​’กระจายอำนาจ’ เปิดโอกาสให้ ‘คนจนเมือง’ มีส่วนร่วม​แก้ปัญหาของตนเอง

การแก้ปัญหาคนจนเมืองต้อง​ให้เจ้าของปัญหามีส่วนร่วมแก้ปัญหา กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น​จัดการได้ยั่งยืนครอบคลุมทุกมิติ ‘กลุ่มปั้นเมือง’ เสนอภาคธุรกิจเข้ามาสนับสนุนให้คนในพื้นที่ที่ลงทุน​เป็นแรงงานที่มีที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงาน​

วันนี้ (20 ก.ค. 68) ในนิทรรศการ “เท่าหรือเทียม: เส้นทางความเหลื่อมล้ำ คนจนเมือง” ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ช่วง เสวนา Policy & Action: แก้ให้ได้ ไล่ให้ทัน “ความจน” ใน “เท่าหรือเทียม เส้นทางความเหลื่อมล้ำ คนจนเมือง” ระดมความคิดแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนที่ไม่ใช่แค่เรื่องปัจเจกส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาโครงสร้างที่เรื้อรังยืดเยื้อยาวนาน

เฉลิมศรี ระดากูล รอง ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวถึง ​โครงการบ้านมั่นคง ที่กำลังทำอยู่ เพื่อเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของตนเอง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติ

“การแก้ไขปัญหาคนจนในเมือง ต้องให้คนจนเมืองในฐานะเจ้าของปัญหาเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข สร้างการรวมกลุ่มในการแก้ปัญหาร่วมกัน พร้อมกับเสริมพลังความเข้มแข็ง การกระจายอำนาจจึงมีความสำคัญ ที่ชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นมีส่วนร่วม สามารถออกแบบแผนการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐ ในแต่ละเรื่อง และเสนอทางออกเชิงนโยบาย และมีงบประมาณสนับสนุนโดยภาครัฐ”

ด้าน สุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า ​กระทรวงไม่สามารถไล่ทันความยากจนประชาชนได้ พยายามจัดการด้วยสิทธิและสวัสดิการ โดยที่ผ่านมาศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน(ศรส.) ​ รับเรื่องราว 70,000 เคส จำนวนมากเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย พม.จึงทำประเด็นที่อยู่อาศัยเป็นหลัก เริ่มต้นจากสนับสนุนแก้ไขระเบียบห้องเช่า เพื่อลดต้นทุน สนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจห้องเช่าลดค่าใช้จ่ายบางส่วน

รวมทั้งส่งเสริมการมีอาชีพคนในชุมชน เพื่อให้หลุดจากภาวะความยากจนได้ ในการสำรวจ ยังมีผู้ตกสำรวจบ้าง เช่นคนพิการ ผู้สูงอายุ เนื่องจากอยู่ติดที่ แต่ในอนาคต พม. จะพยายามสำรวจพื้นที่ต่างๆให้ละเอียดและครอบคลุมมากขึ้น

ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กล่าวถึงการทำงานร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาคนจนเมือง ว่า ที่ผ่านมาได้ใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงการศึกษา ยกระดับสาธารณสุข เพื่อลดค่าใช้จ่าย สำหรับคนพิการ ทาง กทม.ได้จัดอาชีพ 10 อาชีพ เพื่อจ้างงานคนพิการตามงานที่เหมาะสมกับความพิการ และให้รับการพัฒนาทักษะ เข้าถึงอาชีพได้ สำหรับคนไร้บ้าน ได้พัฒนาโครงการบ้านอิ่มใจเพื่อคนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัย และออกแบบอาชีพที่รองรับคนไร้บ้าน ให้มีงานทำ รวมทั้งพัฒนาระบบสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ​ปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก เพราะปัญหาค่าที่ดินมีราคาสูง และการกระจายอำนาจยังไม่เพียงพอ ทำให้แก้ไขอำนาจได้ไม่เต็มที่ ต้องแก้ไข พ.ร.บ. กทม. เพื่อให้กทม. มีอำนาจแก้ไขปัญหาได้เต็มที่ในระดับเขตได้ โดยเฉพาะอำนาจการบริหารที่ดินควรเป็นของกทม. เพื่อให้แก้ปัญหาได้รวดเร็ว สามารถพัฒนาที่ดินกับสาธารณูปโภคไปพร้อมกัน ที่ประขาชนเข้าถึงได้


