10 องค์กรภาคีภาคเอกชนเขตหลักสี่ เปิดไอเดียออกแบบการพัฒนาย่าน เริ่มต้นที่ไทยพีบีเอส จุดหมายแรกเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวย่านวิภาวดี
วันนี้ (3 พ.ค. 66) ไทยพีบีเอส ร่วมกับ we!park ตัวแทนองค์กรภาคเอกชนกว่า 10 หน่วยงาน และภาคีเครือข่าย จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “บทบาทภาคเอกชน กับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ” ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในการมีส่วนร่วมออกแบบและพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ในโครงข่ายย่านหลักสี่ ตามแนวคิด “สรรค์สร้าง หน้าบ้าน สร้างสรรค์ ย่านสีเขียว”
ณัฐวดี สัตนันท์ บริษัท สนใจ เฮาส์ จำกัด นักกระบวนกร สร้างการมีส่วนร่วมในการออกแบบ กล่าวว่า เราพยายามให้งานออกแบบไม่เป็นแค่เรื่องของนักออกแบบเป็นคนคิดอย่างเดียวแต่ให้คนที่ใช้งานหรือมีส่วนเกี่ยวข้องพัฒนาแบบหรือพัฒนาพื้นที่ไปด้วย เพราะนักออกแบบวิชาชีพที่ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นการต้องการใช้งานจริง ก็อาจจะไม่ทราบและไม่สามารถออกแบบได้ตามเป้าหมาย แม้ว่าหลักกระบวนการมีส่วนรวมต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจมาก แต่วันนี้ได้กระชับเวลาโดยเล่าภาพรวม ยกตัวอย่างการทำงาน และให้การทดลองทำเองสองขั้นตอน แต่ขั้นตอนไม่ใช่แม่พิมพ์ที่ต้องทำตามทุกอย่างสามารถเลือกไปประยุกต์ใช้ได้ ในการวิเคราะห์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในหลายเรื่องจึงเอาเรื่องนี้มาให้ทดสอบกัน
“เราให้โจทย์การสำรวจพื้นที่ พูดคุยกับคนที่ใช้งาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร อยู่ในระดับไหน จากฐานข้อมูล และในช่วงท้ายก็จะเป็นการชวนคุย แสดงให้เห็นภาพปัญหาหรือมีแนวทางการพัฒนา การออกแบบ อย่างไร ในช่วงเวลาที่จะถกกันมุมมองของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีความเกี่ยวข้องมากน้อยต่างกัน ก็จะทำให้ได้เห็นเหตุผลของความเข้าใจที่แตกต่าง ถ้าเขารู้สึกว่าสำคัญก็จะต้องพยายาม ถึงหลักการวิธีการนี้ไปใช้ในบริบทอื่น ๆ ของโครงการด้วย จะเป็นการทำงานร่วมกัน และจะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ เพราะได้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรกเริ่ม ออกไอเดีย เมื่อมีการพัฒนาจริงเขาก็จะได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของาน มีความเป็นเจ้าของร่วมรับผิดชอบ ดูแลในอนาคตด้วย ก็จะไม่ทำให้การพัฒนาถูกทิ้งร้างไร้คนดูแล”
หลังจากที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม และแนวทางการพัฒนาพื้นที่รูปแบบต่างๆ แล้ว ได้ลงพื้นที่ตัวอย่าง ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ใช้เป็นพื้นที่จำลองในการทดสอบการออกแบบตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ทั้งบริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ และด้านหลังส่วนลานจอดรถ โดยมีข้อเสนอการพัฒนาที่หลากหลาย ออกแบบผ่านการปั้นดินน้ำมัน ทั้งการขยายพื้นที่สนามเด็กเล่น สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เพิ่มต้นไม้ใหญ่ มีล็อกเกอร์จุดจอดจักรยาน บริการร้านกาแฟในสวน มีบริการตู้กดน้ำ ลานเสิร์ฟสเก็ต การปรับปรุงพื้นที่เชื่อมต่ออาคาร และข้อเสนออื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เพื่อทลายข้อจำกัดเดิม และปรับปรุงพื้นที่สร้างกิจกรรมให้คนมาใช้งานได้มากขึ้น ซึ่งไทยพีบีเอสจะได้นำไปพิจารณาในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป
คมพศิษฎ์ ประไพศิลป์ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตหลักสี่ ในฐานะตัวแทนสำนักงานเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับโครงการของไทยพีบีเอสครั้งนี้ เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง และเป็นต้นแบบของการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับสังคม สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลภาวะ สร้างเมืองน่าอยู่ยั่งยืนต่อไป กระบวนการที่ไทยพีบีเอสมอบให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ให้ข้อมูลกับคนในย่าน ขั้นตอนการเรียนรู้ เริ่มตั้งแต่ที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร จนทำให้รู้ว่าถ้าเราพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะแล้วใครจะได้ประโยชน์บ้าง โดยให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบและการมีส่วนร่วม
“สำหรับสำนักงานเขตหลักสี่เล็งเห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์อย่างมาก ทำให้เอกชนและหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ได้เล็งเห็นว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมทำอะไรได้บ้าง ส่วนสำนักงานเขตเองก็จะมีส่วนร่วมโดยการผลักดันนโยบาย รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนในย่านมาร่วมขับเคลื่อนโครงการไปด้วยกัน หวังว่าหน่วยงานเอกชนและองค์กรที่เข้าร่วม จะได้เห็นความสำคัญและร่วมกันทำให้พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นต่อไป อยากให้โครงการแบบนี้จัดขึ้นต่อเนื่อง ถ้าประชาชนภายนอกให้รับรู้มีการแนะนำการเข้าถึงพื้นที่ไทยพีบีเอสได้ดีขึ้น ก็จะเป็นส่วนผลักดันไปถึงหน่วยงานอื่น ๆ ได้เข้าร่วมโครงการต่อไป”
อัครวัชร วงศ์แก้ว ตัวแทนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โครงการนี้รวมหลายหน่วยงานหลายองค์กรในพื้นที่ย่านหลักสี่เข้ามาร่วมกัน ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้มีการปรึกษาหารือ แสดงความคิดเห็นมุมมองร่วมกันต่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในย่าน ว่าแต่ละองค์กรจะสามารถมีส่วนร่วมกันอย่างไรได้บ้าง ทั้งการพัฒนาในพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงการสนับสนุนหน่วยงานอื่น ๆ ในย่านเดียวกันด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ให้กันและกัน สำหรับอาคารสถานที่ให้บริการของจุฬาภรณ์ฯ มีทั้งสวนหย่อมที่ให้บริการผู้ใช้บริการอยู่แล้ว แต่ในส่วนพื้นที่จำกัดจะทำเป็นสวนแนวตั้ง แก้ปัญหาขาดแคลนพื้นที่แนวราบ ซึ่งพื้นที่หน้าหน้าหน่วยงานกำลังจะมีการสร้างสกายวอล์ค จึงมีแนทางที่จะพัฒนาพื้นที่ด้านล่างขนาบกันไปด้วย โดยมีความร่วมมือกับทางไอทีสแควร์พัฒนาทางเดินให้มีความปลอดภัย แสงสว่างเพียงพอ และมีพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมการเดินเท้าให้สะดวกสบายมากขึ้น