‘ภาคประชาชน’ ยืนยัน เดินหน้าผลักดันจังหวัดสตูลเป็นเมืองอุทยานธรณีโลกเต็มรูปแบบ พร้อมเสนอให้มีการตรากฎหมายการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรและเหมืองแร่เพื่อสาธารณะ ให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้ ไม่ใช่เพียงกลุ่มทุน
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 ในเวทีเสวนาเชิงวิพากษ์ “เมืองธรณีโลก กับภัยคุกคามและข้อเสนอเพื่อการพัฒนาของภาคประชาชน” เริ่มต้นด้วยการนำเสนอข้อมูลจาก สมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ถึงสถานการณ์การขอสัมปทานเหมืองหิน 3 แห่งของจังหวัดสตูล คือ เขาลูกเล็กลูกใหญ่ ใน อ.ทุ่งหว้า ซึ่งตอนนี้ผ่านกระบวนการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้แล้ว, เขาจูหนุงนุ้ย อ.ละงู อยู่ระหว่างการรังวัดพื้นที่ขอประทานบัตร และ เขาโต๊ะกรัง คาบเกี่ยวระหว่างอ.ควนโดนและอ.ควนกาหลง มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ที่กำกับเรื่องการทำ EIA ไปแล้ว 1 ครั้ง และอยู่ระหว่างการปรับแก้เอกสาร
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการดังกล่าว มีการตั้งคำถามว่า ข้อร้องเรียนต่อความไม่ชอบธรรมในกระบวนการดังกล่าวหายไปไหน และคณะกรรมการ คชก. ได้รับข้อมูลนี้หรือไม่ นอกจากนี้ พื้นที่สัมปทานเหมืองหิน 2 แห่ง คือ เขาลูกเล็กลูกใหญ่ และเขาจูหนุงนุ้ย ยังอยู่ในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ขณะที่เขาโต๊ะกรัง แม้ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานธรณีโลก แต่มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรและเป็นผืนแผ่นดินเชื่อมร้อยกัน ซึ่งต้องมีการสำรวจศึกษาเพิ่มเติมการขยายพื้นที่ธรณีโลก หรือต้องร่วมกันมองภาพรวมปัญหาที่เกิดขึ้น และหาแนวทางเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผศ.ป้องศักดิ์ ทองเนื้อแข็ง มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (วิทยาเขตสตูล) ในฐานะรองผู้อำนวยการอุทยานธรณีโลกสตูล กล่าวว่า อุทยานธรณีโลกสตูล เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ยูเนสโกรับรอง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ครอบคลุมพื้นที่ อ.ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอ.เมืองสตูล เฉพาะอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา รวมพื้นที่ตามประกาศ 2,597 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศที่โดดเด่นจากภูเขา สู่ ท้องทะเล ก่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่า อย่างภูมิประเทศแบบคาสต์ (karst topography) หรือ ที่ราบสูงหินปูน เช่น ถ้ำภูผาเพชร ใน อ.มะนัง ถ้ำอุไรทอง ใน อ.ละงู ถ้ำเลสเตโกดอนพบฟอสซิล ฟันกรามของช้างสเตโกดอน อ.ทุ่งหว้า และยังมีโซนหมู่เกาะทางทะเล ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง เกาะราวี และพบซากฟอสซิล 500 ล้านปี บอกถึงระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์โดดเด่นระดับโลก และกว่าจะได้มาซึ่งการเป็นพื้นที่สำคัญและมีคุณค่าของโลก ต้องมีการสำรวจวิจัย ตีพิมพ์ระดับนานาชาติ ซึ่งการเป็นอุทยานธรณีโลก นอกจากความสำคัญคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังรวมไปถึงความสำคัญของผู้คนในพื้นที่ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
