ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน หรือ #NoNPObill ประกาศปักหลักชุมนุมต่อ เตรียมระดมมวลชนเคลื่อนไหวเพิ่ม หลัง ครม. ไม่ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ‘อนุชา’ เสนอตั้งคณะทำงานร่วมหาทางออก
วันนี้ (24 พ.ค. 2565) ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ตั้งขบวนหน้าองค์การสหประชาชาติ เพื่อเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ที่ประชุม ครม. มีมติยกเลิก ร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร หรือร่างกฎหมายที่พวกเขาเห็นว่า เป็นการควบคุมการรวมกลุ่มทุกฉบับ
โดยเคลื่อนขบวนเดินเข้าประชิดรั้วลวดหนามบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ท่ามกลางการวางกำลังเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ชุมนุมได้โปรยกระดาษจำนวนมากที่มีข้อความ อาทิ “ยกเลิกกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มทุกฉบับ” “ขอรัฐสวัสดิการ แต่ได้กฎหมายสามานย์ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน” และ “ทวงคืนเสรีภาพการรวมกลุ่ม” เป็นต้น
จากนั้นประกาศเปลี่ยนเส้นทางการเดินขบวนยังถนนกรุงเกษม ตลอดเส้นทางมีการปราศรัยถึงเหตุผลสำคัญของการคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่พวกเขาเห็นว่าแทรกแซงสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน คือ การรวมกลุ่มของประชาชน ซึ่งหากกฎหมายบังคับใช้ การทำงานขององค์กรภาคประชาชน มูลนิธิ จิตอาสา รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่าง ๆ จะทำได้ยากขึ้น พร้อมทั้งมีการโปรยเอกสารการคัดค้านให้ยกเลิกร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ต่อสังคม
ผู้ชุมนุมพยายามเจรจาฝ่าแนวกั้น 4 ชั้น จนถึงชั้นสุดท้าย เจรจาขอให้เปิดแนวลวดหนามและให้ อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มารับข้อเรียกร้อง แต่ผ่านไป 30 นาทีไม่เป็นผล จึงผลักดัน ตัดรื้อแนวลวดหนามออกจนสำเร็จ สถานการณ์ช่วงเวลานั้นค่อนข้างตึงเครียด
กระทั่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาเจรจาและรับข้อเรียกร้อง สถานการณ์จึงคลี่คลาย โดยตัวแทนผู้ชุมนุมยืนยันว่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีต้องนำข้อเรียกร้องเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมครม. และต้องมีมติชัดเจนในการยกเลิกร่างกฎหมายดังกล่าวเท่านั้น ด้าน อนุชา ขอให้ส่งตัวแทนตั้งคณะทำงานร่วมหาทางออกเรื่องนี้ ทำให้ผู้ชุมนุมโห่ร้องแสดงความไม่พอใจ
“ข้อเรียกร้องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่รัฐบาลเพิ่งรับรู้ เคยเรียกร้องยื่นข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนรัฐบาลก่อนหน้านี้หลายครั้ง รัฐบาลรับรู้ปัญหาดี ดังนั้น ข้อเรียกร้องเดียว ที่ต้องมีมติ ครม. ชัดเจนคือ ต้องยกเลิกกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มทุกฉบับ“
สุภาภรณ์ มาลัยลอย ตัวแทนขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน
อนุชา จึงรับปากที่จะนำข้อเรียกร้องเสนอต่อรัฐบาล และเมื่อผ่านไปเกือบ 3 ชั่วโมง ผู้ชุมนุมประกาศกดดัน ให้เวลาอีก 19 นาที ให้รัฐบาลส่งตัวแทนมาชี้แจงผลการหารือตามข้อเรียกร้อง พร้อมทั้งเปิดแผงกั้นเหล็กออกทันที จากนั้นนายอนุชา ได้ออกมายืนยันว่า ได้นำข้อเรียกร้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว
“ตามที่ได้รับเรื่องไป ก็ตรงไปตรงมา ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ได้นำชี้แจงต่อ ครม. ถึงข้อเรียกร้อง ครม. ได้รับทราบตามนี้ ขั้นตอนทางกฎหมายยังมีหลายขั้นตอน ยังไม่ถึงเวลาที่กฎหมายจะคลอดออกมาหรือไม่ โดยระหว่างนี้ สามารถที่จะตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออก”
อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
การย้ำถึงแนวทางข้อเสนอให้ผู้ชุมนุมส่งตัวแทนตั้งคณะทำงานเพื่อหาทางออกของนายอนุชา ทำให้ผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นข้อเสนอต่อรองที่นายอนุชาพูดซ้ำเป็นครั้งที่สอง และผู้ชุมนุมได้ยืนยันไปแล้วว่าไม่ตอบรับ ไม่ต้องการ ต้องให้ยกเลิกร่างกฎหมายนี้เท่านั้น
“ฟังมาตั้งแต่เช้า ขบวนนี้ยืนยันชัดเจนว่าไม่ต้องตั้งคณะทำงานใด ๆ ทั้งสิ้น เราไม่เอา ไม่ยอมรับ เราเรียกร้องให้ยกเลิกมติ ครม. ทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร วันนี้ท่านบอกว่ามีการหารือ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยก็ไม่น่าจะไปต่อ แต่กลับยังย้อนแย้งอยู่ เพราะท่านบอกว่าต้องเป็นไปตามกระบวนการ“
ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน
ด้าน สมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน กล่าวว่า ยังบอกไม่ได้ว่า ครม. รับทราบแล้ว เพราะแค่ปากเปล่า หากรับทราบจริงต้องมีลายลักษณ์อักษรออกมา ส่วนกระบวนการทางกฎหมายก็ยังไว้วางใจไม่ได้ ว่ากฎหมายจะหยุดจริงหรือไม่ ซึ่งจริง ๆ รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ เพราะอยู่ในมติ ครม. ถ้าอยากแสดงความจริงใจต้องมีมติ ครม. ว่ายกเลิกไปเลย จึงเท่ากับว่ากระบวนการยังดำเนินปกติ ย้อนแย้งกับที่บอกว่าจะไม่ดำเนินการแล้ว มันจะมีหลักประกันอะไรให้เรา มีเป็นลายลักษณ์อักษรไหมว่าจะไม่เดินหน้าต่อ
เมื่อคำตอบที่ได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน จึงได้ร่วมกันแถลงที่จะเดินหน้าปักหลักชุมนุมอย่างไม่มีกำหนด พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนพื้นที่ต่าง ๆ ออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้น
โดย ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ผ่านความเห็นชอบในหลักการ ของคณะรัฐมนตรีและผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน คาดว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี พวกเขาจึงออกมาคัดค้านให้ยกเลิกร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ข้อ ตามที่ได้ยื่นต่อรัฐบาลแล้ว คือ
1. ให้มีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยทันที และยุติการเสนอกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ
2. ให้ทำข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. และกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับอีก
และ 3. ให้การรับรองว่าจะไม่มีผู้ใดตกเป็นเป้าหมายการถูกคุกคาม การใช้ความรุนแรง ถูกจับกุมคุมขัง หรือถูกตั้งข้อหาต่อการที่ประชาชนใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมและแสดงออกโดยสันติ