อยากให้เมืองน่าอยู่ แค่แก้ พ.ร.บ.กรุงเทพฯ พอมั้ย ?

นักรัฐศาสตร์ เสนอ กทม. ใช้โจทย์ อันดับความน่าอยู่ 50 เขต ออกแบบการบริหารจัดการ ทั้งเชิงงบประมาณ การแก้กฎหมาย เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหา ตอบโจทย์พื้นที่มากขึ้น

จากการจัดอันดับความน่าอยู่ ใน 50 เขต กรุงเทพมหานคร โดย Rocket Media Lab ผ่านข้อมูลในแต่ละด้าน ได้แก่ ด้านบริการสาธารณะ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสวัสดิภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม The Active รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์การแก้ปัญหาในพื้นที่เขตรั้งท้ายภายใต้อำนาจ กทม. กับข้อเสนอทิศทางการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

รศ.วีระศักดิ์ บอกว่า เขตที่ได้รับการจัดอันดับดี ๆ มักจะอยู่ในโซนเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน เป็นพื้นที่ที่มีความเจริญพอสมควร มีความหนาแน่นของทั้งเรื่องเศรษฐกิจและประชากร ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่น่านำกลับมาตั้งคำถามในเชิงการบริหารจัดการของ กทม. ในฐานะที่เป็นท้องถิ่นทำอะไรได้บ้าง ซึ่งสิ่งที่นำมาพิจารณาได้คือ

  1. อำนาจหน้าที่ คือ บางเรื่อง กทม.มี อำนาจโดยตรง ซึ่งมีกฎหมายหลายฉบับที่พูดถึงอำนาจหน้าที่ของ กทม. เช่น การจัดการด้านสุขภาพ การศึกษา การดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชน มี พ.ร.บ.กรุงเทพฯ กฎหมายกระจายอำนาจ ระบุเอาไว้ ซึ่งหาก กทม. เห็นผลนี้ ก็น่าจะนำมาวิเคราะห์ว่าจะทำได้โดยตรงเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น


    ส่วนอีกเรื่องคือ กทม. ไม่มีอำนาจโดยตรง เนื่องจากโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินของไทย มีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และยังมีรัฐวิสาหกิจอีกจำนวนไม่น้อย ทำให้งานบางเรื่องไม่ได้อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของ กทม. โดยตรง เนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะกำหนดเอาไว้ เช่น ไฟฟ้า ประปา ขนส่ง ที่มีหน่วยงานอื่นกำกับดูแล กทม. ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ ซึ่งหากเป็นงานลักษณะนี้ กทม. จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ เช่น หากปัญหา ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ รอบนอก ไม่ดี กทม. น่าจะต้องไปประสานกับผู้ให้บริการ ว่าสามารถเพิ่มเส้นทาง จุดจอด หรือระบบอำนวยความสะดวกได้หรือไม่ เพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอ

  2. การบริหารจัดการ ทั้งเรื่องการเงินการคลัง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้สามารถไปด้วยกันได้ เช่น การทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ซึ่งควรมีการกระจายให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ในเขต กทม. กว้างขวางมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนรวบรวมข้อเสนอ ข้อเรียกร้อง เพื่อให้ กทม. ลงไปดูแล หรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลการจัดอันดับจากพื้นที่ความน่าอยู่น้อยดีขึ้น


