เครือข่ายสนับสนุนการกระจายอำนาจ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ สส. สว. หนุนก้าวไกล-เพื่อไทยตั้งรัฐบาลตามมติมหาชน เชื่อสังคมไทยไปต่อได้ เพียงทุกฝ่ายต้องรับฟัง
วันนี้ (3 ส.ค. 2566) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม 32 กลุ่ม แถลงข้อเรียกร้องให้ สส. และ สว. ร่วมทำทุกวิถีทางให้ก้าวไกลและเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันตามเจตนารมณ์ของประชาชน หวั่นกลุ่มหนุนรัฐประหารเข้าครอบงำการเมือง ชี้ ชนชั้นปกครอง-กลุ่มทุนต้องแสดงบทบาทในการรักษาระบอบประชาธิปไตย ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในพลังของการรวมตัวเพื่อผลักดันประเด็น เชื่อว่าสังคมไทยจะพัฒนาได้เพียงทุกฝ่ายต้องรับฟัง
เครือข่ายภาคประชาสังคมสนับสนุนการกระจายอำนาจ ระบุในแถลงการณ์ว่า ประชาชนได้แสดงเจตนารมณ์ผ่านผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยมีพรรคการเมืองซึ่งสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากเป็นอันดับที่ 1 (พรรคก้าวไกล) และอันดับที่ 2 (พรรคเพื่อไทย) ตามลำดับ ทว่า มติของมหาชนกำลังมีแนวโน้มคลาดเคลื่อนไปจากหลักการ เพราะระบบกฎหมายและกลไกรัฐสภาที่บีบให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถรวมเสียงเห็นชอบในการจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และนำไปสู่การวางเงื่อนไขให้พรรคก้าวไกลต้องออกไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งขัดต่อ MOU ที่ได้แถลงต่อสาธารณะ
ทางเครือข่ายฯ กังวลว่า ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่พรรคอันดับ 1 ไม่สามารถร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นนี้ เป็นการไม่เคารพต่อมติมหาชน และอาจส่งผลให้เกิดฉากทัศน์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น พรรคที่เคยสนับสนุนการทำรัฐประหารอาจได้เข้ามาร่วมรัฐบาล, การปราบปรามการชุมนุมของมวลชนที่ไม่พอใจต่อการจัดตั้งรัฐบาล และอาจนำไปสู่การสร้างเงื่อนไขในการรัฐประหาร เป็นต้น
เครือข่ายภาคประชาสังคมทั้ง 32 กลุ่มเห็นพ้องว่า สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงเจตนาของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองที่พยายามรักษาอำนาจของตนเองไว้ เป็นเหตุให้ประเทศหยุดนิ่ง ตรงกันข้ามกับองค์กรรัฐภาคท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจท้องถิ่นที่ต้องปรับตัว เพื่อลดผลกระทบจากระบบการเมืองส่วนบนที่ล้าหลัง-ไม่ทันการณ์ ขณะที่พื้นที่ต่าง ๆ มีประเด็นปัญหาเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน
เครือข่ายภาคประชาสังคมสนับสนุนการกระจายอำนาจ ยืนยันว่าตนไม่ได้ฝักฝ่ายขั้วการเมืองใด เพียงหวังให้ประชาธิปไตยเดินต่อได้ จึงเห็นถึงความจำเป็นในการแสดงจุดยืนและเรียกร้องต่อทุกฝ่ายให้ช่วยกันคลี่คลายอุปสรรคในการสร้างสังคมประชาธิปไตย โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ดังนี้
1) เรียกร้องให้ สส. และ สว. รักษาหลักการและวิถีทางประชาธิปไตยโดยการออกเสียงลงคะแนนและกระทำทุกประการอย่างชอบธรรม เพื่อให้เกิดรัฐบาลที่มีพรรคจำนวน สส. มากเป็นลำดับที่ 1 และอันดับที่ 2 เป็นพรรคร่วมรัฐบาลตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนแสดงผ่านการเลือกตั้ง
2) เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ นำพรรคก้าวไกลและพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเดิมกลับมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศและหลักการประชาธิปไตย
3) เรียกร้องให้ชนชั้นนำทางการเมืองและกลุ่มทุน แสดงบทบาทในการรักษาระบอบประชาธิปไตย และวางอคติที่อาจเป็นการขัดขวางกระบวนการทางประชาธิปไตย
4) เรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือกันกับภาครัฐและภาคเอกชนตามบริบทของปัญหาและพื้นที่ ในรูปแบบสภาพลเมืองและอื่นๆ เพื่อให้การร่วมกันจัดการตนเองเป็นพลังแห่งการพัฒนาไปข้างหน้า
“เชื่อมั่นว่าสังคมไทยมีศักยภาพในตัวเพียงพอที่จะจัดการปัญหาของตนเองได้ ค้นพบทางออกของตนเองได้…เพียงแต่พวกเราต่างต้องรับฟังกัน เคารพกันและยึดถือประโยชน์ร่วมกันของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญเหนือกว่าอื่นใด”
แถลงการณ์เครือข่ายภาคประชาสังคมสนับสนุนการกระจายอำนาจ