แนวร่วม “ขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน” ประกาศระดมมวลชน พร้อมยื่นเรื่อง กมธ.การเมืองฯ ตรวจสอบการออกกฎหมาย แทรกแซงสิทธิมนุษยชนพื้นฐานการรวมกลุ่มของประชาชน
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 ที่หน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน พื้นที่การปักหลักชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร หรือที่พวกเขาเรียกว่าร่างกฎหมายการรวมกลุ่มของประชาชน หลังผลหารือ ครม. เมื่อวานนี้ ไม่มีมติตอบรับตามข้อเรียกร้อง ซึ่งผู้ชุมนุมมองว่ามีความชัดเจนที่รัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวต่อ จึงประกาศปักหลักชุมนุมอย่างไม่มีกำหนด และจะมีการระดมมวลชนมาร่วมปักหลักสมทบเพิ่ม
ล่าสุด คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ แถลงสนับสนุนและเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน จนกว่าจะมีมติ ครม. รับรองว่าจะไม่มีการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้อีก โดยพร้อมจะระดมกำลังจากองค์กรสมาชิกในทุกภูมิภาค เข้าร่วมการชุมนุมกับเครือข่ายประชาชนฯ ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2565 จนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้อง
“ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ทาง ครม. ไม่ได้มีมติใด ๆ ตามข้อเรียกร้องของประชาชน ชี้ให้เห็นว่าทางรัฐบาลและ ครม. ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาคประชาชน นั่นเป็นข้อบ่งชี้ว่า รัฐบาลมีเจตนาที่ชัดเจนในการเดินหน้าร่างกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นทางคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ จึงมีความเห็นร่วมกันว่า รัฐบาลนี้ มีเจตนาที่ชัดเจนในการที่จะคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเราไม่สามารถที่จะยินยอมได้“
เจกะพันธ์ พรหมมงคล ตัวแทนคณะกรรมการ กป.อพช.ใต้
ด้านภาคประชาชน เครือข่ายชุมชนต่าง ๆ อย่างสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล ที่พวกเขาปักหลักชุมนุมตั้งแต่วันแรกนำเสบียงอาหาร สัมภาระต่าง ๆ มาพร้อมปักหลักยาว ก็บอกว่า จะมีชาวบ้านจาก 55 ชุมชน ใน 3 อำเภอ คือพิบูลมังสาหาร โขงเจียม สิรินธร ทยอยมาร่วมสมทบเพิ่มเติมต่อเนื่อง พวกเขาสะท้อนว่าการต่อสู้กรณีปัญหาการสร้างเขื่อนที่กระทบต่อชุมชน อาชีพ ชีวิตชาวบ้าน ตลอด 37 ปี ทำให้เห็นว่าการรวมกลุ่มในการสะท้อนปัญหา และการต่อรองภาครัฐ สำคัญ ดังนั้นหากมีการผลักดันร่างกฎหมายที่ปิดกั้นการรวมกลุ่มจะกระทบต่อการแก้ไขปัญหาชาวบ้าน จนถึงการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพ การปกป้องทรัพยากร และต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับลูกหลาน
“พวกเราต่อสู้ผลปัญหาการสร้างเขื่อนมา 37 ปี ให้มีการแก้ไขผลกระทบด้านต่าง ๆ เรื่องปัญหาที่ดิน ต่อสู้กันถึง3 ปี ถึงจะได้รับการแก้ไข ที่อยู่อาศัยก็ใช้เวลานาน 3 ปี ส่วนเรื่องอาชีพ 10 กว่าปี ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาและยิ่งถ้ามีการคลอดกฎหมายนี้ออกมาจะปิดกั้นหมด จะรวมตัวกันต่อรองลำบาก จะรวมกลุ่มเพื่อการปกป้องทรัพยากร การต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาให้ลูกหลาน เช่นสานซ้องใส่ปลา สานตระกร้าก็อาจไม่ได้
สมปอง เวียงจันทร์ ตัวแทนสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล
เช่นเดียวกับกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ที่รวมตัวกันต่อสู้แก้ไขปัญหาเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย สะท้อนถึงเหตุผลที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า 15 ปีของการเรียกร้องให้แก้ไขผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ ตอนนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยา ชาวบ้านต้องรวมกลุ่มเพื่อหาทางออกในการสร้างรายได้และอาชีพกันเอง เพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัวและเป็นทุนต่อสู้การแก้ไขปัญหา ด้วยการรวมกลุ่มขายสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่หากกฎหมายนี้ออกมาจะส่งผลกระทบที่จะไม่สามารถรวมกลุ่ม เรียกร้องอะไรได้เลย
“ยกตัวอย่าง ช่วงราคาสลากกินแบ่งแพง หรือมีการจำกัดโควตาต่าง ๆ เมื่อเราได้รับผลกระทบ ก็จะรวมกลุ่มเรียกร้องส่งเสียงถึงรัฐบาลให้แก้ปัญหา แต่หากมีกฎหมายนี้ที่ปิดกั้นการรวมกลุ่ม เพราะมีการดำเนินคดีโทษก็หนัก คงไม่มีใครกล้ารวมกลุ่ม เป็นการปิดกั้น ปิดหนทางที่จะสะท้อนปัญหา ให้เกิดการแก้ไขได้ “
มล คุณนา กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย
ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ยังได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ผ่าน ปดิพัทธ์ สันติภาดา กรรมาธิการฯ ให้ตรวจสอบการออกร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรของรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่า แทรกแซงสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน คือ การรวมกลุ่มของประชาชนทุกคน และเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน พร้อมทั้งขอให้ กมธ. เรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาตรวจสอบ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจในการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยทันที และยุติการเสนอกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานกฤษฎีกา รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์