ตัวเลขของเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินดคี จากการชุมนุมทางการเมืองใน 3 ปี พุ่งสูงกว่า 2 ร้อยคน ‘ป้ามล’ ชี้ ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเยาวชน ในการใฝ่หาสันติมากพอ
วันนี้ 20 ก.ย 2565 ซึ่งกำหนดให้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง ในช่วงปี 2563 – 2565 จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 15 กันยายน 2565 ระบุว่า มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีสะสมจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 283 คน ในจำนวน 211 คดี (บางรายถูกดำเนินคดีหลายคดี) คิดเป็นสัดส่วน มีคดีของเด็กและเยาวชนเกือบร้อยละ 19 หรือ 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับสัดส่วนคดีทางการเมืองทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคดีที่ยังดำเนินอยู่อย่างน้อย 172 คดี และคดีที่สิ้นสุดแล้ว 39 คดี โดยเด็กอายุต่ำที่สุดที่พบว่าถูกดำเนินคดี ได้แก่ เด็กอายุ 12 ปี
ในจำนวนเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี 283 คน ในจำนวน 211 คดี มีคดียังดำเนินอยู่อย่างน้อย 172 คดี และในช่วงปลายปี 2565 มีคดีเยาวชนที่กำลังต่อสู้ และศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากข้อมูลส่วนของการดำเนินคดี ยังมีข้อกังวลจากการคุกคามด้วยมาตรการนอกกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า เยาวชนหลายรายที่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม หรือเพียงแค่แสดงออกในโลกออนไลน์ กลายเป็นเป้าหมายการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยวิธีการที่ไม่ชัดเจนว่าใช้อำนาจตามกฎหมายใด ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีแนวโน้มคุกคามเยาวชนที่เป็นเป้าหมายซ้ำ ๆ และต่อเนื่องหลายครั้ง
ในช่วงปี 2564 มีเยาวชนถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 19 คน ส่วนในปี 2565 (ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กันยายน 2565) มีเยาวชนถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 35 คน โดยตัวเลขนี้เป็นข้อมูลเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลเท่านั้น
ซึ่งข้อมูลนี้ได้เปิดเผย โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 ก.ย 2565 ซึ่งกำหนดให้เป็นวันเยาวนแห่งชาติ
ขณะที่ ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ให้ความเห็นว่า วันเยาวชนแห่งชาติที่กำหนดขึ้นมาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเยาวชนมากนัก ยิ่งเมื่อกล่าว ถึงคำขวัญวันเยาวชน ที่ระบุว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นคำพูดที่เพ้อฝัน เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่มีเยาวชนไปร่วมการชุมชนมและถูกดำเนินคดี ทำให้เห็นว่าประเทศไทยปิดกั้น และตีกรอบการแสดงออกของเยาวชน
“คำว่าใฝ่หาสันติ จะต้องมีการปฏิบัติได้จริง และที่สำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้มีอะไรบ้างที่สันติ ในเมื่อเด็กแสดงความคิดเห็นอะไรก็ตีกรอบ เยาวชนถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีไปเท่าไร จากการมาแสดงออกทางการเมือง หรือแม้แต่เยาวชนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ทางการเมืองถูกให้ความสำคัญมากแค่ไหน”