ชี้พัฒนาการเด็กเล็ก ยังไม่พร้อมช่วยเหลือตนเองในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรหลีกเลี่ยงพาเด็กเล็กเดินทางไกล เพื่อป้องกันความเสี่ยง แนะให้สภาพแวดล้อมในโรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น เป็นโลกแห่งความจริงให้เด็กได้เรียนรู้ ทดลองทำ ดีกว่าพาไปทัศนศึกษา
จากเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าอนุสรณ์สถาน จ.ปทุมธานี เป็นเหตุให้ครู และเด็กเล็กเสียชีวิตจำนวนมาก และมีผู้บาดเจ็บหลายคน
วันนี้ (1 ต.ค. 67) รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และอดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ The Active โดยวิเคราะห์ในภาพใหญ่ว่า ”เด็กเล็ก“ ยังอยู่ในโลกของจินตนาการยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยิ่งออกจากพื้นที่ที่ไม่คุ้นชิน ล้วนเป็นสิ่งแปลกหน้า และเกิดความเสี่ยงได้ตลอดเวลา ถ้าคิดใน concept ลักษณะนี้ ทัศนศึกษากับเด็กเล็กไม่ควรมี ถ้าจะทัศนศึกษานอกสถานที่ ขอเป็นสถานที่ใกล้ ๆ ที่อยู่ในสถานะที่สามารถควบคุมได้ ซักซ้อมความปลอดภัยได้
ในด้านจิตวิทยาพัฒนาการสำหรับเด็กเล็ก คือ อยู่ในโลกจินตนาการ ถึงแม้จะเป็นเด็กอนุบาล 3 ก็พึ่งจะแตะความเป็น ”Real World“ หรือ โลกแห่งความเป็นจริง เป็นโลกแห่งความเป็นจริงที่รายรอบตัวเขา เช่น โรงเรียนมีแปลงนา แปลงผักลงไปปลูกเอง ได้ทดลองทำด้วยตัวเอง เกิดความภาคภูมิใจ ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นที่ตัวเองอาศัยอยู่ ไม่ต้องวิ่งไปไหนไกล จะกลายเป็นความภาคภูมิใจของเด็ก ๆ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องไปทัศนศึกษาตรงไหนเลย
“สำหรับเด็กเล็ก ระบบนิเวศของเขา คือชุมชนที่เขาอาศัย บ้านที่เขาอยู่ ชุมชนที่เขาอยู่ แค่นั้นแหละไม่ต้องไปไหนไกล“
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
รศ.นพ.สุริยเดว ยังระบุว่า กรณีนี้เป็นรถบัส 2 ชั้น เด็กอนุบาลไม่มีทางนั่งอยู่กับที่ พับเพียบเรียบร้อยใส่เซฟตี้เบล เหมือนจับปูใส่กระด้ง ยิ่งเป็นรถ 2 ชั้น ยิ่งยากขนาดรถตู้คันเดียวยังลืมเด็กในรถได้ แล้วเมื่อทัศนศึกษาไกล ๆ ต่อให้เป็นเด็กประถม ต้องซักซ้อมแผนความปลอดภัย ถ้าเป็นไปได้มีรถนำจะดีกว่า แล้วน่าจะมีป้ายติดว่ารถนี้มีเด็ก เป็นรถโรงเรียน คนขับก็ต้องระมัดระวัง กรณีนี้ซิกเซ้นส์ของความปลอดภัยหายไปหมดเลย
”เด็กไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เมื่อเกิดเหตุ เพราะภัยพิบัติลักษณะแบบนี้ มันคือความช็อคของเขาไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย อย่าว่าแต่เด็กเล็กอนุบาลต่อให้เป็นเด็กประถมถ้าไม่ได้ถูกฝึกซ้อมก็อาจจะช่วยเหลือตัวเองให้เอาชีวิตรอดได้ลำบากเหมือนกัน”
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
นพ.สุริยเดว เปรียบเทียบให้ฟังสมัยทำศูนย์พัฒนาเด็กประถมวัย ม.มหิดล เวลาฝึกซ้อมเด็กเรื่องอพยพหนีไฟ ต้องทำเป็นเพลงขึ้นมา เมื่อร้องเพลงก็จะลุกขึ้นมาเดินเรียงเข้าเส้นเรืองแสงออกไปที่จุดรวมพลภายในเวลา 15 นาที ซ้อมทุกอาทิตย์ทั้งปี ความหมาย คือ เจอเหตุการณ์มันจะได้อัตโนมัติ เพราะวินาทีที่เจอเหตุการณ์ไม่มีอัตโนมัติ ถ้าไม่ได้ฝึกจนเข้าเป็นนิสัย เพราะช็อค ต้องฝึกสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัย ไม่ใช่ฝึกฝึกสร้างภาพเหมือนบ้านเราไม่เกิดประโยชน์อะไร ขนาดผู้ใหญ่เองยังช็อค ในสเตปแรกก่อนเลย ถ้ายิ่งเป็นเด็กยิ่งต้องซ้อมบ่อย ๆ ซ้อมแทบทุกสัปดาห์
“ฝากคุณครูทั่วประเทศถ้าเป็นเด็กอนุบาลอย่าพาไปไหนเลย เอาชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ บ้านที่เขาอาศัยอยู่ โรงเรียนที่อยู่ละแวกนั้น จะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม กรุณามองลบไปก่อนอย่าพึ่งมองบวก คำว่ามองลบคือให้มองไว้ก่อนว่าอาจจะเกิดเหตุ เพื่อสร้างแนวทางป้องกันไว้ก่อน ไม่ใช่รอให้เกิดเหตุแล้วมาว่ากัน”
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี