เตรียมยื่นผู้ว่าฯนครสวรรค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยุติเวทีครั้งที่ 1 พร้อมทบทวนอย่างถี่ถ้วน เหตุหวั่นผลกระทบฐานทรัพยากร ทั้งแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร และนิเวศภูมิปัญญาท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2566 ที่วัดธารลำไย ตำบลเขากะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักเขากะลาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านเวทีการประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 (EIA) โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง วัดธารลำไย หมู่5 ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจัดโดยบริษัท ตถาตาสิ่งแวดล้อม จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม) คำขอประทานบัตรที่ 5/2564 หมายเลขหลักหมายเลขเขตเหมืองแร่ที่ 32333 ของบริษัท ศิลาพระนอน จำกัด
ชาวบ้านระบุว่าสาเหตุสำคัญที่ออกมาคัดค้าน เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า จะทำให้หลายชุมชนได้รับผลกระทบจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่หินดังกล่าว ได้แก่ พื้นที่หมู่ 7 บ้านพุตานวล ,หมู่ 9 บ้านหัวครัก ,หมู่ 10 บ้านพุน้อย ในตำบลพระนอนอำเภอเมืองนครสวรรค์ ,หมู่ 5 บ้านธารลำไย ,หมู่ 10 บ้านพุวิเศษ หมู่ 11 บ้านเขาพระไกร ,หมู่ 12 บ้านเขาสนามชัย และหมู่ 13 บ้านพุตาเมือง ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี หลายร้อยหลังคาเรือน โดยเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หากมีการระเบิดเขาทำเหมืองแร่
ตัวแทนชาวบ้านเล่าว่า เขากะลา เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศให้ชาวบ้านกับป่าได้พึ่งพาอาศัยกันอย่างสมดุล แต่ถ้าหากเกิดการสร้างเหมืองแร่หินและระเบิดเขา มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง การทำเกษตรกรรมรวมถึงชุมชนเขากะลาที่เป็นแหล่งต้นน้ำของบึงบอระเพ็ด จะปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นำความเดือดร้อนมายังชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเห็นบทเรียนจากที่ก่อนหน้านี้มีการระเบิดภูเขาและส่งผลกระทบทั้งฝุ่นควัน ซึ่งหวั่นผลกระทบทางสุขภาพในอนาคตของลูกหลาน
เครือข่ายชุมชนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ จึงยังคงติดตามสถานการณ์อย่างไกล้ชิด โดยเตรียมยื่นหนังสือผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ อุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติเวทีการประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 (EIA) ของ บริษัท ตถาตาสิ่งแวดล้อม จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม) ของบริษัท ศิลาพระนอน จำกัด เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทบทวนอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานและทุกคนในชุมชน