กรีนพีซ ชู ”วิทยาศาสตร์พลเมือง” พัฒนา“จะนะ” ยั่งยืน

“จะนะ” ยั่งยืน เชื่อมทะเลโลกได้ ด้วยข้อมูลที่ชุมชนมีส่วนร่วม ปีนี้ผลักดันความมั่นคงอาหาร, เศรษฐกิจ, ท่องเที่ยว, พลังงานสะอาด ตามยุทธศาสตร์จะนะ  สอดคล้องการพัฒนายั่งยืน

วันนี้ (12พ.ค.67) วิภาวดี แอมสูงเนิน ผู้ขับเคลื่อนสังคมสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และมหาสมุทร กรีนพีซประเทศไทย พูดใน เวทีสาธารณะและแสดงนิทรรศการ “เพื่อนรักต่างศาสนาเพื่อสันติภาพ” ว่า กรีนพีซประเทศไทย รวบรวมปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐที่สั่งการจากบนลงล่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมากกว่า 4-5 ฉบับ สะท้อนว่า ปัญหายังไม่ถูกแก้ และเป็นเรื่องใหญ่ ที่สร้างความขัดแย้งระหว่าง “รัฐ กับ ชุมชน”

ช่วงที่ผ่านมากรีนพีซประเทศไทย ได้ทำงานร่วมกับ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เพื่อเก็บข้อมูลและตั้งคำถามถึงความยั่งยืนของพื้นที่ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ”วิทยาศาสตร์พลเมือง” (Citizen Science) เพื่อให้การพูดคุยมีข้อมูล และไปไกลถึงการกำหนดทิศทางการพัฒนา และการบอกให้ชุมชนเข้าใจว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง

Citizen Science คือ การเก็บข้อมูลชุมชน โดยมีชุมชนเป็นคนทำ ความสำคัญของวิทยาศาสตร์พลเมือง คือ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ให้ และผู้ทำข้อมูล เป้าหมาย คือ ให้ทุกคนมีส่วนร่วม เข้าใจ และเห็นศักยภาพพื้นที่ตัวเอง  โดยมีองค์ประกอบหลายส่วน อาทิ นักจดบันทึกในชุมชน, นักประสานงานชุมชน พาลงพื้นที่, นักวิชาการ ช่วยสังเคราะห์ข้อมูลที่มีส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย บนฐานทรัพยากรที่มี อาทิ เรื่องเล่า, ภูมิปัญญา, ความสามารถชุมชน, GPS ฯลฯ

กรีนพีซ ระบุ ข้อค้นพบในการทำ ยุทธศาสตร์ของ จะนะ 15 ข้อ มีความสอดคล้องกับ ทิศทางความยั่งยืน (SDGs) เพราะให้ความสำคัญกับท้องถิ่น เชื่อมโยงกับบริบทโลก นอกจากนี้ยังพบว่า การทำข้อมูลชุมชน คือการสร้างส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดย 4 ประเด็นหลักที่จะต่อยอดในปีนี้ คือ “ความมั่นคงทางอาหาร” จัดการทรัพยากรในพื้นที่ทางทะเล อาหาร ทรัพยากรทั้งคน และธรรมชาติ ต่อ ยอดสู่การพัฒนา “เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวยั่งยืน” รวมถึง “พลังงานสะอาด” 

ยกตัวอย่าง การจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล โดยมีชุมชนเป็นผู้นำ, การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อชุมชน, การทำโซนนิ่ง เพื่อรักษาภูมิปัญญา และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยมีความร่วมมือระหว่าง “ชุมชนชายฝั่ง กับข้อมูลวิจัยทางทะเล จาก กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง หรือ ทช.” ให้มีข้อมูลที่มากขึ้น  และมีความหวังให้ ยุทธศาสตร์จะนะยั่งยืน 15 ข้อ ถูกยกระดับจากการรณรงค์ สู่ การทำเป็นนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม

โดยทีมผู้จัดย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของ “จะนะ” แต่ควรทำทั่วโลก ทำจากฐานข้อมูลที่ชัดเจนจากชุมชนเป็นฐาน จากนั้นก็จะนำไปจับกับ การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs แต่ละตัว เพื่อให้คนทั้งโลกมีสุขภาวะ สันติสุข สันติภาพร่วมกันทั้งโลก สิ่งนี้ทำให้เห็นชัดว่า จะนะ กำลังเชื่อมโลกบนฐานข้อมูลที่แท้จริง สู่ ข้อเสนอเชิงนโยบายในอนาคต ท้ายที่สุดเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร ให้ทรัพยากรเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active