10 องค์ภาคประชาสังคม สรุปบทเรียน 10 ปี ความพยายามแสวงหาสันติภาพชายแดนใต้ ร้องขอทุกฝ่ายจริงใจ รับฟังอย่างมีส่วนร่วม เสนอเปิดพื้นที่ปลอดภัย สร้างความไว้วางใจคู่ขัดแย้ง ขณะที่ ‘ผู้ว่าฯ ปัตตานี’ ย้ำ ข้อเสนอเวทีสมัชชาฯ สร้างทางออก ตอบโจทย์การไปถึงสันติภาพ โดยไม่ใช้ความรุนแรง
วันนี้ (28 ก.พ.66) เวทีสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่ คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี องค์ภาคประชาสังคมอย่างน้อย 10 องค์กร ได้ร่วมกันนำเสนอบทบาทและแนวทางการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมสู่กระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
อับดุลการีม อัสมะแอ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ บอกว่า เป็นกลไกหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพ เป็นพื้นที่กลาง ให้แก่ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายได้แสดงเจตจำนง ที่สนับสนุนกระบวนการ สันติภาพ โดยภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ขอให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับฟังเสียงข้อเสนอจากประชาชน และขอให้นำข้อเสนอต่าง ๆ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยความจริงใจระหว่างกันเพื่อนำพาสันติภาพกลับคืนสู่ชายแดนใต้
อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมชายแดนใต้ ระบุว่า สันติภาพจะไม่ มีทางเกิดขึ้น หากยังไม่สามารถขจัดความอยุติธรรมที่เกิดจากทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมที่มีปัญหา จนก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคมในพื้นที่หลาย ๆ ด้าน ซึ่งสลับซับซ้อน โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรองรับการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ทั้งนี้เห็นว่า การแสวงหาทางออกทางการเมืองของปัญหาความขัดแย้งเป็นแนวทางที่ดีกว่า โดยมูลนิธิฯ ขอยืนยันในหลักการที่ว่า “สันติภาพต้องสร้างด้วยการให้ความเป็นธรรมกับสังคม”
มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ระบุถึงบทบาทหน้าที่ โดยการส่งเสริมและสร้างความ ตระหนักให้กับองค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือสังคมและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในการทำงานของบริบทพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง, สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วม แสดงความเห็น หาทางออกจากทุกภาคส่วน, สันติภาพ ส่งเสริมกระบวนการเจรจา ภายใต้รูปแบบการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะให้มีพื้นที่กลางอย่างปลอดภัย และมีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย ขอให้พัฒนากลไกการประเมินและมอนิเตอร์กระบวนการพูดคุยสันติภาพ พร้อมทั้งต้องส่งเสริมการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และจำกัดการใช้อำนาจรัฐที่มีมากเป็นพิเศษ (กฎหมายความมั่นคง)
ขณะที่ โซรยา จามจุรี คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (Women’s agenda for Peace : PAOW) บอกว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ในปี 2547 มีเครือข่ายผู้หญิงนักกิจกรรมทางสังคม ที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนได้เริ่มต้นขับเคลื่อนงานเยียวยา และสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงที่ส่งผลให้ผู้หญิงเหล่านี้ในหลายครอบครัว พลิกบทบาทจากผู้ได้รับผลกระทบกลายเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม มีการก่อตั้ง กลุ่มอาชีพจากเงินเยียวยา การช่วยเหลือเด็กกำพร้า การเสริมศักยภาพหญิงหม้าย และผู้พิการ ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ วางอยู่บนฐานของการไม่เลือกปฏิบัติต่อชาติพันธุ์หรือศาสนา โดยก้าวย่างสำคัญของคณะทำงานฯ ต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย และ ขบวนการบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional : BRN) ในปี 2556 เครือข่ายผู้หญิง มีความเห็นตรงกันว่าควรร่วมกันเรียกร้องเพื่อขอให้ “ยุติความรุนแรง” ต่อผู้หญิง และประชาชน
สำหรับข้อเรียกร้องสำคัญ คือ การผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะปลอดภัย ได้แก่ 1. ฝ่ายที่ใช้กำลังใช้อาวุธ ต้องยุติการก่อเหตุรุนแรง และปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่สาธารณะ เพื่อไม่ให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบที่นำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และขาดพื้นที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิต และครอบครัว
2. ขอให้คู่ขัดแย้งเดินหน้ากระบวนการพูดคุย และแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีการ และกระบวนการทางการเมือง และให้นำข้อเรียกร้อง เรื่องพื้นที่สาธารณะปลอดภัยของผู้หญิง บรรจุ เป็นวาระสำคัญของการพูดคุย เพื่อทำให้ข้อเสนอดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
3. เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิง นักกิจกรรมภาคประชาสังคม ทำงานอย่างปลอดภัยและเป็นอิสระ ไม่ถูกจับตา แทรกแซง ข่มขู่คุกคามจากคู่ขัดแย้ง
4. ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมกิจกรรมประชาหารือสานเสวนา เพื่อหาทางออก ในวิถีทางสันติ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับ ผู้หญิงและทุกคนในชายแดนใต้ร่วมกัน
“คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เนื่องจากเป็น แนวทางการเมืองและสันติวิธี และมีความหวังว่ากระบวนการพูดคุย จะนำไปสู่การแสวงหา ทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันได้ นอกจากนี้ ต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงและครอบคลุม ผู้คนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย คำนึงถึงเพศสภาวะ และการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อและเป็นเอกภาพกับกระบวนการพูดคุย”
ลม้าย มานะการ เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงถึงความหวังของเครือข่ายฯ ต่อการพูดคุยสันติภาพล่าสุด ซึ่งเครือข่ายชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข้อเสนอต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข ได้แก่
1. การพูดคุยและจัดทำข้อตกลงบนโต๊ะพูดคุย ระหว่าง BRN กับ รัฐบาลไทย เรื่อง ยุติการก่อเหตุรุนแรง และปฏิบัติการทางทหารของทุกฝ่ายในพื้นที่ตลอดเวลา 3 เดือนในห้วงเข้าพรรษา ถึงประเพณีชักพระของชาวพุทธ เพื่อให้เกิด “วาระเข้าพรรษาสันติ –ปลอดภัย สำหรับทุกคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” ให้โอกาสทดลองความไว้เนื้อเชื่อใจของทุกฝ่าย ให้ทุกคนปลอดภัย ไม่ใช่แค่ชาวพุทธ แต่ทุกคนต้องปลอดภัยด้วย
2. การพูดคุยที่เกิดขึ้น สนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง หวังว่าผู้อำนวยความสะดวก จะทำหน้าที่ที่มากกว่าการอำนวยความสะดวก ควรทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย จึงให้กำลังใจฝ่ายคณะพูดคุยฯ หาทางออกด้วยสันติวิธี ร่วมกันแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมือง และขอให้คู่พูดคุยฯ เดินหน้ากระบวนการพูดคุย และแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีการและกระบวนการทางการเมือง โดยเอื้อให้มีการเปิดพื้นที่ การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ทุกกลุ่ม เพื่อสร้างสันติสุข
3. ประชาชน กลุ่ม องค์กร และตัวแทนกลุ่มชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้ มี โอกาสแสดงพลัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ต่อรัฐบาลไทย และขบวนการบีอาร์เอ็น ภายใต้การดำเนินงานของคณะพูดคุยฝ่ายไทย และคณะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยประเทศมาเลเซีย
ผศ.มูฮมัหมัดอาฟีฟี อัซซอลีฮีย์ เครือข่ายการศึกษาและอิสลามศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ คาดหวังว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือในทุกกระบวนการส่งเสริมการสร้างสันติภาพ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยกระบวนการสันติภาพให้การศึกษามีส่วนในการพัฒนาคนตามเป้าหมาย คือ
1. ความเข้าใจเรื่องการศึกษาสามารถ ส่งเสริมความขันติ อดทน และความเข้าใจโดยการสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรม ศาสนา และโลกทัศน์ที่แตกต่างกัน รวมทั้งการศึกษาสามารถช่วยลดอคติ ที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง
2. การศึกษาสามารถช่วยให้ บุคคลมีทักษะที่จำเป็นในการจัดการกับความขัดแย้งอย่างสันติ
3. การศึกษาสามารถส่งเสริมความสามัคคีทางสังคมโดยการนำผู้คนจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน มารวมกันในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างความไว้วางใจ ความเคารพ และความเห็นอกเห็นใจกัน
4. การศึกษาสามารถส่งเสริมค่านิยม ประชาธิปไตย การศึกษาสามารถช่วยสร้างระบบการ ช่วยเหลือเกื้อกูลที่เป็นธรรมและเท่าเทียม
5. การศึกษาสามารถให้โอกาสการพัฒนา สามารถพัฒนาทักษะและความรู้ที่จำเป็นช่วยสร้างชีวิตที่ดีขึ้นสาหรับตนเองและชุมชน ซึ่งสามารถช่วยลดความยากจน และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ฟาอิก กรระสี เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ Child Protection Network (CPN) มีข้อเสนอ
1. พื้นที่ปลอดภัย หยุดใช้ความรุนแรง
2. ไม่อยากให้เด็กหรือผู้บริสุทธิ์ต้องโดนลูกหลงในเหตุการณ์ความรุนแรง
