และใช้รูปแบบการบำบัด รักษา ที่เหมาะสมกับผู้ใช้ยาแต่ละราย ”
พรหมมินทร์ กิตติคุณประเสริฐ
ข้อมูลทางสถิติของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้คาดประมาณว่า ในปี 2562 มีผู้ใช้สารเสพติดสะสมจำนวนประมาณ 3.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 74 ต่อ 1,000 ของประชากรอายุ 12-65 ปี และในทางระบาดวิทยา พบว่า มีผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดร้อยละ 2 ของผู้ใช้สารเสพติดทั้งหมด มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 8, ซิฟิลิส ร้อยละ 9, ไวรัสตับอักเสบซี ร้อยละ 22 และ ไวรัสตับอักเสบบี ร้อยละ 9 รวมถึงสถิติการเข้าบำบัดในระบบเพียงปีละ 192,656 คน และจำนวนผู้ผ่านการบำบัด 2 ใน 3 กลับมาเสพซ้ำเมื่อกลับสู่ชุมชน