“Geopark is people ผู้คนคือส่วนสำคัญ ที่สุดในอุทยานธรณีโลก ที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม ทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การสร้างความรู้การเรียนรู้ กิจกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน“
ทั้งนี้ หากชาวบ้านในชุมชนที่ยังไม่ประกาศเป็นเขตอุทยานธรณีโลก อยากให้มีการขยายพื้นที่ครอบคลุม ชุมชนต้องมีการสำรวจ ศึกษา วิจัย เพื่อยื่นเสนอขยายพื้นที่เพิ่มได้ และหากชุมชนในพื้นที่ธรณีโลก มีข้อกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่สามารถยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลในฐานะคณะกรรมการอำนวยการอุทยานธรณีโลกสตูลพิจารณาได้
ด้าน ศ.สุริชัย หวันแก้ว คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกประเทศไทย ระบุว่า เมื่อก่อนมักให้ความสนใจในการดูแลทรัพยากรเพื่อค้าขาย การพาณิชย์ แต่ยูเนสโก ได้วางภารกิจที่ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการค้ากำไร การพาณิชย์อย่างเดียว ได้เม็ดเงินเยอะ แต่จะไม่เหลืออะไรให้คนรุ่นใหม่ นวัตกรรมมรดกโลกอุทยานธรณีโลก จึงไม่ใช่แค่การดูแลรักษาอย่างเดียว แต่ต้องเห็นคุณค่า ความภาคภูมิใจ การตื่นตัวดูแลทรัพยากร ดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องเป็นแหล่งความรู้ที่มีชีวิต ท่องเที่ยววัฒนธรรมที่ทำให้รู้จักประวัติศาสตร์ที่ต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจฐานราก จึงต้องยึดโยงกับการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นชุมชน และที่น่ากังวลคือในเดือนเมษายนนี้ ถือเป็นช่วงเวลาครบกำหนด 4 ปี ที่คณะผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกจะมาประเมิน ซึ่งหากเราดูแลทรัพยากรไม่ดี ก็เสี่ยงที่จะถูกเตือนไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานได้รับใบเหลือง หากแย่มากจะได้ใบแดง
“ต้องมีนโยบายการพัฒนายั่งยืน ไม่ใช่มาหลอกชาวโลก เพราะนี่เป็นมาตรฐานใหม่เพื่อการรับผิดชอบของมนุษย์ที่มีต่อทรัพยากรที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ อนุรักษ์ใช้ประโยชน์อย่างเห็นคุณค่าด้วย การดูแลทรัพยากรที่มีความหมายทางวัฒนธรรมและธรณีวิทยา เรียกร้องให้ประสานนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน เอาความรู้มานำใช้พัฒนาท้องถิ่นมีบทบาทร่วมกัน และขยายบทบาทท้องถิ่นภาคประชาชน”
ขณะที่ ยะโกบ ปะดุกา ประธานผู้แทนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) จังหวัดสตูล มองว่าไม่ควรให้มีการสัมปทานระเบิดภูเขาหิน เพราะอย่างเขาโต๊ะกรัง มีแหล่งน้ำซับซึม เป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ มีความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เป็นที่บังกระแสลม บริเวณโดยรอบมีแหล่งโบราณสถานสำคัญ พบโครงกระดูกโบราณ ใกล้โรงเรียน ชุมชน จึงไม่ควรที่จะให้แค่คนเดียวหรือบริษัทเดียวได้ใช้ประโยชน์ แต่ต้องเห็นประโยชน์ของส่วนรวม
ส.รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 กำหนดว่าหากเป็นพื้นที่มีแหล่งน้ำซับซึม ไม่สามารถอนุญาตให้ประทานบัตรได้ ซึ่งพื้นที่ขอสัมปทานของสตูลล้วนเป็นพื้นที่แหล่งน้ำซับซึม มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการขอประทานบัตรอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งการพิจารณาให้ใช้พื้นที่ป่าของกรมป่าไม้ ต้องยึดกฎหมายฉบับนี้ด้วย จะอ้างกฎหมายที่ตนถืออยู่ไม่มีข้อห้ามเรื่องนี้ไม่ได้
