ย้ำนโยบายล้างไต PD First ไม่บังคับ! – ฟอกเลือดยังฟรี

‘สมศักดิ์’ เผย ผู้ป่วยเก่ายังใช้วิธีเดิม ส่วนผู้ป่วยใหม่ หลัง 1 เม.ย. เน้นทำความเข้าใจร่วมกับแพทย์ เตรียมเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ 10,000 เครื่อง รองรับผู้ป่วยทั่วประเทศ หวังผู้ป่วยพื้นที่ห่างไกล ไม่ต้องเดินทาง พร้อมช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุถึง การพัฒนาระบบมาตรฐานและคุณภาพดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสิทธิบัตรทอง หลังจากที่ บอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ได้เห็นชอบ นโยบาย PD First หรือ การล้างไตทางช่องท้องเป็นทางเลือกแรก โดยระบบนี้ ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ตามประกาศ สปสช. เรื่อง หลักเกณฑ์กรณีบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฉบับใหม่

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. บอกว่า แนวทางการฟอกไตในระบบหลักประกันสุขภาพ ปัจจุบันการฟอกไตทั้งแบบใช้เครื่อง (HD) และล้างทางช่องท้อง (PD) ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วย ซึ่งเป็นสิทธิ์ของประชาชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ แนวทางหลักที่ส่งเสริมคือ การล้างไตทางช่องท้องที่บ้านก่อน (CAPD) หากผู้ป่วยไม่ต้องการวิธีนี้และประสงค์จะฟอกไตด้วยเครื่อง จะต้องให้แพทย์พิจารณาเป็นรายกรณี โดย มีทั้งปัจจัยด้านการแพทย์และสังคมร่วมประกอบการตัดสินใจ

นโยบายใหม่จะเน้น กระบวนการพูดคุยระหว่างแพทย์และผู้ป่วยอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยมีทีมแพทย์ในแต่ละเขตช่วยพิจารณา ไม่ใช่ให้แพทย์เจ้าของไข้ตัดสินใจคนเดียว เพื่อให้เกิดทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วย

นพ.จเด็จ บอกด้วยว่า ในบางกรณีการล้างไตทางเส้นเลือดอาจไม่เหมาะสม เช่น ผู้ป่วยติดบ้าน หรือติดเตียง ซึ่งหากพาผู้ป่วยไปฟอกไตด้วยเครื่อง ก็อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งนี้ยืนยันว่า เป้าหมายไม่ใช่การบังคับให้ล้างทางช่องท้อง แต่ต้องการให้มีการตกลงร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยว่าอะไรเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

การล้างไตทางช่องท้อง (PD)

ส่วนเหตุผลสนับสนุนการล้างทางช่องท้องมากขึ้น มาจาก บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ หากผู้ป่วยสามารถล้างไตเองที่บ้านได้ จะช่วยลดภาระของแพทย์ และพยาบาล ซึ่งในภาพรวมจะช่วยให้ระบบสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพมากขึ้น

สำหรับผู้ป่วยบางรายสามารถเลือกใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) ได้ โดยเครื่องจะทำงานเพียงวันละ 1 ครั้งตอนกลางคืน เหมาะกับผู้ที่ต้องทำงาน หรือเรียนหนังสือในช่วงกลางวัน ทั้งนี้ หากแพทย์เห็นว่าเหมาะสม ก็สามารถอนุญาตให้ใช้เครื่องได้

ขณะนี้ สปสช. จัดเตรียมเครื่องไว้กว่า 10,000 เครื่อง โดยในช่วงแรกจะจัดส่งให้ประมาณ 5,000 เครื่อง หากโรงพยาบาลใดมีความต้องการเพิ่มเติมสามารถแจ้งเข้ามาได้ ซึ่ง ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะทาง สปสช. ซื้อน้ำยาจากบริษัทผู้ผลิตอยู่แล้ว และบริษัทก็ให้การยืนยันว่าจะมีเครื่องเพียงพอต่อความต้องการ

สมาคมโรคไตฯ ย้ำ PD เหมาะกับผู้ป่วยที่อยู่ไกล รพ.

ขณะที่ นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ระบุว่า วงการแพทย์มีแนวทางการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มอายุรแพทย์โรคไตที่มีความเข้าใจดีว่า วิธีการฟอกไตแบบใดเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD/PD) และการฟอกเลือดด้วยเครื่อง (HD) หากไม่มีข้อห้ามก็สามารถเลือกใช้ได้ทั้ง 2 วิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล หรือในชุมชนที่เดินทางลำบาก การล้างไตทางช่องท้องที่บ้านจะเหมาะสมกว่า เพราะน้ำยาล้างไตสามารถจัดส่งถึงบ้านได้ ผู้ป่วยเพียงแค่ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจติดตามทุก 2-3 เดือนเท่านั้น และยังมีระบบการเยี่ยมบ้านเข้ามาช่วยสนับสนุน

สำหรับ สถานการณ์ปัจจุบัน สิทธิบัตรทองครอบคลุมการบำบัดทดแทนไตทุกวิธี มีผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตในระบบทั้งหมด 84,750 ราย

  • ใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) 64,515 ราย
  • ใช้วิธีล้างไตทางช่องท้อง (PD) 20,235 ราย (รวมผู้ใช้เครื่องล้างอัตโนมัติ)
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD)

ปัญหาที่พบ คือมีผู้ป่วย HD บางส่วนคุณภาพชีวิตลดลง สาเหตุจากเลือกวิธีไม่เหมาะสม เช่น เป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือเดินทางลำบากทั้งนี้ สปสช. ได้ออกประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีบริการผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง พ.ศ.2568 เพื่อรองรับการดำเนินการตามมติบอร์ด สปสช. เรียบร้อยแล้ว โดยสิทธิการรักษาใหม่ เริ่ม 1 เมษายน 2568

ผู้ป่วยรายเก่า (ก่อน 1 เม.ย. 2568)

  • ยังคงใช้วิธีบำบัดเดิมต่อได้ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ผู้ป่วยรายใหม่ (หลัง 1 เม.ย. 2568)

  • หากไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์หรือข้อจำกัดของครอบครัว

ทั้งนี้จะได้รับการรักษาทางเลือก ได้แก่

  • ล้างไตทางช่องท้อง (PD)
  • ปลูกถ่ายไต
  • รักษาแบบประคับประคอง
  • ทั้งหมดนี้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย

พร้อมทั้งมีระบบตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ป่วยก่อนรับการบำบัดทดแทนไต รวมทั้งให้ความรู้ทางเลือกการบำบัดทดแทนไตแก่ผู้ป่วย โดยปราศจากอคติแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ย้ำจุดยืนของสมาคมเพื่อนโรคไตฯ เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโดยรวม และสร้างความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพระยะยาว 

แต่ประเด็นสำคัญคือการให้บริการขอให้เป็นไปตามสภาวะและความเหมาะสมกับผู้ป่วยจริง ๆ และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้จริง เช่น คนไข้มีหน่วยฟอกเลือดอยู่ข้างบ้าน แต่จะให้ไปใช้การล้างไตผ่านช่องท้องก็ไม่เหมาะ ซึ่งก็ขอให้ขึ้นกับบริบทการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยด้วย

นอกจากนี้การปรับนโยบายเน้น PD First ในครั้งนี้ สมาคมเพื่อนโรคไตฯ จะร่วมกับ สปสช. สื่อสารและทำความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมหน่วยบริการทั้งเก่าและใหม่ รวมถึงทำความเข้าใจกับประชาชน และเมื่อสร้างความเข้าใจแล้ว สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ต้องเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ อย่างเช่นเครื่องล้างไตอัตโนมัติ บุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านงานวิชาการและอัตรากำลังเพื่อรองรับนโยบายอย่างเร่งด่วน

ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า แนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยโรคไตที่เพิ่มขึ้น การรักษาจึงต้องทำควบคู่กับมาตรการป้องกันต่าง ๆ คัดกรองโรคไตเรื้อรัง ให้คนไทยรู้ค่าความเสี่ยงโรคไต ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ เข้าถึงการตรวจคัดกรอง ซึ่งจะช่วยให้ตรวจพบภาวะผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ลดโอกาสของการเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จนต้องฟอกไต ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประเทศได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุ จึงควรมาตรวจคัดกรองโรคไต ที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการใกล้บ้าน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active