มณีรัตน์ มิตรปราสาท สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คนจนเมืองไม่ได้อยู่ในชุมชนแออัด แต่อยู่ในย่านที่เป็นห้องเช่า บ้านเช่า จากการสำรวจ พื้นที่อุบลราชธานี, นครศรีธรรมราช, ภูเก็ต, ปัตตานี , และ นราธิวาส คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มไร้บ้าน เพราะจะไม่สามารถเช่าที่พักอาศัยได้ในอนาคต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีงานทำ ถูกทอดทิ้ง มีปัญหาจิตเวช ว่างงาน ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ขาดโอกาสเข้าถึงสิทธิ

ขณะนี้ได้ทำงานร่วมกับศูนย์ไร้ที่พึ่ง ภูเก็ต และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ค้นหากลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น การช่วยเหลือคนจนเมือง ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ หรือฃอการสงเคราะห์ แต่ต้องสร้างโอกาสให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจตัดสินใจมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหากับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ตั้งกองทุนในชุมชน เพื่อจัดการปัญหาในแต่ละท้องที่ด้วยตัวเอง

ด้าน ศรินพร พุ่มมณี บริษัท ปั้นเมือง จํากัด กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ คนจนในเขตสัมพันธวงศ์ พบว่ามีห้องเช่า บ้านเช่าทั้งหมด 201 พื้นที่ ซึ่งสัมพันธวงศ์เป็นย่านเศรษฐกิจเก่าแก่ ที่มีคนจนเมืองจำนวนมากมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานข้ามชาติ หากแต่ขอบเขตที่ดินยังเท่าเดิม ทำให้คนจนอยู่กันอย่างหนาแน่น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ คือเมื่อนักธุรกิจมาลงทุนในพื้นที่ทำสถานที่ท่องเที่ยว โดนเฉพาะบนถนนทรงวาด ทำให้คนจนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เพราะค่าเช่าที่เริ่มแพงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ในพื้นที่เศรษฐกิจเช่นนี้ คนจนต้องอยู่ในพื้นที่เพื่อให้มีงานทำ มีการจ้างงานจากธุรกิจที่เพิ่งเกิดขึ้น ดังนั้นภาคธุรกิจต้องเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนคนในพื้นที่ที่ลงทุนให้เป็นแรงงานที่มีที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงาน

สมพร หารพรหม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวถึงต้นเหตุการเป็นคนไร้บ้านว่า เพราะค่าเช่าห้อง ค่าอาหาร มีราคาสูงและเมื่อเข้าไม่ถึงสวัสดิการและอาชีพ หลายคนจึงเลือกที่จะเป็นคนไร้บ้าน จากการสำรวจพบว่า เเรงงานพลัดถิ่น ร้อยละ 30 เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ เพราะไม่มีที่อยู่อาศัย หลังสถานการณ์โควิด-19 คนไร้บ้านเป็นกลุ่มที่มีปัญหาซับซ้อน การแก้ปัญหาต้องลงรายละเอียด หลายภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งประชาสังคม ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ไม่มีงานทำ ตัวอย่างในซอยกีบหมู คลองสามวา มีคนจำนวนมากมายืนรอหางานทำ เป็นเเรงงานรายวัน หางานทำงานตอนเช้า รับค่าแรงตอนเย็น ผู้หญิงและผู้สูงอายุหางานทำได้ยากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ดังนั้นต้องออกแบบนโยบายที่ทำให้เข้าถึงงานอย่างยั่งยืน


ขณะที่ อนรรฆ พิทักษ์ธานินทร์ ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนจนเมืองไม่ใช่แค่ในอยู่ชุมชนแออัดเท่านั้น จากการสำรวจในจังหวัด เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่-สงขลา พบว่ามีครัวเรือนยากจนกระจายอยู่ทุกที่ เช่นย่านห้องเช่า บางรายเป็นคนทำงานเกษียณอายุและไม่มีเงินดูแลที่อยู่อาศัย บางรายจบการศึกษาแต่ไม่ทำให้เขยิบสถานะทางสังคมได้
ผู้ประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย มีความเสี่ยงสูง ที่จะยากจนเพราะไม่มีสวัสดิการ เมื่อเจ็บป่วย จึงมีค่าใช้จ่ายสูง

อีกทั้ง จากการสำรวจจุดแจกอาหารคนไร้บ้านในกทม. ร้อยละ 40 เป็นคนจนที่มีบ้าน เป็นผู้สูงอายุวัยเกษียณ ที่เข้าสู่ภาวะยากจนในทันที โดยการรับอาหารฟรีช่วยลดต้นทุนในการดำรงชีวิต

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active