ไทยพีบีเอสร่วมกับภาคเอกชน ปักหมุดพัฒนา ย่านหลักสี่สีเขียว

เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม ระดมความคิดเห็น เปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สีเขียว ตามนโยบายสวน 15 นาที สู่วิสัยทัศน์ย่านน่าอยู่ เข้าถึงง่าย กระตุ้นเศรษฐกิจ

วันที่ (20 มี.ค. 66) ไทยพีบีเอส ร่วมกับ กลุ่ม we!park และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลหารือแนวทางการเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียวในย่านหลักสี่ ณ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (ไทยพีบีเอส) โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา เข้าร่วมจำนวนมาก

อดุลย์ พรชุมพล ผู้อำนวยการสำนักบริหาร ไทยพีบีเอส ระบุว่า ด้วยบทบาทของสื่อสาธารณะ นำโดยผู้บริหารไทยพีบีเอส เล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อย่างการเพิ่มพื้นที่สาธารณะในเมือง เพื่อลดมลพิษทางอากาศ และประโยชน์สาธารณะของสังคม ซึ่งในพื้นที่เขตหลักสี่ไทยพีบีเอสทำงานร่วมกับภาคเครือข่ายหลายองค์กร จึงมองเห็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือ สร้างกระบวนการวางแผนร่วมกัน เพื่อทำให้ย่านหลักสี่มีความเป็นสีเขียวมากขึ้น และน่าจะเป็นองค์กรตัวอย่างให้กับสังคมได้

“ในโอกาสครบรอบ 15 ปี การดำเนินงานขององค์การฯ ไทยพีบีเอส เราก็มีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงถือโอกาสในวาระนี้ สร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียว ซึ่งพื้นที่องค์การฯ ของเราส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่สีเขียว มีการจัดสรรพื้นที่เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งเรื่องการดูแลต้นไม้ ปลูกต้นไม้ การดูแลรักษาสวน ให้เป็นพื้นที่พักผ่อนได้ด้วย และยินดีที่จะปรับปรุงพื้นที่ด้านหน้าอาคาร และด้านหลังป้ายรถเมล์ เป็นสวนที่เข้าถึงได้ใน 15 นาที เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรสื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนการสภาพภูมิอากาศ 2573 net zero ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ”

คมพศิษฏ์ ประไพศิลป์ หัวหน้าฝ่ายโยธา สำนักงานเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปัจจุบันเขตหลักสี่ได้มีแนวคิดตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี เรื่องแนวคิดพัฒนาพื้นที่สีเขียวเป็นการนำพื้นที่ว่างมาพัฒนา นำร่อง 4 โปรเจคส์ คือ สวนริมทางซอยวิภาวดี 62 สวนหมู่บ้านเจริญทรัพย์ สวนหมู่บ้านรุ่งอรุณ และสวนหมู่บ้านรถไฟ ซึ่งเป็นทั้งที่สาธารณะ และพื้นที่ในหมู่บ้านยินยอมให้กรุงเทพมหานครดูแล โดยได้มีการสำรวจพื้นที่และออกแบบเบื้องต้นแล้ว ทั้งเรื่องพื้นที่ริมทาง การจัดระเบียบทางเท้า การออกแบบภูมิทัศน์เบื้องต้น การดูแลรักษาและคำนึงถึงความปลอดภัยของคนในพื้นที่ ประกอบด้วยแนวทางเท้าเดินสัญจร การออกแบบตีเส้นจราจร โดยจะทยอยดำเนินการและเปิดให้บริการต่อไป

“ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน การสนับสนุนของภาคเอกชนให้สามารถเข้ามาร่วมทำกับเราได้ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับประโยชน์ในย่าน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็ว ส่วนโครงการอบรมร่วมกันของภาคีเครือข่าย คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ทำให้เครือข่ายรับทราบว่าเรากำลังทำอะไร และมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง หรือประโยชน์ที่จะได้รับคืออะไร เช่น พื้นที่ละเว้นภาษีจากการปรับปรุงเป็นพื้นที่สาธารณะ โดยหวังว่าโครงการนำร่องอันนี้จะเป็นทางหนึ่งที่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและเครือข่ายอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานครต่อไป ดีใจที่ไทยพีบีเอสได้มาช่วยเพื่อพัฒนาหลักสี่ย่านสีเขียวของเรา”