“ต้องถามว่าคุณวัดยังไงจากจุดไหนไปจุดไหน เพราะแหล่งน้ำซับซึม คือกินบริเวณเป็นวงกว้างทั้งหมด จะอ้างว่าพื้นที่สัมปทานวัดห่างจากต้นน้ำซับซึม หรือเส้นทางน้ำซับซึมแล้ว 15 เมตร หรือ 100 เมตร ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะคำว่าแหล่ง คือกินพื้นที่ครอบคลุมตรงนั้นทั้งหมด”
ตัวแทนมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุมชนหรือโรงเรียนก็เช่นกัน แม้กฎหมายจะกำหนดระยะห่างจากพื้นที่สัมปทานไม่น้อยกว่า 500 เมตร แต่พบว่าหลายพื้นที่ข้อมูลหน่วยงานไม่ตรงกับการรางวัดของชาวบ้าน และหากถอดบทเรียนจากกรณีเหมืองหินเขาคูหา จ.สงขลา จะพบว่าการพัดพาฝุ่นละอองจากเหมืองหินไปไกลถึง 5 กิโลเมตร และก้อนหินกระเด็นไกลอย่างน้อย 300 เมตร และผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้าน ซึ่งผ่านมา 10 กว่าปี ยังไม่ได้รับการเยียวยา ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาผลกระทบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านสุขภาพอย่างจริงจัง
ส่วน วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ในฐานะตัวแทนจากพื้นที่อ.ทุ่งหว้า กล่าวว่าผลการตรวจสอบแหล่งหิน เขาลูกเล็กลูกใหญ่ ใน อ.ทุ่งหว้า มีการประเมินคุณค่าหิน 2,300 ล้านบาท แต่ที่กรมป่าไม้จะได้เงินจากการขายภูเขา คือ รัฐได้ค่าภาคหลวงแค่ 90 ล้านบาท ถ้าเป็นตนจะไม่ขาย เพราะเคยเปรียบเทียบดูราคาหิน เราพิสูจน์ตั้งแต่วิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลา ขายสัตว์น้ำแปรรูป ปลาอินทรี ได้ตันละ 5 แสนบาท แต่ระเบิดหินทิ้ง กรมป่าไม้ จะได้ตันละ 180 กิโลกรัม หรือตกกิโลกรัมละ 18 สตางค์เท่านั้น
“ผมท้าเลย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากบอกว่าเป็นสิทธิบริษัทเอกชนที่จะขอสัมปทาน อย่างนั้นในทางกลับกัน ถ้าจะจัดประชาพิจารณ์ ให้ชาวบ้านเลือกเลย ระหว่างระเบิดภูเขาทิ้ง แล้วเอกชนได้ประโยชน์แค่รายเดียว กับให้ชาวบ้านทั้งชุมชน สามารถเข้าไปทำประโยชน์ สนับสนุนงบประมาณให้จัดการท่องเที่ยวชุมชน ที่ทรัพยากรไม่หมดไป มีรายได้ตลอด แล้วให้โหวตเลย อย่างนี้ถึงจะเป็นธรรม แล้วมาดูชาวบ้านจะเลือกอะไร “
ในช่วงท้าย ได้มีการสรุปข้อเสนอของภาคประชาชน 5 ข้อ คือ 1. ให้ชะลอโครงการสัมปทานทั้งหมดไว้ก่อน 2. จัดให้มีการศึกษา สำรวจแหล่งธรณีที่สำคัญทั้งจังหวัด เพื่อทำแผนการพัฒนาอย่างเป็นระบบในอันที่จะทำให้จังหวัดสตูลเป็นเมืองอุทยานธรณีโลกเต็มรูปแบบ หรือจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ SEA จังหวัดสตูล เพื่อศึกษาศักยภาพในพื้นที่ และออกแบบการพัฒนาในอนาคต 3. จัดให้มีการประเมินภายในโอกาสครบรอบ 4 ปี อุทยานธรณีโลกสตูล ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการอำนวยการอุทยานธรณีสตูล 4. จัดเสนอพื้นที่อุทยานธรณีโลกเพิ่มเติม โดยเริ่มที่พื้นที่แหล่งวัฒนธรรมกลุ่มเขาโต๊ะกรัง อ.ควนโดน จ.สตูล 5. เสนอให้มีการตรากฎหมายการประโยชน์จากฐานทรัพยากรและเหมืองแร่เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้ ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มทุนเท่านั้น
โดยเตรียมที่จะนำข้อเสนอดังกล่าว ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการอุทยานธรณีโลกสตูล