หลายภาคส่วนพร้อมเดินหน้า สร้างพื้นที่สาธารณะ เพื่อเมืองแห่งสุขภาวะยั่งยืน หวังยกระดับ ‘พื้นที่สีเขียว’ เทียบเท่าโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ขณะที่เอกชน แนะปรับเกณฑ์ภาษีที่ดิน หวั่นเสียโอกาสใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อสาธารณะ
เมื่อวันที่ (31 มี.ค. 67) ที่อุทยานเบญจสิริ เครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ และ we park ร่วมกับ The Active เปิด 9 ข้อค้นพบการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียว ปลดล็อกศักยภาพเมือง ส่งเสริมศักยภาพและความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในงาน “พัก กะ Park” กับหลากหลายกิจกรรมในสวน
วงเสวนา Park policy “ความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายและพัฒนาพื้นที่สีเขียว” ได้พูดคุยถึงบทบาทการขับเคลื่อนและพัฒนาเมือง ในประเด็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว และตอบโจทย์เมืองสุขภาวะ จากตัวแทนหลายภาคส่วน
รศ.พีรดร แก้วลาย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเทรนด์โลก และแนวโน้มที่ควรหยิบประเด็นมาส่งเสริมให้การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ และข้อค้นพบจากการศึกษา การคาดการณ์ทิศทาง และกลยุทธ์การพัฒนาเมืองสุขภาวะของประเทศไทย ภายใต้โครงการเครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ (Healthy Space Alliance : HSA) ว่า ภาพรวมของเมืองสุขภาวะ มีเป้าหมายคล้ายเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ คือ 6P ได้แก่ ได้แก่ Planet, People, Places, Peace, Prosperity และ Partnerships
เวลานี้ทั้งโลกไปค่อนข้างไกลกว่าที่จะบอกว่าภาครัฐควรทำอะไร แต่เป็นทั้งองคาพยพ จะต้องมีส่วนร่วมที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดออกมาทำให้เป็นเรื่องเดียวกันแผนเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันเมืองไทยมีคนลงมือทำ มีองค์ความรู้มาก แต่ไม่มีแผนภาพรวม นี่จึงเป็นโอกาสที่ทำให้มองเห็นว่าอนาคตต้องลงมากันทั้งหมด
รศ.พีรดร ยังมองว่า เรื่องสุขภาวะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่ใช่แค่ทางด่วน สะพาน หรือ ถนน ยังต้องรวมถึง พื้นที่สีเขียว การเข้าถึงบริการสุขภาพต่าง ๆ และ ทุกคนต้องมีสิ่งที่จะได้สิ่งนี้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่
- กทม. ไม่ได้มีอำนาจมากที่จะทำทุกอย่าง อะไรที่เป็นธุระเกี่ยวกับเมืองสุขภาวะที่เป็นอำนาจของภาครัฐส่วนกลาง ต้องโอนมาให้กรุงเทพฯ ให้มากที่สุดเพื่อให้กรุงเทพฯ สามารถทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นได้
- กทม. หรือทุกเมืองในประเทศ ต้องมี กรีนซิตี้แพลน ที่ชัดเจน ถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดใน 5-10 ปีคืออะไร ? ตัวชี้วัดคืออะไร ?
- ต้องไม่ปล่อยให้ กทม. เหนื่อยคนเดียว ภาคีเครือข่าย เอกชน ต้องจับมือกันทำงาน
- ถ้าจะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม เกณฑ์สร้างแรงจูงใจต้องมีแผนที่ชัดเจน ว่าทำได้อย่างยั่งยืน
พื้นที่สุขภาวะยั่งยืน ต้องคิดสร้างร่วมกัน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง แผนงานระดับชาติ ของ สสส. ว่า งานวิจัย พบว่า สภาพสิ่งแวดล้อมในเมือง ส่งผลให้คนเจ็บป่วย เป็นเบาหวาน ซึมเศร้ามากขึ้น เพราะที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองจะตอบสนองสิ่งสำคัญ คือความสบาย การอยู่ในภาวะเนือยนิ่งตลอดทั้งวันนั้นเป็นที่มาของการทำให้เกิดการเจ็บป่วยและอายุสั้น
ประเด็นนี้รัฐทำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ามีความสำคัญ แต่ต้องคิดร่วมกันและรวมพลังกัน โดยในส่วนของ สสส. เห็นว่าการบูรณาการ และพุ่งเป้าว่าจะทำอย่างไรให้คนมีอายุยืนยาว มีความสุขมากขึ้น เพราะฉะนั้นการบูรณาการร่วมกันต้องเคลื่อนแบบไปด้วยกันเชิงยุทธศาสตร์ ส่วนสำคัญ คือ กทม. ภาควิชาการ ภาคประชาชน ต้องคิดร่วมกันว่าอะไรคือสิ่งที่จะเหมาะสม
“ถ้าชุมชนยังบอกว่า มีสวนสาธารณะแต่เด็กไปเรียนพิเศษ พ่อแม่ใช้ไปทำงานวันหยุด เพราะต้นทุนในชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสนับสนุนให้คนมีสุขภาวะที่ยืนยาวขึ้นชุมชนต้องช่วยกัน บอกส่วนราชการ วิชาการ ว่าอยากได้อะไร นี่จึงจะเป็นการสร้างพื้นที่สุขภาวะที่ยั่งยืน”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์
พื้นที่สาธารณะ = ผังเมืองใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วม
ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่าถึงการทำงานเพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะในเมือง ว่า กทม. เคยมีการทำข้อมูลพื้นที่สีเขียวในมิติต่าง ๆ ก่อนกำหนดพื้นที่สาธารณะขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ และกำหนดจุด เช่น สีแดง คือ จุดที่แทบจะไม่มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวเลยมีจุดไหนบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลในการหาพื้นที่
ในเวลา 1 ปี ข้อจำกัดใหญ่ที่สุด คือ พื้นที่ที่ กทม. ได้มา หลายพื้นที่เป็นพื้นที่ชั่วคราว เช่น เอกชนจะมอบให้ 7 ปี ความมั่นคงของพื้นที่ไม่แน่นอนจึงเป็นอุปสรรคว่า กทม. ควรจะลงทุนมากน้อยแค่ไหน ปีนี้จึงทำข้อสรุปว่า น่าจะทำเรื่องสวน 15 นาที โดยร่วมกับลานกีฬาซึ่งหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ใต้ทางด่วน ไม่ทำเป็นที่พักอาศัยแน่นอน และขอความร่วมมือกับการทางพิเศษฯ กรมทางหลวงชนบท นำพื้นที่เหล่านี้มาทำเป็นพื้นที่สาธารณะ อาจจะเป็นสีเขียว หรือลานกีฬา โดยคำว่า 15 นาทีไม่ใช่แค่ส่วนอย่างเดียว แต่จะเอาพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่สาธารณะในลักษณะที่คนออกมาทำกิจกรรมได้ให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นห้องสมุด บ้านหนังสือ หรือเป็นสวนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่
ส่วนข้อถกเถียงถึงมาตรการจูงใจทางภาษีที่ดิน ศานนท์ ยอมรับว่า ปัญหาพื้นที่สีเขียว หรือที่ดิน หนีไม่พ้นเรื่องผังเมือง ผู้ว่าฯ กทม. จึงขยายเวลารับฟังความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ถึงวันที่ 30 ส.ค. 67 เพื่อฟังเสียงประชาพิจารณ์ของประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งคิดว่ามีเรื่องของภาษีกับการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ใช่แค่เรื่องของสวน เช่น แผงลอย ที่ไม่มีแรงจูงใจทำให้เกิดร้านอาหารราคาถูกในพื้นที่ที่อาจจะเป็นบริบทเมืองที่มีแรงงานอยู่ และการเปิดศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อนที่เป็นรายได้ที่อาจจะมีรัฐสนับสนุนเพียงพอ เพื่อให้ผู้ปกครองได้ทำงาน เลี้ยงลูกอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนพื้นที่สาธารณะมิติทางสังคมอื่น ก็เป็นสิ่งที่ต้องรีบทำให้อยู่ในผังเมืองให้ได้
อีกปัจจัยคือ กทม. ต้องหารือกับรัฐบาลคือการคำนวณแรงจูงใจจากภาคเอกชน หรือที่ส่วนบุคคล ที่ ผู้ว่าฯ กทม. เรียกว่า “เกษตรจำแลง” ปลูกต้นกล้วยที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลผลิตเท่าไร ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงว่าจะทำอย่างไร แต่ทุกวันนี้ที่พื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นยาก เพราะที่ดินทำเลดี ราคาดี ไม่มีเอกชนสนใจยกให้ กทม. ทำสวนสาธารณะ
“ถ้าจะเพิ่มพื้นที่สาธารณะมากขึ้น สำคัญคือการมีผังเมืองใหม่ ให้ประชาชน เอกชนมีการมีส่วนร่วม จึงเป็นที่มาของการขยายเวลารับฟังความเห็นอีก 6 เดือน อยากจะให้ทุกคนช่วยกันโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะต้องใช้เมืองนี้อีกนาน ที่อาจะจะถือได้ว่าเป็นธรรมนูญของเมือง ว่าเราจะเดินไปอย่างไร”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ดูแลคุณค่าต้นไม้ใหญ่ในเมือง
อรยา สูตะบุตร กลุ่ม Big Trees เล่าถึงการทำงานในส่วนของรุกขกร ร่วมกับ กทม. ว่า สิ่งที่เห็นความคืบหน้าการทำงานของ กทม. คือคนรู้จักแล้วว่ามีศาสตร์นี้อยู่ มีอาชีพในการดูแลต้นไม้ใหญ่ และยังร่วมกับ กทม. จัดอบรมเป็นปีที่ 8 จากตอนแรกมี 6 คนที่ขึ้นทะเบียน ตอนนี้มี 15 คน รวมถึงเกิดความตื่นตัวโดยเฉพาะถนนสีลม ที่มีการปรับปรุงทางเท้ามีการจัดการต้นไม้ได้อย่างเหมาะสมตลอดเส้นทาง และเป็นการร่วมมือกับหลายๆหน่วยงาน ทำให้เกิดต้นแบบกับเขตอื่น ๆ
ที่สำคัญเมื่อเทียบกับโมเดลของสิงคโปร์ หรือ ฮ่องกง ตอนนี้ กทม. เองมีการกำหนดใน TOR ดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ว่าจะต้องทำอย่างไร ก็จะเริ่มเห็นว่าใน TOR มีการจัดจ้างดูแลสวนสาธารณะ กำหนดว่าต้องมีรุกขกร และการดูแลต้นใหม่ต้องดูแลอย่างไร เชื่อว่าถ้ากระจายไปทุกส่วนก็จะได้เห็นการบริหารจัดการสวนและต้นไม้ที่ดีขึ้น และน่าจะพัฒนาไปถึงต้นไม้ตามทางเท้าด้วย
อรยา ยังเสนอว่า นอกจาก กทม. ต้องรู้ว่าต้นไม้ใหญ่ในเมืองอยู่ที่ไหน ควรลองคำนวณออกมาเชิงประโยชน์เชิงนิเวศ ว่า แต่ละสวนต้นไม้แต่ละต้นให้ประโยชน์เชิงนิเวศมากน้อยแค่ไหน อาจจะเป็นทั้งในมูลค่า การกักเก็บมลพิษ หรือตีออกมาเป็นมูลค่าทางการเงิน ว่า พื้นที่สีเขียวแบบนี้มีมูลค่าเท่าไร ที่สำคัญคือ หากเอกชนมีข้อมูลด้วยว่าการมีพื้นที่สีเขียวโดยรอบหรือในอาคารทำให้มีลูกค้ามากขึ้น ถ้าช่วยโปรโมทความคิดแบบนี้เอกชนก็จะสนใจที่จะทำเรื่องราวแบบนี้มากขึ้น
เอกชนแนะปรับหลักเกณฑ์ภาษีที่ดิน จูงใจใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อสาธารณะ
ขณะที่ตัวแทนภาคธุรกิจอย่าง กรกช อรรถสกุลชัย Senior Executive Director, Chief – Non Capital Market Solution Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ภาคเอกชน มีส่วนผลักดันเรื่องการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สุขภาวะนี้ได้อย่างมาก เนื่องจากที่ดินในเมืองส่วนมากเป็นของเอกชน ไม่รวมกับแปลงใหญ่ ๆ ที่ภาครัฐมีอยู่แล้ว
ข่าวดีก็คือในช่วงนี้มีเหตุให้ภาคเอกชน มีความสนใจที่จะเอาที่ดินออกมาใช้ประโยชน์มากขึ้น คือ มาตรการทางภาษีที่ดิน ที่ กทม. ได้ประกาศใช้ แต่ยังคิดว่าบางอย่าง กฎเกณฑ์แนวความคิดในการจัดเก็บต้องมีการปรับแนวคิดเพื่อให้สอดคล้องกัน
เช่น เอกชนให้ กทม. ใช้พื้นที่เป็นเวลา 7 ปี แต่ในระหว่างที่รอ กทม. ก่อสิ่งปลูกสร้างแล้วเสร็จใช้เวลา 3-5 ปี เอกชนอาจจะมี Project ใหม่ที่กว่าขึ้นมาแล้ว เพราะระยะเวลาในการรอเท่ากับเป็นการสูญเสียโอกาส และทำให้การที่จะนำพื้นที่มาให้รัฐใช้เปล่า ๆ ต้องคิดหนักเหมือนกันว่าจะได้อะไร
“ถ้าเอกชนเจ้าของพื้นที่ลงทุนเอง ภาครัฐก็ไม่มีอะไรต้องเสีย และถ้าหากมีแรงจูงใจอย่างอื่น เช่น เอาสวนมาทำแล้วสามารถเปิดร้านกาแฟในนั้น เท่ากับทั้งได้ลดภาษีได้และสามารถมีรายได้ ต่างฝ่ายต่างได้ และประชาชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เกิดขึ้นได้ต้องเป็นในเชิงนโยบาย”
กรกช อรรถสกุลชัย
สร้าง ‘พื้นที่สีเขียว’ ทุกภาคส่วนต้องจับมือกัน
ขณะที่ ยศพล บุญสม หัวหน้าโครงการ we!park และผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ กล่าวถึงภาพรวมของงานในครั้งนี้ว่า การสร้างพื้นที่สีเขียวจะทำเพียงลำพังไม่ได้ เพราะมีทั้งเรื่อง เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ การออกแบบ การดูแล คุยกับชุมชน เรื่องสุขภาพ ทำอย่างไรให้วิชาชีพเหล่านี้เข้ามามีส่วนในการเกื้อหนุนการทำงานได้ตรง และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการลงทุนในเอกชนหรือภาครัฐต้องมีฐานข้อมูลชี้เป้าที่ต้องอาศัยผู้รู้เท่านั้น จึงสำคัญอย่างมากที่จะต้องทำให้คนในวิชาชีพเหล่านี้ได้เข้ามาทำงาน และสร้างบุคลากรใหม่ ๆ
“การบริจาค หรือระดมทุน ไม่สามารถทำให้เกิดความยั่งยืน เราต้องสร้างแรงจูงใจให้กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง บางคนอยากได้องค์ความรู้ บางคนอยากได้แรงสนับสนุน บางคนอยากได้เรื่องภาษี เพราะฉะนั้นถ้าเรามีนโยบายตอบสนองที่หลากหลาย จะทำให้ทุกสมาชิกเมืองสามารถได้ประโยชน์จากแรงจูงใจนี้”
ยศพล บุญสม
ข้อสรุปที่ได้จากเวทีครั้งนี้จะถูกขยายผลไปทั่วประเทศ พร้อมถอดบทเรียนในปีหน้า แลจะขยับสู่รูปธรรมมากยิ่งขึ้นหลังจาก 2 ปี โดยคาดว่าความร่วมมือนี้จะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเมืองต่อไป