เปิดพื้นที่สวนผักกินได้ริมคลองแสนแสบ

we!park ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดสวนทดลองใช้ POP PARK BKK ในคอนเซ็ปต์ urban agriculture ‘สวนกินได้’ ตอบโจทย์ความหลากหลายของพื้นที่สาธารณะชุมชนเมือง พร้อมรับฟังความคิดเห็นเพื่อวางแผนพัฒนาต่อยอด ขับเคลื่อนพื้นที่สวน 15 นาที ของกรุงเทพฯ

วันนี้ (5 ส.ค.2566) we!park เครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และชุมชนโดยรอบ จัดกิจกรรม Pop Park BKK เปิดสวน 15 นาทีทั่วกรุง “มาทดลองใช้ มาให้ความเห็น” ที่สวนริมคลองแสนแสบ เขตวัฒนา กทม. ภายใต้แนวคิด urban agriculture ขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะ โดยให้ความสำคัญกับ พื้นที่เกษตรพื้นที่สีเขียวกินได้ทั้งในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เมือง ออกแบบพื้นที่สาธารณะของชุมชนให้เป็นพื้นที่แปลงเกษตรของคนเมือง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลพืชพันธ์ และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านการออกมาทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน ทั้งนี้กิจกรรมในงานประกอดด้วยการรับฟังความคิดเห็นเรื่องการพัฒนาพื้นที่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการ การวางแผนดูแลสวนระยะยาว รวมถึงการเวิร์คช็อปเรื่องพืชสมุนไพรให้กลิ่นหอม และการปลูกพืชปรุงดิน

โชคชัย หลาบหนองแสง ผู้จัดการโครงการ g garden กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ในแนวคิด urban agriculture ว่า คือการพัฒนาสวนสาธารณะให้มีประโยชน์ในแง่ของการเป็นพื้นที่สวนกินได้ นอกเหนือจากพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจทั่วไป ซึ่งพื้นที่ตรงนี้อยู่ใจกลางเมืองและมีคนที่เข้าถึง ผ่านไปผ่านมาอยู่แล้วจำนวนมาก อยากให้คนที่แวะเเวียนเข้ามาได้เห็นพื้นที่สวนกินได้ ใช้ประโยชน์ได้ เด็ดหยิบกลับไปทำอาหารได้ หรืออย่างน้อยการได้เข้ามาหยิบดมกลิ่นของสมุนไพรก็ช่วยทำให้ผ่อนคลายแล้ว

“สำหรับในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร เกิดขึ้นได้จริงโดยเฉพาะกับกลุ่มคนรายได้น้อย การที่จะไปซื้อผักกำนึง สิบยี่สิบบาทมันอาจไม่แพงสำหรับคนทั่วไป แต่คนรายได้น้อยสามารถแบ่ง 5 บาทไปซื้อมาม่าได้ และเขาอาจจะมาเอาผักตรงนี้ไปกินด้วย สร้างคุณค่าสำหรับเขามากมาย… สิ่งที่เราอยากจะทำต่อคือการให้ชุมชนได้เข้ามาร่วมดูแล ดำเนินการ แม้คนละเล็กละน้อยที่จะเข้ามารดน้ำ เก็บขยะ ถอนหญ้า ก็จะทำให้สวนนี้เกิดขึ้นได้ อยู่ต่อไปได้ หลังจากนี้ก็จะต้องลงชุมชนและสร้างความเข้าใจต่อเนื่อง”

ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park และเครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการต่อยอดการเกิดขึ้นของโครงการ coaching and clinic หรือการอบรมแนวคิด การทำสวน 15 นาทีให้กับเจ้าหน้าที่เขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร และคัดเลือกมาเป็นสวนต้นแบบ เพื่อพัฒนาต่อในเชิงประเด็น ตามความเหมะสมของพื้นที่ต่างๆ เช่น สวนที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมชุมชน สวนที่มีอาหาร สวนที่พัฒนาควบคู่กับพื้นที่น้ำ ฯลฯ แต่สวนนี้อยู่ในคอนเซ็ปต์สวนที่มีพื้นที่อาหาร หรือ urban agriculture ซึ่งเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการอยู่แล้ว ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ว่า พื้นที่สีเขียว พื้นที่สวน 15 นาที ยังสามารถผนวกเรื่องการเป็นสวนกินได้เข้าไปด้วย เลยเป็นที่มาของพื้นที่ทดลองใช้แห่งนี้ เพื่อชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อยอดเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาต่อไป

“สำหรับพื้นที่เขตวัฒนามีประชากรที่หลากหลายอาศัยอยู่ทั้งคนงาน แรงงาน คอนโดมิเนียม ชุมชน คิดว่าสวนแห่งนี้สามารถรวมความหลากหลายเข้ามาได้ เช่น กลางวันอาจจะเป็นที่พักของคนทำงานอิสระ ผู้สูงอายุ ตอนเย็นเด็กๆ หรือพนักงานออฟฟิศก็มาใช้งานได้ต่อ ชุมชนอาจจะมาเด็ดพืชไปทำอาหารได้ ดังนั้นแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ขนาดเล็กๆ แต่ก็สามารถผนวกความหลากหลายของกิจกรรมเข้ามาได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของพื้นที่ เราอยากจะทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการออกแบบพื้นที่แต่ละแห่งให้แตกต่างกัน และการทดลองใช้พื้นที่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าก่อนจะสร้างจริง มาทำการทดลองให้อย่างน้อยก็สร้างการมีส่วนร่วม และกระตุ้นพื้นที่ได้มากขึ้น”

ธันยาภัทร์ ศิริทิพย์วดี ตัวแทนชุมชนใกล้เคียง กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านแถวนี้ได้ใช้พื้นที่หน้าบ้านปลูกพืชเล็กๆ น้อยๆ อยู่แล้ว และมีการแลกเปลี่ยนพืชผักกันอยู่เสมอ เป็นความเอื้อเฟื้อต่อกันในชุมชน ในการแบ่งปันพืชผักริมรั้ว เมื่อมีการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ มีการปลูกพืช ก็เป็นโอกาสที่ชุมชนจะได้ร่วมใช้ประโยชน์ด้วย เพราะบางครั้งกำลังจะทำกับข้าว ขาดพริกไปสักสองเม็ดต้องไปซื้อที่ตลาด พอมาปลูกก็เดินมาเก็บแค่พอใช้ เป็นความสะดวก ลดค่าใช้จ่ายด้วย

“ต้องขอบคุณผู้อำนวยการเขตที่ทำให้เกิดพื้นที่แบบนี้ และทำให้ชุมชนได้มีพืชผักนำไปกิน เรื่องการปลูกชาวบ้านสามารถช่วยได้ อย่างผมก็อยากจะเอามะม่วงมาปลูก เดิมมีต้นเล็กๆ แล้วก็อยากให้มีต้นใหญ่ๆ บ้างเพื่อทำให้เกิดความร่มรื่นแต่ยังเน้นที่กินได้ ใช้ประโยชน์ได้ ต่อไปก็คงต้องมาแผงแผนกันว่าจะแบ่งกันปลูกแบ่งกันดูแลและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไร”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active