เพิ่มทางเลือกผู้เสพลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ผอ. IHRI ชี้แนวทางการจัดการด้านสุขภาพ ควรมีทางเลือกมากกว่าการบังคับให้เลิกเสพ ขณะที่ เลขาธิการ สปสช. รับข้อเสนอไปพิจารณา แต่ต้องขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการให้ชัด ป้องกันการส่งเสริมใช้ยาเสพติด ผิดวัตถุประสงค์
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 67 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตัวแทนผู้ใช้สารเสพติด เครือข่ายภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ยื่นข้อเสนอการดำเนินนโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการ สปสช. โดยเสนอให้ใช้ แนวทางการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) มาใช้จัดบริการทางสุขภาพ บริการทางสังคม และบริการทางกฎหมาย
กุลกานต์ จินตกานนท์ ตัวแทนผู้ยื่นข้อเสนอ ยอมรับว่า เป็นผู้ใช้ยาเสพติด และมีเพื่อนผู้ใช้ยาหลายคนที่ต้องเสียชีวิตไปเพราะใช้ยาเกินขนาด ไม่มีทั้งความรู้การใช้ยาอย่างปลอดภัย ไม่มียา นาล๊อคโซน (Naloxone) เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที บางคนยังถูกกระทำความรุนแรง ถูกบังให้เข้ารับบำบัดทั้งที่เป็นเพียงผู้เสพ หรือครอบครองเพื่อเสพ ซึ่งรัฐบาลนี้มีนโยบาย ผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องไปเข้ารับการบำบัด แต่ก็ควรมีทางเลือก สำหรับการบำบัดที่มากกว่าการส่งเข้าโรงพยาบาลธัญญารักษ์ พยายามทำให้เลิกเสพ แต่สุดท้ายก็ยังกลับมาเสพซ้ำ แถมเป็นการบำบัดที่ค่อนข้างทรมาน
“สิ่งที่ผู้ใช้สารเสพติดต้องการคือการสนับสนุน ไม่ใช่การลงโทษ ไม่ใช่การจับไปขัง หรือบังคับบำบัดพยายามทำให้หยุดหรือเลิกใช้สารเสพติด แต่สิ่งที่รัฐหรือผู้เกี่ยวข้องต้องทำก่อนที่จะให้พวกหยุดใช้สาร คือต้องทำให้พวกเราปลอดภัยก่อน เพราะเมื่อเราปลอดภัย จะสามารถใช้ชีวิตคิดถึงอนาคตตัวเองได้มากกว่าที่เป็นอยู่”
กุลกานต์ จินตกานนท์
นำมาสู่ข้อเสนอแนะให้ สปสช. พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ Harm Reduction Service Package เป็นบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่สามารถเบิกจ่ายได้ อันประกอบด้วย
- บริการด้านการใช้สารโดยเฉพาะ เช่น การให้เข็มและอุปกรณ์ฉีดยาสะอาด
- การจัดการกรณีการใช้สารเสพติดเกินขนาดด้วยยานาล็อคโซน ที่เข้าถึงได้ในชุมชน
- บริการด้านสุขภาวะทางเพศ
พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผอ.บริหารสถาบันวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าในบรรดาจำนวนผู้เสพยาทั้งหมดจะมีเพียง 10% ที่มีปัญหาการเสพติดรุนแรง ขณะที่อีก 90% ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งแนวทางการจัดการด้านสุขภาพควรจะมีทางเลือก มากกว่าการบังคับให้เลิกเสพ จึงสนับสนุนแนวทาง แนวทางการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ที่เรียกว่า Harm Reduction
พญ.นิตยา บอกด้วยว่า มีตัวยา 2 ชนิดที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการ Harm Reduction ซึ่งต้องบรรจุอยู่ในสิทธิประโยชน์ของ สปสช.
- เมทาโด เป็นสารทดแทนเฮโรอีน ใช้เพื่อบำบัดผู้เสพติดเฮโรอีน ให้ไม่ให้เกิดอาการลงแดงขณะเลิกเสพ
- นาล็อคโซน เป็นตัวยาที่ใช้รักษาอาการเสพยาเกินขนาด
โดยยาทั้ง 2 ตัวนี้ควรจะให้ชุมชน หรือองค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นหน่วยบริการ จ่ายยาเหล่านี้กับผู้เสพเอง ไม่จำกัดอยู่ในหน่วยบริการของรัฐ เพื่อสร้างความไว้ใจและให้ผู้เสพเข้าถึงบริการมากขึ้น
“รัฐบาลนี้ระวังมากที่จะไม่ทำสงครามยาเสพติด จะไม่มีคนถูกฆ่าให้ตาย แต่การบังคับคนมาเข้าสู่การบำบัด มันก็อาจจะเป็นสงครามยาเสพติดอีกแบบหนึ่ง แต่เป็นภาพของด้านสุขภาพ แต่คุณยังจับคนทำโทษ บังคับคนมาเข้าสู่การบำบัด ”
พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์
ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เห็นด้วยกับข้อเสนอภาคประชาชน แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน และมองว่า องค์กรที่จะเป็นผู้ให้บริการ แนวทาง Harm Reduction จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนมีตัวตนชัดเจนไม่ใช่ใครก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นการส่งเสริมการใช้ยาเสพติด ซึ่งผิดวัตถุประสงค์