นอกจากนี้สำนักงานเขตหลักสี่ยังมีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ ตามนโยบายต้นไม้ล้านต้น ช่วยเพิ่มร่มเงาและกรองฝุ่น โดยให้บุคลากรปลูกคนละ 2 ต้น ต่อปีเป็น 1,240 ต้น สำหรับประชาชนที่มาติดต่อราชการก็มีโครงการ plant and care for you สนับสนุนพันธุ์ไม้ ให้ร่วมกันปลูก และอัพเดตข้อมูลความคืบหน้าผ่านออนไลน์ นอกจากนี้สำนักงานเขตยังสำรวจพื้นที่รกร้างว่างเปล่า 14 จุด ดำเนินการให้เจ้าของที่ดินให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงที่ดินให้สะอาดเรียบร้อย เตรียมพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวต่อไป

ณัฐพงศ์ จันทราทิพย์ รองอธิการบดีสายงานบริหารด้านกายภาพ ม.ธุรกิจบัณฑิต กล่าวว่า โปรเจคส์การพัฒนาพื้นที่สีเขียว เป็นเรื่องที่ดีมาก ในฐานะสถาบันการศึกษาในพื้นที่ย่าน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการและสนับสนุนโครงการ ด้วยเห็นความสำคัญของเรื่องนี้

“เป็นโพรเจกที่มีประโยชน์ และเกิดขึ้นได้ง่ายถ้าทุกคนร่วมมือกัน เพราะกรุงเทพฯ เผชิญวิกฤตมลภาวะ วันนี้ที่ได้มารับฟังทราบว่าโครงการนี้มีผลงานนำร่องในการพัฒนาพื้นที่สีเขียว มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว มีผลลัพธ์ที่ดีเอาไปต่อยอดได้เลย อาจเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก เหมือนในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งในย่านนี้มีโรงเรียน มีมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษามาร่วมประกวดออกแบบได้ ให้ประชาชนมีส่วนรวม สร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน ทำเสร็จแล้วก็ต้องมีคนมาใช้งาน ไม่งั้นจะเสื่อมโทรม ถ้าร่วมทำกัน ได้ให้คนรุ่นต่อไปมาใช้ได้ก็เป็นเรื่องดี มหาวิทยาลัยพร้อมให้ความร่วมมือ อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โปรเจกนี้เกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพ ซึ่งมีหลายโมเดลที่น่าสนใจ ถ้าไทยพีบีเอสจะจัดอบรมก็ยินดีส่งบุคลากรมาร่วมอบรมลงรายละเอียดว่าเราจะวางแผนขับเคลื่อนต่อยังไงได้หลายต่อ”

รุ่งรัตน์ สร้อยเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์การค้าไอทีสแควร์ กล่าวว่า ศูนย์การค้าไอทีสแควร์ มีโพรเจกเพิ่มพื้นที่สีเขียว และดูแลสิ่งแวดล้อมอยู่อย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ได้ทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ นำกล้าไม้มาแจกให้กับลูกค้า และเรายังมีลานด้านหน้าห้างสรรพสินค้า สนับสนุนการเป็นออกกำลังกาย ซึ่งในอนาคตเตรียมที่จะออกแบบลานตกแต่งต้นไม้ด้านหน้า ปรับภูมิทัศน์ลานหน้าห้างอีกด้วย

“ไอทีสแควร์ของเราก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะเพิ่มเติม ซึ่งเดิมก็เป็นพื้นที่ออกกำลังกายสำหรับประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้เป็นโอกาสที่จะพัฒนาเรื่องการออกแบบให้เขียวมากขึ้น และสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งโครงการนี้ยังเป็นโครงการที่จะช่วยทำให้เขตหลักสี่ของเรามีพื้นที่สีเขียวมากขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้มาเจอกันทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เราคาดหวังว่าจะเป็นการต่อยอดในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในอนาคต และองค์ความรู้ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจะนำไปต่อยอดกับโพรเจกที่เรากำลังจะทำอยู่ ในบทบาทของภาคเอกชน เวลาที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ในห้างก็จะนำแนวคิดไอเดียสีเขียวไปปรับใช้และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วยตัวแทนจาก ไทยพีบีเอส สำนักงานเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร กลุ่ม we!park บริษัท ไพรเวท พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ปั๊มบางจาก วิภาวดี60 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด กรมทางหลวง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศูนย์การค้า IT Square สโมสรตำรวจ โรงเรียนไผทอุดมศึกษา

โดยหลังจากนี้จะมีการจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสำหรับภาคเอกชน ในวันที่ 2-3 พฤษภาคม 2566 หากภาคเอกชนในเขตหลักสี่ สนใจสามารถติดต่อเพิ่มเติมได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก The Active

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active