กรมพินิจฯ ส่งสัญญาณ ‘บ้านกาญจนาฯ-ป้ามล’ ได้ไปต่อ!

‘ป้ามล’ เผย กองบริหารทรัพยากรบุคคล กรมพินิจฯ โทร. แจ้ง ระบุผลการประเมินออกแล้ว ไร้ปัญหา ชี้ จะส่งเอกสารอย่างเป็นทางการมาให้ภายหลัง 

ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกัย The Active ถึงความคืบหน้ากรณีที่ กรมพินิจฯ แจ้งว่า จะมีการพิจารณาตัดงบประมาณผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ประจำปี 2568 ล่าสุด ได้รับสัญญาณที่ดีจากกรมพินิจฯ ว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร รอเพียงเอกสารยืนยันรายละเอียด แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่า ผลประเมินออกแล้วแต่ยังไม่เห็นมีการประเมิน 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจฯ
ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านกาญจนาฯ เมื่อ 18 ก.ย. 67

ก่อนหน้านี้ ทิชา ได้โพสต์ข้อความ ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนจะถึงวันสิ้นปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไว้ว่า 30 ก.ย. วันสิ้นปีงบประมาณระบบราชการไทย ความเดิม … 31 ก.ค. ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรบุคคล (พรทิวา ทองหล่อ) กรมพินิจฯ กระทรวงยุติธรรม โทรศัพท์แจ้งว่า ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน ที่ทิชาครองโดยปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก (1 ใน 21 สถานควบคุมเด็กและเยาวชนตามกฎหมาย หรือคุกเด็ก) ในฐานะผู้อำนวยการคนนอก จะถูกตัดงบฯ ในปีงบประมาณ 68  (อีก 2 เดือน)

ทิชา ได้ตั้งคำถามกลับไปว่า เวลา 2 เดือน ที่เหลือกรมพินิจฯ ได้วางแผนการรับช่วงบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งมีรูปแบบ กระบวนการ นวัตกรรม การทำงานที่แตกต่างจากสถานควบคุม 20 แห่ง เพื่อลดการทำผิดซ้ำของเยาวชนที่ก่อคดีได้อย่างเป็นที่ประจักษ์อย่างไร ผอ.กบค. ตอบว่า “ไม่ทราบเพราะเป็นความรับผิดชอบของผู้ใหญ่และขณะนี้ผู้ใหญ่ยังไม่ตอบอะไรเลย”

หลังจากข่าวการตัดงบฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน หรือ ผอ.บ้านกาญจนาภิเษก (ทิชา) สู่พื้นที่สาธารณะ ก็มีการตั้งคำถามต่อ กรมพินิจฯ โดยเฉพาะความรับผิดชอบต่อ นวัตกรรมลดการทำผิดซ้ำของเยาวชนที่ก่อคดีที่ถูกค้นพบในบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่ง อธิบดีกรมพินิจฯ ไม่ได้ตอบประเด็นที่เป็นเป้าหมายใหญ่ เป้าหมายร่วม เป้าหมายสำคัญของผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชนหรือ ผอ.คนนอก แต่ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “หากไม่มีบ้านกาญจนาภิเษก กรมพินิจฯ มีสถานควบคุมรองรับเยาวชนจากบ้านกาญจนาภิเษกเหลือเฝือ สังคมไม่ต้องเป็นห่วง” (ต่อประเด็นนี้ เยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก คนหนึ่งตอบสื่อว่า มันไม่ใช่เรื่องสถานที่ แต่มันเป็นเรื่องของระบบ ความรู้สึกปลอดภัย และเครื่องมือที่ใช้

สถานการณ์ฝุ่นตลบในประเด็นการตัดงบฯ โดยไม่มีแผนรองรับนวัตกรรมลดการทำผิดซ้ำของเยาวชนที่ก่อคดีของกรมพินิจฯ ทั้งในพื้นที่สาธารณะ สื่อออนไลน์ รวมถึงการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านในสภาฯ ถูกอธิบายเพิ่ม/ใหม่หรือไม่ใช่คำอธิบายในครั้งแรกว่า “เป็นการประเมินผลตามวาระ / ตามวงรอบ หากการประเมินผลผ่านก็ต่อสัญญา เหตุการณ์ตื่นเต้นแบบนี้จะมีทุก 4 ปี” 

สัญญาณใหม่…ในวันสุดท้ายของปีงบฯ 67

ทิชา ยังระบุด้วยว่า ในวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปีงบประมาณปี 2567 ผอ.กบค. แจ้งว่า ผลการประเมินออกแล้วซึ่งกรมพินิจฯ จะส่งเอกสารสำคัญมาให้ (ความชัดเจน เมื่อได้เห็นเอกสาร …) ป้ามลได้ตั้งคำถาม ต่อว่า ประเด็นที่ กรมพินิจฯ กระทรวงยุติธรรม ต้องตอบให้ได้ ไม่ใช่แค่การประเมินผลทิชา และต่อสัญญา แต่กรมพินิจฯ ต้องรับผิดชอบข้อค้นพบหรือนวัตกรรมของบ้านกาญจนาภิเษกด้วย เพราะมันคือพันธกิจของกรมพินิจฯ ของกระทรวงยุติธรรม ของรัฐบาลต่อประชาชนผู้เสียภาษี แน่นอน ! ประชาชนมีสิทธิ์ถามว่ามีกรมพินิจฯ มีกระทรวงยุติธรรม มีกระทรวงต่าง ๆ ทำไม 

“มันจึงจริง และจริงที่รัฐต้องไม่ใช่ผู้สร้างความล้มเหลว และรัฐต้องรับผิดชอบความล้มเหลวของตัวเองให้ดีที่สุด มีหลักการที่สุด เมื่อประชาชนกลุ่มใด คนใด เข้าไปทำงานกับรัฐเพื่อตอบโจทย์ที่รัฐล้มเหลว รัฐตอบไม่ได้ แต่เขาตอบได้ รัฐต้องไม่จัดการแบบมักง่าย ไร้ทิศทาง แต่ต้องสนับสนุนอย่างเป็นระบบให้ได้”

ทิชา ณ นคร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active