‘วิโรจน์’ เตรียมตรวจสอบที่ดินรกร้างเอกชน ใช้ช่อง “ข้อบัญญัติ กทม.” สร้างพื้นที่สีเขียวที่เป็นธรรม

สำรวจวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ พรรคก้าวไกล ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มอง “การบริหารเมืองจะคิดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างกติกาที่เป็นธรรม การจัดสรรงบประมาณที่เกิดประโยชน์กับประชาชนทางตรง”

The Active Podcast ชวน #ปลุกกรุงเทพฯ สำรวจนโยบาย 7 ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคอลัมน์พิเศษ “Green Vision : วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” จากความร่วมมือกับ “สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง” พูดคุยกับ ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ พรรคก้าวไกล พื้นที่สีเขียวเพื่อทุกคน

ให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ “เท่าเทียมกัน”

เขามองว่า ที่ผ่านมา การใช้งบฯ กทม. ไปกับการซื้อไม้ดอกไม้ประดับปีละกว่า 60 ล้านบาทนั้น ไม่มีความยั่งยืนต่อการสร้างพื้นที่สีเขียวในระยะยาว ขณะที่โดยปกติ คนมีบ้านมีรั้วหลังใหญ่ เข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้อย่างดี แต่คนทั่วไปมีโอกาสที่จำกัด เมื่อเราพูดถึงพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ทุกคนรู้ว่าเราต้องมีเพิ่ม ต้องปลูกเพิ่ม

สำหรับการหาพื้นที่มาทำเป็นพื้นที่สีเขียวเพิ่ม ต้องจะประสานหน่วยงานราชการ กรมทางหลวง ที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ โดยอาจจะเช่ามาทำพื้นที่สีเขียวได้ แต่การจัดหาพื้นที่ในแบบนี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ตรงกันข้าม กลับพบว่ายังมีพื้นที่ผืนใหญ่ใจกลางเมืองอีกมากที่ล้อมรั้วเอาไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์

“เราใช้ระบบ UTM (Universal Transverse Mercator) เหตุผลหลักเพื่อต้องการรักษารูปร่างโดยเลือกใช้ทรงกระบอก… ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบเช็กเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน พบว่า ที่ว่างขนาดใหญ่ส่วนใหญ่เป็นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แบ่งถือครองโดยบริษัทลูกของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เงื่อนไขแบบนี้คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯ ซึ่งในมหานครใหญ่ ๆ ทั่วโลก จะไม่เป็นแบบนี้ การทำแบบนี้ก็เพราะต้องการเลี่ยงภาษีที่ดิน ผู้ว่าฯ ที่เกรงใจนายทุน จะไม่ได้ให้ความเป็นธรรมคนกรุงเทพฯ เลย ดังนั้น ผู้ว่าฯ ต้องกล้าออกข้อบัญญัติที่เป็นธรรมว่าในพื้นที่ใจกลางเมืองย่านธุรกิจห้ามทำแบบนี้ ถ้าพื้นที่ไม่มีแผนใช้ประโยชน์ จะสามารถทำเป็นสวนสาธารณะได้ หรือมอบสิทธิ์ให้ กทม. ทำเป็นพื้นที่สาธารณะได้ เพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”

วิโรจน์ ก้าวไกล

วิโรจน์ ขยายความว่า กลางเมืองมีที่ดินแปลงใหญ่ ในเมืองที่นายทุนเอาไปซอยเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ให้เป็นที่ไม่สวย ใจกลางที่ดินเป็นที่ตาบอด ให้บริษัทลูกถือครอง เพื่อให้ราคาประเมินถูกลง ภาษีที่ดินถูกลง ถ้าเช็กในระบบ UTM ก็สามารถที่จะรู้ได้ ผู้ว่าฯ ไม่ควรที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น วิโรจน์ มองว่า ควรจะเวนคืนที่ดิน เอามาทำเป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์เมือง

อีกหนึ่งวิธีสร้างแรงจูงใจ คือ ให้สิทธิการใช้ประโยชน์อาคารต่อที่ดิน หรือ FAR (Floor area ratio) ถ้าอยากจะสร้างตึกให้สูงขึ้น จะต้องกันพื้นที่บางส่วนเพื่อช่วยเมืองนี้ในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ตัวอย่าง อาจจะกันพื้นที่ส่วนหนึ่งทำเป็นห้องเช่าราคาที่จับต้องได้ ทำพื้นที่สีเขียวสวนหย่อมเปิดให้คนเข้าใช้ประโยชน์ได้ หรืออาจจะมีพื้นที่สำหรับทำเป็นโรงอาหาร เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารราคาถูกได้ มีพื้นที่ตลาดที่ทำให้เกิดพื้นที่การค้าที่ค่าเช่าไม่แพงได้

