รวมพื้นที่อื่น 6 ชุมชน 275 ครัวเรือน ลุยพิสูจน์สิทธิที่เหลือต่อ ด้าน ขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย ชี้ นโยบายบ้านเพื่อคนรายได้น้อย ต้องไม่เอื้อแค่คนบางกลุ่ม
วันนี้ (14 มี.ค.68) ที่ กระทรวงคมนาคม กลุ่มประชาชนในนาม เครือข่ายขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย จากหลายจังหวัดทั่วประเทศ เข้ารับมอบสัญญาเช่าที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมี สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้มอบสัญญาฯ พร้อมด้วยผู้แทนจาก รฟท. และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด

สำหรับชุมชนที่ได้รับมอบสัญญาเช่าที่ดินในวันนี้รวม 275 ครัวเรือนทั่วประเทศ ประกอบด้วย
- ชุมชนคลองเปล 4 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ประชากร 14 ครัวเรือน
- ชุมชนป้อมหก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ประชากร 62 ครัวเรือน
- ชุมชนเขารูปช้าง 5-6 (บ้านบางดาล) อ.เมือง จ.สงขลา ประชากร 26 ครัวเรือน
- ชุมชนหัวนา อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ประชากร 49 ครัวเรือน
- ชุมชนทุ่งสว่างตะวันออก เฟส3 อ.เมือง จ.อุดรธานี ประชากร 44 ครัวเรือน
- ชุมชนศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ประชากร 80 ครัวเรือน
ส่วนชุมชนแปลง กม.11 (พหลโยธิน) กรุงเทพมหานคร ประชากร 32 ครัวเรือน ยังอยู่ระหว่างรอการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นัดลงพื้นที่วันที่ 17 มี.ค.68 เพื่อชี้แนวกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่าง รฟท. กทพ.

สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
สุรพงษ์ กล่าวแสดงความยินดีกับชาวบ้านทั้ง 6 ชุมชน ที่ได้รับมอบสัญญาเช่าที่ดินในวันนี้ พร้อมขอบคุณข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่เร่งรัดตามคำสั่งของกระทรวงฯ ซึ่งกระทรวงฯ พยายามเร่งแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดินเพื่ออยู่อาศัยอย่างเหมาะสม และเป็นธรรม
“สำหรับชุมชนแปลง กม.11 ผมได้สั่งการให้เร่งรัดการทำงานตามกรอบที่วางไว้ วันนี้ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ไม่ล่าช้าแน่นอน ส่วนชุมชนอื่นๆ ก็ขอให้เป็นไปตามแผนด้วยเช่นกัน”
สุรพงษ์ ปิยะโชติ
ทั้งนี้ รมช.กระทรวงคมนาคม ยังได้ขอบคุณเครือข่ายสลัม 4 ภาค และภาคประชาชน ที่ได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐจนทำให้โครงการดังกล่าวเดินหน้ามาจนถึงวันนี้ที่พี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้รับมอบบันทึกแนบท้ายสัญญาเช่าที่ดินของ รฟท. นำมาซึ่งที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป
‘ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู’ โล่งใจ ชาวบ้านมีที่อาศัย
ไม่ต้องกลับไปใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

ชนต์ธร โพธิ์ทอง หรือ อาชน แกนนำศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู และเป็นหนึ่งในตัวละครจากสารคดี คน จน เมือง ซีซัน 5 ตอน “บ้านหลังคาดาว” บอกว่า รู้สึกดีใจแทนพี่น้องในศูนย์กว่า 70 ชีวิต เพราะก่อนหน้านี้นโยบายยังไม่มีความชัดเจน ทำให้หลายคนใช้ชีวิตด้วยความเครียด โดยเฉพาะส่วนใหญ่ในศูนย์ที่เป็นผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยจิตเวช
“ถึงจะเป็นสัญญาระยะสั้น แต่เราก็ดีใจที่มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง เพราะพี่น้องส่วนใหญ่ของเราอยู่ในช่วงบั้นปลาย จะขยับไปที่อื่นก็คงลำบาก หรือกลับไปใช้ชีวิตในที่สาธารณะตามเดิม ซึ่งส่งผลกระทบมาก เพราะหลายคนเราเพิ่งจะฟื้นเขาได้จนชีวิตเป็นปกติอย่างทุกวันนี้”
ชนต์ธร โพธิ์ทอง

ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู ไม่เพียงเป็นห้องเช่าราคาถูกสำหรับคนไร้บ้านเท่านั้น แต่ที่นี่ยังมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการแบ่งปันอาหาร ทำกิจกรรม ฝึกอาชีพ รวมถึงการติดตามสิทธิ สวัสดิการจากรัฐให้กับพี่น้องในบ้าน ภายใต้กติกาที่กำหนดร่วมกัน ที่ผ่านมามีหลายคนที่ตั้งตัวได้จากบ้านหลังนี้จนสามารถออกไปเช่าห้อง หรือมีบ้านได้ในที่สุด
ขบวนคนจนเมืองฯ ชี้ นโยบายบ้านเพื่อคนรายได้น้อย ต้องไม่เอื้อเพื่อบางกลุ่ม
ตัวแทนขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า เป็นการติดตามอย่างต่อเนื่องของภาคประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง หลังจากพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงล่าช้าในการอนุมัติสัญญาเช่าที่ดิน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเพื่อพัฒนาที่อยู่ จึงได้นัดชุมนุมใหญ่ไปเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายขอชื่นชมรัฐบาลถึงนโยบาย “บ้านเพื่อคนไทย” ที่ใช้ที่ดินของ รฟท.เป็นพื้นที่โครงการเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงานและระบบขนส่งมวลชน แต่โครงการนี้อาจจะมีเพียงบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงได้ แต่กลุ่มชุมชนแออัดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของ รฟท. ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็น แรงงานนอกระบบ หากดำเนินการทำสินเชื่อคุณสมบัติก็ไม่ผ่านเกณฑ์
“อยากให้รัฐเห็นใจพี่น้องคนจนในเมืองหน่อย ถ้าเราไม่มีบ้าน ไม่มีที่ทำกิน พวกเราจะอยู่ได้อย่างไร หลายคนอพยพจากต่างจังหวัด มาตั้งรกรากอยู่ตามชุมชนตั้งแต่อดีต เป็นแรงงาน เป็นคนแบกเมืองให้เจริญอย่างทุกวันนี้ ถ้าจะพัฒนาที่อยู่อาศัยก็อยากให้ถามความเห็นเราด้วย”
ขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย

ด้าน สำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง (โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยฯ) โดยเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ ปี 2566-2570 รวม 7,718.94 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ
- สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค
- สนับสนุนสิ่งปลูกสร้าง
- ช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการที่อยู่อาศัยชั่วคราวหรือเช่าบ้านหอพักระหว่างการรอปลูกสร้าง โดยในปี 2567 ได้รับงบ จำนวน 96 ล้านบาท สำหรับ 340 ครัวเรือน ปี 2568 ได้รับงบ 250 ล้านบาทสำหรับ 2,000 ครัวเรือน และปี 2569 เตรียมเสนอของบ 300 ล้านบาท สำหรับ 2,900 ครัวเรือน