‘ศรีสุวรรณ’ จี้ กทม. จัดการเด็ดขาด ปม ‘แอชตัน อโศก’

เร่งออกหนังสือคำสั่ง แก้ไขแปลนการก่อสร้าง ‘แอชตัน อโศก’ สั่งระงับการใช้พื้นที่ พร้อมตรวจสอบเจ้าหน้าที่ ผู้ออกใบอนุญาต แนะ 2 ทางเข้า-ออก หากแก้ไม่ได้ต้องรื้อถอน ด้าน รองผู้ว่าฯ กทม. ย้ำ ถ้าบริษัทมีแนวทางแก้ไข ขอแจ้งก่อสร้างปรับปรุงใหม่ได้

ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

วันนี้ (31 ก.ค.66) ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566  ยืนตามศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียม “แอชตัน อโศก” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามที่ ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ถนนสุขุมวิท ซอย 19 แยก 2 เขตวัฒนา กทม. จำนวน 16 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง โดยศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารโครงการแอชตัน อโศก ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 นั้นทำให้มีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก แต่ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการจากกรุงเทพมหานคร

ศรีสุวรรณ ระบุ หลังจากนี้ตน และผู้ร่วมฟ้องคดียังคงต้องติดตามการบังคับคดีต่อ เพื่อให้ บริษัท อนันดา ตีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ในฐานะเจ้าของโครงการต้องขวนขวายหาทางออก เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดย กทม. ต้องสั่งให้ บ.อนันดา แก้ไขปรับปรุงแบบแปลน เพื่อให้มีทางเข้าออกอย่างน้อย 12 เมตร ให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน อาจจะกำหนดให้ภายใน 60 วัน ซึ่ง กทม.จะต้องเร่งดำเนินการออกหนังสือคำสั่ง ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเช่นกัน

“ต้องหาทางเข้าทางออกให้ได้ในกรอบเวลา เพราะถ้าเกินจากนี้ กทม. ก็ต้องมีหนังสือสั่งรื้อถอนอาคาร ถ้าสามารถหาทางออกได้ ก็จบ กทม.​ ก็อนุญาตไป แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีองค์ประกอบให้ต้องพิจารณาหลายเรื่อง เช่น จะไปออกตรงไหน ถ้าทางออกนั้นไปแตะเรื่องพื้นที่สีเขียว ก็ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ คชก. ให้พิจารณาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีความเป็นไปได้ 2 ทาง ที่จะหาพื้นที่เข้าได้ คือ ด้านข้างของพื้นที่สยามสมาคมฯ และทิศใต้ด้านข้างสมาคมซิกข์ ข้างห้างเทอมินอล 21 ก็ต้องพิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยากับเขา”

ศรีสุวรรณ บอกอีกว่า ส่วนที่หลายคนในโซเชียลแนะนำให้ซื้ออาคารตึกแถวด้านหลัง เพื่อทะลุซอยสุขุมวิท 19 เป็นไปได้ยากเพราะคงไม่คุ้ม เนื่องจากราคาแต่ละคูหาแตะที่ 200-300 ล้านบาท และต้องซื้อหลายคูหากว่าจะทะลุไปถึง ทั้งยังต้องเผชิญปัญหาอีกว่า ซอยสุขุมวิท 19 เป็นถนนที่มีความกว้างอย่างน้อย 18 เมตรหรือไม่ เพราะไม่ใช่ถนนใหญ่ คาดว่าอาจกว้างเพียง 6-7 เมตร เท่านั้น อย่างไรก็ตามหาก 2 ทางเลือกที่กล่าวข้างต้น คือ ออกทางถนนอโศกมนตรี ทางเข้าด้านข้างสยามสมาคมฯ สมาคมซิกข์ (สมาคมนามธารี สังคัต แห่งประเทศไทย) ไม่สามารถเจรจาได้ ย้ำว่า กทม. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร คือต้องออกหนังสือสั่งรื้อถอน หาก บ.อนันดา ไม่ดำเนินการก็ต้องดำเนินการเอง และไปเก็บค่าใช้จ่ายเก็บกับ บ.อนันดา

“วันศุกร์ที่ 4 ส.ค.นี้ ผมจะไปจี้ กทม. 3 เรื่องหลัก คือ 1. ให้ออกหนังสือคำสั่งถึง บ.อนันดา ว่า จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ให้เร่งดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลฯปกครองสูงสุด 2. เมื่อออกหนังสือแล้วจะต้องสั่งห้ามใช้อาคารด้วย ต้องทำการระงับเนื่องจากมีความผิดแล้วทางคดี ต้องทำป้ายไปติด ถ้าไม่ดำเนินการเท่ากับมีความผิดด้วย และ 3.ให้ดำเนินการตั้งกรรมการเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนในการอนุญาตก่อสร้าง แปลว่าต้องตรวจสอบตัวเอง เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนรู้ข้อกฎหมายตั้งแต่ต้น แต่พยายามเล่นแร่แปลธาตุ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันไปไม่ได้ แต่อาจจะมีอะไรเป็นแรงจูงใจที่จะวินิจฉัยให้กลายเป็นสิ่งถูกต้องไปได้แบบนั้น เรื่องนี้ กทม.​ต้องเร่งดำเนินการ เพราะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องแค่ต่อ กทม.​ แต่เป็นเรื่องที่มีผู้มีส่วนเสียจำนวนมาก”

ส่วนกรณีที่ บ.อนันดา บอกว่า มีอีกหลายอาคารที่ทำความผิดในลักษณะเดียวกัน ศรีสุวรรณ ยืนยันว่า ตอนนี้อย่าไปโบ้ยคนอื่น แก้ไขเรื่องตัวเองให้เรียบร้อยเสียก่อน เรื่องอาคารอื่นที่มีการอ้างถึง ตนกำลังไล่สแกนแต่ละพื้นที่แต่ละโครงการอยู่ จะไล่เช็คบิลเอง เช่นเดียวกันกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง รฟท. คชก. กรมที่ดิน

วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.

ด้าน วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่า กทม. เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีแอชตัน อโศกที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างนั้น สำนักการโยธา กทม.จะมีหนังสือแจ้ง สำนักงานเขตวัฒนา พิจารณาออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร โดยใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี อย่างไรก็ตาม การเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าอาคารชุดแอชตัน อโศก จะต้องมีการรื้อถอนอาคาร บริษัทผู้เป็นเจ้าของโครงการ สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ได้ที่สำนักงานเขตวัฒนา โดยบริษัทจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่ศาลสั่ง

“จากการพูดคุยเบื้องต้นกับผู้ว่าฯ ชัชชาตินั้น ทาง กทม.พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ กทม. โดยสำนักงานเขตวัฒนา ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เตรียมส่งหนังสือถึง บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ถือหุ้น 51% และบริษัท มิตซุย ฟุโดซัง จากประเทศญี่ปุ่น ถือหุ้น 49%) เจ้าของโครงการแอชตัน อโศก ในการออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้อง ซึ่งการเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าคอนโด แอชตัน อโศก จะต้องมีการรื้อถอนอาคาร โดยยังมีแนวทางบริษัทผู้เป็นเจ้าของโครงการ สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ได้ที่สำนักงานเขตวัฒนา”

ทั้งนี้บริษัทจะต้องยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างอีกครั้ง โดยจะต้องทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่ศาลสั่ง ซึ่งก็คือ เพิ่มทางเข้า-ออกโครงการ ให้มีความกว้างของถนน 12 เมตร และอยู่ติดกับถนนสาธารณะที่มีความกว้าง 18 เมตร ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายผังเมืองกำหนด หากบริษัทเจ้าของโครงการสามารถปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางเข้า-ออกแล้วเสร็จ ก็สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างได้

“ขอเวลาให้ทีมกฎหมายของ กทม.พิจารณารายละเอียด ตามคำพิพากษาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะเป็นผู้แถลงด้วยตัวเอง เนื่องจากมีผลกระทบกับพี่น้องประชาชน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active