“เราสร้างเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกับนายทุน เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ แต่ที่ผ่านมาไม่เวิร์กเพราะ FAR ฐานสูงเกินไป สูงอยู่แล้ว นายทุนสามารถสร้างตึกได้สูงตามความพึงพอใจของเขาแล้ว จึงไม่รู้ว่าจะทำเรื่องนี้ไปทำไม สิ่งดี ๆ จึงไม่เกิดขึ้น ลำพังการบริหารเมืองจะคิดแบบบริษัทเอกชนไม่ได้ เมื่อสร้างกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม หรือกฎที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน คนตัวใหญ่ก็เลยไม่มีแรงจูงใจในการโอบรับ หรือแก้ปัญหาเมือง”

บริหารจัดการงบประมาณและพื้นที่อย่างเป็นธรรม ให้ประชาชนได้ประโยชน์

เขายกตัวอย่าง การระบายน้ำ หากเอางบฯ ไปจ่ายให้กับผู้รับเหมาทำอุโมงค์ระบายน้ำ แต่งบฯ ซื้อเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ไม่อนุมัติ อย่างนี้คือกรจัดสรรงบฯ ที่ไม่ได้ให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน สิ่งสำคัญคือ manage (จัดการ) regulate (กำกับควบคุม) budget allocate (จัดสรรงบปรมาณ) ถ้า 3 อย่างนี้ไม่ทำ แต่ไปเน้น educate (ให้ความรู้) และไป participate (การมีส่วนร่วม) จะเห็นว่า ถ้ากติกาไม่เป็นธรรม คิดแต่การบริหารอย่างเดียว ไม่ทุ่มเทงบประมาณให้กับเรื่องที่สำคัญ เรื่องที่เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่พยายามให้ความรู้ รณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วม สุดท้ายจะกลายเป็นกิจกรรมเอาหน้าที่ไม่ยั่งยืน ให้ประชาชนเหนื่อยฟรี

“ยกตัวอย่างที่บางขุนเทียน ประชาชนเคยให้พื้นที่สำหรับการปกป้องชายฝั่ง จากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง แต่ กทม. ไม่ทำสุดท้ายชายฝั่งถูกกินไปเรื่อย ๆ กัดเซาะไปเรื่อย ๆ ดังนั้น ผมยืนยันว่า กรณีพื้นที่สีเขียวหากไม่สร้างกติกาที่เป็นธรรม แต่ทำกิจกรรมรณรงค์ว่ากำลังทำตามมาตรฐาน WHO แบบนี้เมืองไม่ยั่งยืน”

ที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมาเป็นแบบราชการรวมศูนย์ ที่งบฯ ไปตกอยู่ที่สำนักงานเขตบ้าง สำนักงานต่าง ๆ บ้าง แต่ที่หนักใจคืออยู่ในส่วนงบฯ กลางผู้ว่า ประชาชนจึงต้องคอยแต่ร้องขอ “เราพยายามพูดถีงการจัดสรรงบประมาณ แบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม”

“ต้องดึงงบฯ ออกจากส่วนกลาง ที่อยู่ตามสำนักตามเขตต่าง ๆ ออกมาสัก 4,000 ล้านบาท ในเบื้องต้น จากนั้นก็จะกระจายไปยังสำนักงานเขตต่าง ๆ สู่ชุมชนต่าง ๆ ชุมชนละ 500,000-1,000,000 บาท และอีก 200 ล้านบาทกันเอาไว้ให้คนกรุงเทพฯ โหวตร่วมกัน มีกลไกให้โหวต ว่าต้องการใช้งบฯ นี้ทำอะไร เช่น ทำสวนในชุมชน ให้ผู้สูงอายุมีลานกายภาพบำบัด มีบันไดขั้นเล็ก ๆ ฝึกเดินเหิน ให้ประชาชน ชุมชนโหวตได้เลย และสั่งการไปที่ กทม. หากต้องประสานงานก็ให้เขตทำงานรับใช้ประชาชน ให้ประชาชนมีเจ้าของอำนาจ เพราะให้ประชาชนได้ถือเงิน”

กรุงเทพฯ มีพื้นที่อยู่ 18% ไม่มีตลาดในระยะทางเดิน 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลเกินกว่าที่คนจะเดิน แปลว่า กทม. ยังขาดพื้นที่ตลาดอยู่เยอะ และคนกรุงเทพฯ ก็หาแหล่งอาหารราคาถูกได้ยากด้วย หลายพื้นที่อาคารพาณิชย์สร้างใหม่ ไม่มีพื้นที่โรงอาหารพร้อมให้บริการ จึงกลับมาพูดถึง มาตรการ FAR สามารถออกข้อบัญญัติหรือข้อกำหนดว่าอาคารใดที่อยากจะสร้างตึกสูงมากขึ้นไปอีก สามารถแชร์พื้นที่ส่วนหนึ่งมาทำเป็นพื้นที่จำหน่ายอาหารในราคาที่ย่อมเยา หรือเปิดพื้นที่ให้คนได้เข้าไปขายของในราคาเช่าย่อมเยา หรือมีแนวทางจัดการขยะ หากทำในสิ่งเหล่านี้ได้ ค่าธรรมเนียมขยะถูกลง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกลง แต่สำนักงานเขตต้องเข้าไปกำชับ ไม่ให้เจ้าของพื้นที่ขายนโยบายแบบหลอก ๆ เอาผลประโยชน์แต่ไม่ทำตามเงื่อนไข ซึ่งพบว่ามีหลายพื้นที่ทำตามเงื่อนไขแค่เพียงระยะสั้น และยังรอดจากการเอาผิดของ กทม. ด้วย

“สายไฟฟ้าลงดิน” สร้างเมืองปลอดภัย ต้นไม้สวยงาม

อีกหนึ่งปัจจัยที่วิโรจน์มองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของการปรับทัศนียภาพของเมือง ซึ่งสัมพันธ์กับการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือเรื่อง สายไฟ สายสื่อสาร แม้ต้นไม้ในสวนควรมีการจ้างรุกขกรมาช่วยดูแลต้นไม้ในสวนสาธารณะนั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่ถ้าต้นไม้ที่อยู่ริมทางมีการพาดผ่านของสายไฟฟ้า ซึ่งหลายสายก็เป็นสายที่เลิกใช้แล้ว แต่ปล่อยให้พะรุงพะรัง สามารถแก้ไขได้ด้วยการเอาสายไฟฟ้าและสายสัญญาณลงดิน ซึ่งที่ผ่านมามีความไม่ชอบมาพากล ในเรื่องการของสัมปทานบริษัทจัดสร้างพื้นที่ใต้ดินในการเอาสายไฟฟ้าสายสื่อสารลงดิน ดังนั้น ผู้ว่าฯ จึงต้องไม่เกรงใจผู้ประกอบการ ต้องใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาจัดการ เพื่อให้ต้นไม้ดูแลได้ง่ายขึ้น และรักษาความปลอดภัยกับประชาชน ป้องกันการเกิดไฟช็อต

“ทำไมรุกขกรถึงไม่อยากตัดต้นไม้ตามที่ได้เรียนมา ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัด เช่น สายไฟรุงรัง ลำบากใจในการทำงาน ต้องเห็นใจรุกขกรด้วย เขาไม่สามารถตัดได้ ถ้าระบบนิเวศไม่เอื้ออำนวยเขา ผมคิดว่าเรื่องการเอาสายไฟลงดินสำคัญ และพบว่าที่มันไปไม่ได้เพราะมันมีเรื่องของผลประโยชน์ เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นใหม่”

ขณะที่การจ้างงานของ กทม. ควรเป็นลักษณะของงานที่เกิดประโยชน์กันส่วนรวม เช่น การจ้างคนดูแลสวน ที่ผ่านมาเราเห็นว่ามีสวนเกิดขึ้นมากมาย แต่รกร้างเพราะไม่มีคนดูแลสวน หรือผู้ดูแลเด็ก เพื่อให้พ่อแม่มีเวลาไปทำงาน และต้องดูแลสวัสดิการให้เขาด้วย เจ้าหน้าที่ดูแลสวน ดูแลขยะ ดูแลพื้นที่น้ำ ต้องดูแลให้เขามีสวัสดิการ ทำงานด้วยความมั่นใจทำงานที่ลำบาก หรือมีความเสี่ยง

ติดตามรับฟังเนื้อหาเพิ่มเติมของ ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ได้ที่ คอลัมน์ “Green Vision วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” โดยความร่วมมือของ The Active และ สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ได้ในรายการ The Active Podcast และ ThaiPBS Podcast

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้