กทม.ดัดแปลง Open Data Impacts Survey จากโมเดลอังกฤษ นำร่องปรังปรุง “Open Data” ให้ตอบโจทย์ปัญหาเมือง ชวนประชาชนร่วมทำแบบสอบถามอยากให้ กทม.เปิดข้อมูลแบบไหน พร้อมมีส่วนร่วมเสนอแนะ ปรับปรุงนโยบายและประเมินการทำงาน ผ่านลิ๊งค์ออนไลน์ตั้งแต่วันนี้
ทีม กทม. เผยแพร่ลิ้งค์ออนไลน์ BMA Open Data Survey ให้ประชาชนมีส่วนร่วมการให้ข้อมูลกับ กทม. โดยไม่ต้องระบุตัวตน ซึ่งโครงการนี้ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับ กทม. ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงชุดข้อมูล ปรับปรุงนโยบาย ประเมินการทำงาน รับบริการออนไลน์ ฯลฯ ยิ่งประชาชนมีส่วนร่วมกับการบริหาร ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาเมืองได้รอบด้าน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น
Open Bangkok หัวใจสำคัญ คือ ประชาชน
หากย้อนดูนโยบาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะพบว่า สิ่งที่ผู้ว่า กทม. เน้นย้ำผ่านนโยบาย Open Bangkok คือ การให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญ ที่นายชัชชาติ ย้ำมาตลอด และหนึ่งในนั้น คือ การให้ความสำคัญกับข้อมูลเปิดหรือ “Open Data” เพื่อเปิดเผยข้อมูลสำคัญของเมือง
ที่ผ่านมา แม้ กทม. จะเปิดเผยข้อมูลบน data.bangkok.go.th อยู่แล้ว แต่เป็นการเปิดตามความพร้อมของแต่ละหน่วยงาน โดยไม่มีการตั้งคำถามเลยว่า ข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ หรือถูกจัดเก็บตามมาตรฐานที่ดีพอหรือยัง จึงเป็นที่มาของการทำ “BMA Open Data Survey” เพื่อสำรวจเลยว่าประชาชนอยากให้เปิดเผยชุดข้อมูลไหน ต้องการนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดอย่างไร กทม. จะนำผลจากแบบสอบถามนี้ไปปรับปรุงแนวทางการเปิดเผยข้อมูล ให้ตอบโจทย์ทั้งความโปร่งใส และประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดแก่ประชาชน
ความท้าทายการทำชุดข้อมูลเปิด Open Data
เนื่องจาก ประเทศไทยเองก็ยังไม่ได้เป็น รัฐบาลเปิด (Open Government) ความท้าทายของโครงการ Open Bangkok คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามาถูกทาง สิ่งที่ทำอยู่จะนำไปสู่การเป็นหน่วยงานเปิดที่ได้รับการยอมรับจากสากลจริงๆ ทีมงานให้ข้อมูลกับ The Active ว่าได้ทำการศึกษาตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากต่างประเทศ ปรับแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของ กทม. โดย BMA Open Data Survey เลือกที่จะดัดแปลงมาจาก Open Data Impacts Survey ของอังกฤษ เพราะรัฐบาลอังกฤษขึ้นชื่อเรื่อง user-centric อันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งตรงกับหัวใจของโครงการ Open Bangkok นับว่าเป็นโครงการที่น่าจับตามองมาก เพราะเป็นการ เปลี่ยนทั้ง mindset และวิธีการทำงานของหน่วยงานรัฐ เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่อาจทำให้ประเทศไทยได้มีรัฐบาลเปิดแบบสากล
ประชาชนที่สนใจจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานพัฒนา ข้อมูลเปิดของเมือง ผลักดันมาตรฐาน กทม. ทำแบบสำรวจร่วมกันได้โดยใช้เวลาเพียงไม่เกิน 3 นาที ผ่าน BMA Open Data Survey ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป #OpenBangkok #OpenData