กว่า 1 เดือนของการชุมนุม #ม็อบชาวนา ล่าสุดครม. อนุมัติงบ 2,000 ล้าน ‘จุรินทร์’ ยืนยัน ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ ทำเต็มที่เพื่อจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ ‘ชาวนา’ ยังรอการช่วยเหลือกลุ่มใหญ่อีกโครงการ
วันนี้ (1 มี.ค. 2565) ที่ทำเนียบรัฐบาล จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร หรือ กฟก. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติงบประมาณ จากงบกลางประจำปี พ.ศ. 2565 รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร สมาชิก กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณที่มีไม่เพียงพอของ กฟก. ที่ไม่ได้รับการจัดสรรมาตั้งแต่ปี 2562
“ขอขอบพระคุณ ท่านนายกรัฐมนตรี และครม. ที่อนุมัติเงินสำหรับใช้ในการบริหารจัดการ กฟก. เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน และฟื้นฟูพัฒนาชีวิตเกษตรในทางเป็นประโยชน์ ในปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่เร่งรัดงบก้อนนี้อยู่ ซึ่งขณะนี้ ครม. ได้อนุมัติแล้ว จึงขอแจ้งให้เกษตรกรรับทราบ เพื่อจะได้เดินทางกลับบ้าน ต่อจากนี้จะเป็นหน้าที่ของ กฟก. ที่จะบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์จากโครงการต่างๆ ในการฟื้นฟูเกษตรสมาชิกต่อไป”
จุรินทร์ กล่าวต่อว่า เงินจำนวนนี้จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้จำนวนหลายแสนคน โดย กฟก. จะไปซื้อหนี้แทนเกษตรกร มาเป็นหนี้ของ กฟก. เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดี ฟ้องร้อง และยึดที่ดินทำกิน เพราะ กฟก. จะซื้อหนี้ แต่ไม่ยึดที่ดิน โดยจะให้เกษตรกรผ่อนชำระ และเมื่อครบถ้วน จึงจะได้รับโฉนดที่ดินคืน ซึ่งที่ผ่านมามีเกษตรกรจำนวนมาก ที่ดำเนินการได้ตามโครงสร้าง ได้รับความร่วมมือกับลูกหนี้ตามกฎเกณฑ์ จึงสามารถรักษาที่ดินของตนเองไว้ได้
ด้าน สไกร พิมพ์บึง เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กล่าวขอบคุณ นายกฯ และครม. ที่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรสมาชิก กฟก. สำหรับงบประมาณที่ได้รับในครั้งนี้ จะดำเนินการใน 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. ใช้สำหรับชำระหนี้แทนเกษตรกร จำนวน 3,425 ราย คิดเป็น 4,416 สัญญา (ใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท) 2. ใช้สำหรับฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร (งบประมาณจำนวน 269,617,500 บาท) และ 3. ใช้สำหรับการบริหารสำนักงาน กฟก. (งบประมาณจำนวน 230,382,500 บาท)
“โครงการนี้จะสามารถรักษาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกรได้มากกว่า3,425 ราย จำนวน 5,000 ไร่ เกษตรกรได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูอาชีพจำนวน 42,034 ราย จำนวน 776 องค์กร มีโอกาสพักฟื้นและฟื้นฟูตนเองในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้นำไปชำระหนี้ตามกำหนด”
The Active สอบถามไปยัง เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย หรือ คนท. หนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ร่วมเรียกร้องให้มีการเร่งรัดงบประมาณ เพื่อจัดการหนี้สินจำนวนหนี้ ซึ่งกล่าวถึงมติ ครม. ในครั้งนี้ว่าจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่มีความจำเป็น ต้องได้รับการดูแลจาก กฟก. เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะถูกสถาบันเจ้าหนี้ ดำเนินคดี และยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้ แต่เป็นเกษตรกรเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังคงมีเกษตรกร สมาชิก กฟก. อีกนับแสนราย ที่ยังรอการช่วยเหลือ
โดยโครงการสำคัญ ที่ยังไม่เข้าสู่การประชุมของ ครม. คือ โครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก. ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ ที่จะช่วยเหลือเกษตกรได้ในรอบแรกกว่า 50,621 คน ใช้งบประมาณกว่า 9,200 ลบ. และอยู่ในวาระของการเรียกร้องในครั้งนี้ของกลุ่มม็อบชาวนาด้วย ดังนั้นหมายความว่า แม้จะมีความชัดเจนไปแล้ว 1 โครงการ แต่เกษตรกรยังคงรอการช่วยเหลือในโครงการที่ 2 นี้อีกด้วย