    นอกจากนี้ยัง มีมิติเรื่อง การทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ต้องมีการพิจารณาสูตรในการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหา ทุกสำนักงานเขตจะได้งบประมาณพื้นฐาน ท่ากัน และผันแปรตามจำนวนประชากร ซึ่งพบว่าเขตที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน พื้นที่ไม่กว้างแต่จำนวนประชากรหนาแน่น การกระจายงบตามรายหัวประชากรน่าจะต้องมีการทบทวน โดยนำเรื่องสภาพความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ เข้าไปพิจารณาเพื่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณต่อหัวในสัดส่วนที่สูงขึ้น
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ผมคิดว่า ในเขตที่ตกอันดับหรืออยู่ท้ายตาราง ควรหรือไม่ที่จะต้องมีการถ่วงน้ำหนักค่าดัชนีความยากลำบากในการดำรงชีวิต การอยู่อาศัย ด้านสุขภาพ ให้เขาได้รับการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อให้ปัญหามันทุเลาลงมากที่สุด และนำไปพัฒนาชีวิตได้อย่างเท่าเทียมใกล้เคียงกับเขตพื้นที่ชั้นใน ที่มีความเป็นอยู่ในด้านต่าง ๆ อยู่ในฐานะที่ค่อนข้างดีกว่า ฉะนั้นสูตรในการจัดสรรงบประมาณ นอกจากเรื่องการมีส่วนร่วมแล้วต้องกลับมานั่งทบทวนโดยใช้ดัชนีชี้วัดนี้ เป็นตัวตั้งต้นในการวิเคราะห์ปัญหากัน”

รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ

แก้ พ.ร.บ.กรุงเทพฯ แก้ความเหลื่อมล้ำได้ ?

รศ.วีระศักดิ์ บอกด้วยว่า ความตั้งใจในการแก้ พ.ร.บ.กรุงเทพฯ มีมานาน น่าจะเกิน 10 ปี แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งการแก้กฎหมายเป็นเจตนาที่ดีเพื่อให้การจัดการต่าง ๆ ของ กทม.ราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการยกร่างกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นของใคร คำถามหลัก ๆ ที่เราจะต้องพิจารณาว่า เมื่อแก้กฎหมายแล้วเราคาดหวังอะไร ? โดยมุมมองของ รศ.วีระศักดิ์ ระบุว่า ต้องเป็นไปเพื่อการจัดบริการสาธารณะที่ดีขึ้น เกิดประโยชน์กับประชาชน เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนหรือข้อเรียกร้องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ไม่ใช่ตอบสนองต่อผู้มีอำนาจหรือแค่กลไกราชการเท่านั้น

“ผมคิดว่าคำถามหลักที่ต้องกลับไปก็คือ มีเจตนาเพื่อแก้ไขเหล่านี้ไหม ถ้าเป็นการแก้ไขในเชิงของอำนาจหน้าที่เพื่อให้กรุงเทพมหานครทำภารกิจต่าง ๆ ได้ดีขึ้นการแก้กฎหมายอาจจะช่วยได้ แต่ต้องเรียนว่าได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะจะเจอคำถามกลับไปว่าแล้วมีกฎหมายฉบับอื่นเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่เหล่านั้นเป็นของใครกันแน่ เป็นของ กทม. หรือยังเป็นของส่วนอื่น”

รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ

รศ.วีระศักดิ์ ย้ำว่า ถ้าจะทำให้ประสบความสำเร็จในเรื่องอำนาจหน้าที่หรือความคล่องตัวในการจัดบริการสาธารณะ ต้องมองทั้งระบบจะมองแค่การแก้ไข พ.ร.บ. กรุงเทพฯ เพียงฉบับเดียวอาจจะไม่พอ เช่น การจัดบริการรถเมล์ อาจจะต้องกลับไปแก้ที่กฎหมายของกรมการขนส่งทางบก

อีกเรื่องที่ต้องพิจารณา คือ การที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และตรวจสอบ เพื่อให้การทำงานของ กทม. ตอบสนองข้อเรียกร้อง หรือ ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องของโครงสร้างอำนาจ และระบบบริหารจัดการ ที่ตอนนี้ยังไม่ตกผลึกเท่าที่ควร เนื่องจากปัจจุบันกรุงเทพมหานครเป็นโครงสร้าง “ท้องถิ่นชั้นเดียว” คือ เราเลือกตั้งผู้บริหาร คือ ผู้ว่าฯ กทม. แค่คนเดียว ในขณะที่ “ระดับเขต” ที่เป็นหน่วยย่อยลงไป ยังใช้ระบบการแต่งตั้งผู้อำนวยการเขต 