3. อยากให้การพูดคุยเจรจากับภาครัฐ ในแนวทางที่หาทางออกร่วมกันแก้ไขปัญหาพื้นที่ อย่างรวดเร็วเพราะผ่านมาแล้ว 10 ปี
4. อบรมปลูกฝังเยาวชนเข้าใจเรื่องสันติวิธีเพื่อนาสู่สันติภาพ
5. มีเวทีกิจกรรมชุมชนเพื่อความปรองดอง
6. ภาครัฐควรให้ความเท่าเทียมกับประชาชน
7. นำปัญหาที่ชุมชน เยาวชน เสนอนำไปเขาสู้เวทีการพูดคุย
8. ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงภายในบริเวณโรงเรียนและสถานที่สาธารณะ
9. รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ปาตานี
10. เนื่องจากเด็กไม่มีความรู้เรื่องสิทธิของตนเอง และผู้ใหญ่ยังขาดองค์ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก ทำให้ยังมีการละเมิดสิทธิเด็ก ทั้งทางตรง และทางอ้อม จึงริเริ่มก่อตั้งองค์กรให้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ทหาร ในเรื่องของการปกป้องการละเมิดสิทธิเด็ก ยังคงขาดการให้ความร่วมมือ เพราะยังคงเห็น ว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีการเก็บ DNA เด็กอยู่ในพื้นที่
ขณะเดียวกัน ผศ.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี เครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY ในฐานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้งในพื้นที่ และ กทม. ได้ร่วมมือกันทำงานสำรวจสถานการณ์สันติภาพ ซึ่งทำมา 6 ครั้งแล้ว ตอนนี้กำลังสำรวจครั้งที่ 7 โดย นักวิชาการกับภาคประชาสังคม ทำงานกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้รับรู้สถานการณ์ในภาคใต้ สิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาที่ผ่านมาได้ประสานกับคณะพูดคุยฝ่ายไทย และบีอาร์เอ็น รวมถึงผู้อำนวยความสะดวก ให้นำข้อมูลมานำเสนอแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อเสนอจากผลสำรวจครั้งที่ 6 เมื่อปี 2564 พบว่า ประชาชนยังรู้สึกว่าสถานการณ์ความรุนแรงยังคงเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่ายังไม่ดีขึ้น สะท้อนความรู้สึก ความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะถ้ามองเรื่องความหวังกระบวนการสันติภาพ ประชาชนยังคาดหวังสูงมาก แต่ถ้ามองความก้าวหน้าการพูดคุยฯ ก็ยังไม่เต็มที่มากนัก จากนี้จึงควรทำให้กระบวนการพูดคุยมีความน่าเชื่อมั่นมากขึ้น
“การสำรวจความเห็นของประชาชน ทำมา 6 ครั้ง ในรอบ 8 ปี เรามีส่วนร่วมในฐานะขอการเป็นพื้นที่ปรึกษาหารือสาธารณะ มีความสำคัญต่อการพัฒนากลไกรูปแบบการหารือสาธารณะ เพื่อสันติภาพชายใต้”
มะรุฟ เจะบือราเฮง เครือข่ายองค์กรนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ ตั้งคำถามว่า สันติภาพเป็นของใคร อยู่บนโต๊ะเจรจาแค่นั้นใช่หรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าสันติภาพเป็นของคนทุกคน ในขณะที่วันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือวันแรกที่มีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ จนถึงตอนนี้ยินดีกับแนวทางการพูดคุยสันติภาพที่คืบหน้ามาตลอด แม้ว่าการพูดคุยหยุดชะงักไปบ้าง แต่ต้องทำให้ภาคประชาชนได้เดินหน้าสันติภาพอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการสร้างสันติภาพจากระดับล่าง ไม่ต้องรอให้ระดับบน พูดคุยกันฝ่ายเดียว
สำหรับข้อเสนอคนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย การสนับสนุนพูดคุยสันติภาพสันติสุข ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง, ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในสันติวิธี ปฏิเสธความรุนแรง พร้อมทั้งยึดมั่นในสิทธิมนุษยชน ที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ขณะเดียวกันอยากให้ริเริ่มการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรมด้วยประชาชาธิปไตยอย่างเสรี ตามกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน และมองว่า ประชาชนต้องร่วมกันผลักดัน ติดตาม สนับสนุน การเดินหน้าสันติภาพอย่างยั่งยืนด้วย
ทางด้าน พาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ยอมรับว่า เวทีสมัชชาฯ วันนี้ เป็นจุดตั้งต้นกลับมากำหนดทิศทางของตัวเอง หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะนำพาใครก็ตามที่อยู่ในกระบวนการ ไปสู่สันติภาพอย่างยั่งยืน วันนี้กระบวนการสันติภาพไม่ใช่เกิดแค่ที่นี่ที่เดียว แต่ทั่วโลกกำหนดให้เป็นมาตรการสำคัญ ดังนั้น จ.ปัตตานี ขอเป็นส่วนหนึ่งเพื่อนำพา เติมเต็ม เสริมสร้าง และสร้างสรรค์กระบวนการสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้จริง
“เรามีข้อเสนอที่เป็นทางออกสู่สันติภาพมากกมาย แต่ทำไมเราต้องเลือกความรุนแรงเพียงทางเดียว เพื่อไปสู่สันติภาพของเรา ทุกข้อเสนอล้วนตอบโจทย์การมีสันติภาพโดยไม่ใช้ความรุนแรง”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง