ภาคประชาชน ชี้ สังคมตื่นตัว ตอกย้ำความต้องการดูแลชีวิตระยะท้ายอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ แพทย์ ยอมรับ การดูแลแบบประคับประคองยังมีช่องว่าง ขาดตำแหน่ง ขาดความรู้ ขาดผู้ดูแล มองเกิด ‘กฎหมายการุณยฆาต’ ในสังคมไทยไม่ง่าย
เมื่อวันนี้ 25 ม.ค. 68 คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับกลุ่ม Peaceful Death, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ช่อง ONE 31 จัดเวทีเสวนา “การุณยฆาต” กับการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยในหัวข้อ “ช่องว่างการดูแลแบบประคับประคองในระบบสุขภาพไทยสังคมไทยพร้อมหรือไม่กับการุณยฆาต” ได้กลายเป็นพื้นที่แห่งการถกเถียงเรื่อง “สิทธิการตายดี” อีกครั้งในประเทศไทย

ขาดตำแหน่ง ขาดความรู้ ขาดผู้ดูแล
และอีกช่องว่างมากมายของการดูแลแบบประคับประคอง
สำหรับสถานการณ์การดูแลแบประคับประคองในไทยตอนนี้ แม้จะถูกยกระดับการพูดคุยให้เกิดขึ้นในวงกว้างมากขึ้นกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ในเชิงหลักการ ประเทศไทยดำเนินตามเกณฑ์หลักของการดูแลผู้ป่วยได้อย่างไม่ครอบคลุมนัก
พญ.จิราภา คชวัตร แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวด้านการดูแลแบบประคับประคองศูนย์ชีวาประทีป รพ.สิรินธร อธิบายว่า โดยหลักการขององค์การอนามัยโลก การดูแลแบบประคับประคองต้องประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ นโยบาย, การศึกษา, ยา และทรัพยากร
“ภาครัฐมีนโยบายชีวาภิบาลก็จริง และไม่ใช่การดูแลแค่ผู้ป่วยระยะท้ายเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งผู้ดูแลหลักยังคงเป็นหมอพาลิอยู่ แต่กลับไม่เคยได้รับการสนับสนุนทั้ง เงิน คน ของ และตำแหน่ง ทั้งที่ภาระงานเยอะขึ้น”
พญ.จิราภา คชวัตร

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวด้านการดูแลแบบประคับประคองศูนย์ชีวาประทีป รพ.สิรินธร
ในส่วนหลักสูตรของสถาบันการศึกษาก็ยังคงมีปัญหา เนื่องจากหลักสูตรแพทยศาสตร์บันฑิตเองกลับมีการเรียนการสอนเรื่องผู้ป่วยระยะท้ายและการดูแลแบบประคับประคองน้อยมาก (แม้จะมากกว่าที่ผ่านมาในอดีตแล้ว) ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เองก็มีความรู้ ความเข้าใจน้อย โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่
“นักศึกษาแพทย์เรียนทั้งหมด 6 ปี แต่บางที่กลับได้เรียนเรื่องการดูแลแบบประคับประคองแค่ 1 ชั่วโมง ส่วนตัวเราเองนั้นไม่เคยได้เรียนเลยด้วยซ้ำ หมอจบใหม่ ๆ ก็เลยไม่มีความรู้ และดูแลผู้ป่วยไม่ได้ ในบางคนก็มีความเชื่อผิด ๆ ว่า การดูแลแบบประคับประคอง หรือการให้มอร์ฟีนทำให้คนไข้ตายเร็วขึ้น”
พญ.จิราภา คชวัตร
พญ.จิราภา ขยายความว่า ด้วยการขาดความรู้ของบุคลากร เมื่อถึงเวลาที่เจอคนไข้ระยะท้ายก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไร เกิดความบกพร่องในการดูแลรักษาตามมาได้ เช่น ในบางโรงพยาบาลมีหมอพาลิ จำนวนไม่มาก ทำให้ไม่สามารถดูแลคนไข้ได้ 24 ชั่วโมง หากคนไข้ระยะท้ายที่เริ่มมีอาการไม่สุขสบาย หมอที่ดูแลในช่วงเวลานั้นอาจเลือกใส่ท่อช่วยหายใจให้ ทั้ง ๆ ที่คนไข้มีเจตนารมณ์ไม่ใช้อุปกรณ์พยุงชีพ
กรณีดังกล่าวอาจเกิดจากการไม่กล้าใช้มอร์ฟีนซึ่ง พญ.จิราภา อธิบายว่า การจัดการความทุกข์ทรมานคนไข้ระยะท้ายทำได้ด้วยการให้ยาหลายแบบ แต่กลับไม่มีแพทย์สั่งใช้ เนื่องจากไม่ได้เรียนมา ทำให้ไม่กล้าสั่งยา ทำให้คนไข้เข้าถึงการดูแลระยะท้ายยากยิ่งขึ้นอีก
พญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร ผู้เขียนนิยายการุณยฆาต นามปากกา Sammon เสริมว่า 4 เสาหลักที่กล่าวมา ประเทศไทยยังขาดทั้งหมด
“เรายังไม่มีกลุ่มงานด้านพาลิทีฟที่ชัดเจน บุคลากรบางท่านมีตำแหน่งอยู่ในวอร์ดอายุรกรรม แต่เลือกจะมาทำงานพาลิด้วย แต่งานด้านพาลิกลับไม่ตำแหน่งและสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพไม่ได้ แม้จะมีใจ แต่การทำงานควบ 2 อย่างนาน ๆ เขาก็ไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องออกจากพาลิ และกลับไปอยู่อายุรกรรมเหมือนเดิม”
พญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร
สอดคล้องกับ วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานโครงการชุมชนกรุณากลุ่ม Peaceful Death แชร์มุมมองของภาคประชาชน ว่า ช่องว่างขนาดใหญ่หนึ่ง ที่เป็นปัญหาของประชาชนคือ “ผู้ดูแล” เนื่องจากเราอยู่ในสังคมสูงวัย หลายครอบครัวไม่มีลูกหลานดูแล หรือเลือกเป็นโสด ตอนนี้ผู้คนจึงไม่ได้กังวลว่าจะตายดีได้อย่างไร แต่กังวลว่าจะมีใครสักคนไหม ที่จะเป็นผู้ดูแลเขาอยู่ข้าง ๆ เขาจนกว่าจะตายมากกว่า
พญ.อิสรีย์ อธิบายเพิ่มเติมว่าา บ่อยครั้งที่มีเคสขอให้คนไข้ระยะท้ายตายที่โรงพยาบาลแทนที่จะกลับบ้าน เพราะครอบครัวทำนหน้าที่ ผู้ดูแล ไม่ไหว มีงานประจำต้องทำ หากนำผู้ป่วยกลับบ้าน คนดูแลจะขาดรายได้สำหรับมาดูแลครอบครัวที่ยังต้องดำรงชีวิตอยู่ต่อไป และบางรายอาศัยอยู่ในบ้านเช่า การเอาคนป่วยกลับมาตายที่บ้านจะทำให้มีปัญหากับเจ้าของบ้านเช่าได้

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ผู้เขียนนิยายการุณยฆาต นามปากกา Sammon
และบางครั้ง แม้จะส่งผู้ป่วยกลับไปตายที่บ้านได้จริง แต่การถอดเครื่องพยุงชีพออกไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการประสานกับชุมชนซึ่งบางแห่งก็ไม่พร้อมดูแลต่อ หรือบางครั้งทีมพาลิมีการให้มอร์ฟีนใต้ผิวหนังกับคนไข้เพื่อให้เขาสุขสบายเมื่อกลับบ้าน แต่ชุมชนกลับมีความรู้เรื่องนี้กลับน้อยมาก ไม่รู้ว่าต้องใช้อุปกรณ์และยาต่าง ๆ อย่างไร
แม้จะมีจุดติดขัดเกิดขึ้นมากมาย แต่ตลอดหลาย 10 ปี มานี้ เส้นทางการทำงานด้านดูแลแบบประคับประคองในไทยใช่ว่าจะไม่มีพัฒนาการใดเลย โดย วรรณา เล่าถึงการทำงานเรื่องการอยู่ดี-ตายดีมานานหลายสิบปี วันนี้ได้เห็นการตื่นตัวของประชาชนอย่างก้าวกระโดด และได้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นความต้องการของประชาชนจริง ๆ
“ในต่างประเทศเขาพูดเรื่องนี้กันมา 30 ปีแล้ว แต่บ้านเราเพิ่งพูดเรื่องนี้กันเมื่อสิบกว่าปีมานี้เอง แต่เรากลับเห็นพัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เราเห็นการเข้าถึงยามากขึ้น หากย้อนไปหลายปีก่อน คนได้ยินชื่อยา ‘มอร์ฟีน’ ก็จะไม่เอาเลย เพราะมีความเข้าใจผิด หรือคิดว่าเร่งให้ตาย ทั้งที่จริง ๆ แล้วเป็นตัวช่วยลดความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยระยะท้ายต่างหาก”
วรรณา จารุสมบูรณ์
อีกส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าที่แม้จะจับต้องได้ยาก แต่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ความตระหนักในสังคม หรือ public awareness
“เมื่อก่อน หากเราพูดเรื่องการวางแผนการดูแลสุขภาพล่วงหน้า หรือวางแผนการตาย คนไม่อยากพูดถึงหรอก มันไม่เป็นมงคล แต่ตอนนี้เราเห็นกระแสจากโซเชียล มีเดียมากขึ้น มีคนทำสมุดเบาใจแล้วแชร์ออกไป ทำให้สังคมเกิดการรับรู้มากขึ้น”
วรรณา จารุสมบูรณ์
ทุกฝ่ายชี้ไทยไม่พร้อมการุณยฆาต!
พญ.จิราภา อธิบายว่า โดยปรัชญาของพาลิทีฟแคร์คือการ ไม่ยื้อแต่ไม่เร่ง (การเสียชีวิต) และยอมให้เป็นการตายโดยธรรมชาติ ซึ่งการการุณยฆาตอาจขัดแย้งในหลักการนี้ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น บ้านเราควรหันกลับมาเข้าใจเรื่องพาลิทีฟแคร์ ให้มากกว่านี้เสียก่อน
“โดยปกติ ถ้าเรารู้ว่าผู้ป่วยอยู่ในะระยะท้าย เราจะมุ่งที่การดูแลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและลดความทุกข์ทรมานจากโรค หากมีการุณยฆาตเกิดขึ้นจะทำให้การทำงานด้านพาลิทีฟลำบาก เพราะคนไข้บางรายอาจถูกตัดจบไปที่การุณยฆาตเลย”
พญ.จิราภา คชวัตร
จากประสบการณ์การทำงาน พญ.จิราภา ยังเล่าอีกว่า แม้ในกระแสโซเชียลจะเทไปทางอยากให้มีการุณยฆาตในประเทศไทย แต่ในชีวิตจริงแล้ว คนไข้ที่ตนเองเคยดูแลมาเกือบพันคน กลับมีเพียงแค่สิบกว่าคนเท่านั้นที่ร้องขอการุณยฆาต และเชื่อว่ามีสังคมเห็นไปทางนั้นเป็นเพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่มั่นใจว่าจะได้รับการดูแลที่ดีในระยะท้ายต่างหาก
สอดคล้องกับ พญ.อิสรีย์ ที่แสดงความกังวลว่า หากมีการุณยฆาตจริง อาจทำให้คนไข้ระยะท้ายบางรายเสียโอกาสในการมีชีวิตต่อไปอีกระยะ และแม้จะเป็นการตัดสินใจของเขาเอง แต่อาจมาจากการขาดแคลนทรัพยากรด้านต่าง ๆ จนคิดว่าตนเองกลายเป็นภาระ
“ที่วอร์ดพาลิ มีผู้ป่วยกว่าครึ่งที่ยังไม่ได้เข้าเกณฑ์การเป็นผู้ป่วยระยะท้าย แต่กลับต้องมาอยู่วอร์ดนี้เพียงเพราะญาติดูแลไม่ได้หรือไม่มีทรัพยากรในการดูแล และในลักษณะเดียวกัน หากมีการุณยฆาต ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยที่อาจยังมีโอกาสรักษาต่อไปได้อีก กลับเลือกจบชีวิตลงอย่างน่าเสียดายก็เป็นได้”
พญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร
อย่างไรก็ดี พญ.อิสรีย์ ให้ความเห็นว่า แม้การุณยฆาตจะกลายเป็นทางเลือกให้คนไข้ได้ แต่ยังมีข้อจำกัดอีกยาวไกล และมีอีกหลายมิติที่ต้องถกเถียงกันต่อ ที่ไม่ใช่เพียงมิติทางการแพทย์ หรือกฎหมาย แต่ครอบคลุมไปถึงมิติทางสังคม ความเชื่อ วัฒนธรรมด้วย
“ในทางพุทธ การตีความเรื่องการุณยฆาตยังเป็นเรื่องคลุมเครือว่าจะเป็นบาปหรือไม่ ในขณะที่ ศานาคริสต์ และอิสลาม กลับไม่เห็นด้วยเลย เพราะมองว่าชีวิตไม่ได้เป็นของเรา เรากำหนดเองไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้าต่างหากที่เป็นผู้กำหนด”
พญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร
นอกจากนี้ หากมองมิติที่ลึกไปกว่านั้น เมื่อลองได้สำรวจจิตใจของคนที่ต้องการการุณยฆาตจริง ๆ เราอาจพบความเจ็บปวดระหว่างทางจนทำให้อยากจะจบชีวิตซ่อนอยู่ก็เป็นได้

ประธานโครงการชุมชนกรุณากลุ่ม Peaceful Death
วรรณา ในฐานะของผู้มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชนมาอย่างยาวนาน อธิบายเรื่องนี้ด้วยว่า การได้ลงพูดคุยกับผู้ป่วยระยะท้ายทำให้เห็นความต้องการและความรู้สึกที่แท้จริงซ่อนอยู่มากมาย
“หลายครั้งที่คนร้องขอยุติชีวิตมันมีเบื้องหลังซ่อนอยู่เสมอ เราเจอว่าคนเกือบทั้งหมดต้องการ เพราะเขาเข้าไม่ถึงการดูแลความเจ็บปวดช่วงท้ายของชีวิตอย่างเพียงพอ จึงอยากจะไปให้พ้นจากช่วงเวลาแห่งความทุกข์นี้เสียที พวกเขาเลือกทางนี้เพราะกังวลอนาคตการตายของตัวเองต่างหาก”
วรรณา จารุสมบูรณ์
และอีกส่วนคือ คนที่มีไม่ได้มีความทุกข์จากร่างกาย แต่เกิดจากภาวะสังคมที่ดิ้นรน กดดัน บีบคั้น ทำให้การมีชีวิตอยู่นั้นยากเกินไป
“ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพสังคมตอนนี้ว่า ขนาดคนธรรมดาที่ไม่เจ็บป่วยยังมีชีวิตอยู่ยังยากเลย และยิ่งถ้าเป็นคนป่วยที่เข้าถึงการดูแลอย่างยากลำบาก ในสภาพที่สังคมทำให้เขาหลังชนฝาเช่นนี้ พวกเขาย่อมอยากจะมีทางเลือก และการุณยฆาตอาจเป็นสิ่งนั้น”
วรรณา จารุสมบูรณ์
ท้ายที่สุดแล้ว ทุกเสียงให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การเกิดกฎหมายการุณยฆาตในสังคมไทย อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน หรืออาจจะยาวนานจนชั่วชีวิตที่เราทันเห็นก็เป็นได้
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ปรากฎการณ์การถกเถียงเรื่องการุณยฆาตในสังคมไทย ไม่ได้มีมิติเพียงแค่เรื่องทางกฎหมายเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของสังคมทั้งระบบ ว่ารัฐจะดูแลความเจ็บป่วยให้ผู้คนอย่างไร
และไม่อาจสรุปว่า ผู้คนที่เรียกร้องเห็นชีวิตของตนเองนั้นไร้ค่า แต่เป็นเสียงตะโกนจากประชาชนที่บอกว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ แต่ไม่เคยมีใครได้ยินมากกว่า