“ก็มีเสียงบ่นอยู่บ้างว่า ผู้อำนวยการเขตแต่งตั้งมาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก็จะมีคำถามว่าใครที่แต่งตั้งเขาได้ เขาก็จะตอบสนองต่อคนที่มีอำนาจเหนือเขา คำถามคือเสียงชาวบ้านอยู่ตรงไหน เรียกเรียกร้องไปแล้วบางที ผอ.เขต แทบจะต้องจุดธูป ว่าให้ใส่ใจดูแลมาตอบสนองหน่อย ไม่อย่างนั้นก็เรียกร้องไปก็เท่านั้น ฉะนั้นการแก้ในเชิงโครงสร้างของการบริหารและการกรุงเทพฯ ต้องดูเรื่องพวกนี้ด้วย ว่าจะทำอย่างไรให้ข้าราชการตั้งแต่ระดับผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ไปจนถึงระดับคนทำงานเขต หรือสำนักต่าง ๆ ตอบสนองต่อปัญหาของ กทม. ได้ดีขึ้น ซึ่งต้องออกแบบเยอะมาก”

รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ

บทเรียน มหานครโตเกียว – จาการ์ตา

รศ.วีระศักดิ์ ยังชี้ให้เห็นตัวอย่าง ทั่วโลกที่มีการออกแบบหลายอย่าง แต่มั่นใจว่าไม่ได้ล้าหลังแบบของไทย ที่เป็นโครงสร้างชั้นเดียว ผู้ว่าฯ ดูทุกเรื่อง ไม่มีทางทำได้ทั้งหมดไม่ว่า ผู้ว่าฯ จะมีความสามารถมากแค่ไหน ไม่สามารถดูแลปัญหาได้ทุกระดับอย่างทั่วถึง ดังนั้นต้องออกแบบโครงสร้างที่เหมาะสมกับการจัดการแก้ไขปัญหา ทำอย่างไรให้ ผอ.เขต จัดการปัญหาได้ ให้ประชาชนเข้ามามีสิทธิ มีเสียง สะท้อนข้อเรียกร้องให้ ผอ.เขต ตอบสนองมากขึ้น ก็มีการคุยกันว่าในชั้นที่ 2 หรือระดับเขต จะต้องมีการเลือกตั้งหรือไม่ ? แต่อาจมีเสียงโต้แย้งว่าจะกลายเป็นนักการเมืองไปหมด

ดังนั้นต้องการออกแบบและชั่งน้ำหนัก ยกตัวอย่าง มหานครโตเกียว เขาเป็นระบบผสมหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่คล้ายคลึงกันคือเขาเป็น 2 ชั้น บางเขตที่มีความเจริญมาก ทางเศรษฐกิจ ประชากรพร้อม สามารถดูแลการจัดจัดเก็บภาษีภายในเขตตัวเองได้ เขาก็จะขอสิทธิในการเป็น “เขตพิเศษ” (Special Wards) ผอ.เขตก็จะมาจากการเลือกตั้ง เมื่อประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมก็จะส่งผลให้การบริการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การพัฒนาก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว มหานครจาการ์ตา เป็นแบบผสม (Sandbox) มีทั้งระบบการเลือกตั้ง ระบบสรรหา ระบบแต่งตั้ง ทำให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็ว 

“ฉะนั้น โจทย์สำคัญ ของกรุงเทพฯ ต้องคุยกันให้ตกผลึก ว่าหากจะแก้ในเชิงกฎหมาย พอมองย้อนกลับมาในตัวโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และการบริหารจัดการ ตอบสนองการแก้ปัญหาสำคัญของ กทม.ได้ดีจริงหรือไม่ เป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันตีความและทำให้ตกผลึก”

รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active