ขบวนการแรงงานเข้มแข็ง ความเป็นไปได้ รัฐสวัสดิการ

นักวิชาการแนะ ต้องสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง เพื่อต่อรองอำนาจ 1% บนของประเทศ และปรับเงื่อนไขเป็น “ประชาธิปไตย”

คำว่า “รัฐสวัสดิการ” กำลังถูกพูดถึงในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง หลังไทยเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจ และโรคระบาด (26 มิ.ย.2565) การปาฐกถา We Fair ประจำปี 2565 หัวข้อ “90 ปี ประชาธิปไตย อนาคตรัฐสวัสดิการ อนาคตสังคมไทย” ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร

โดยตลอดทั้งวันมีวงเสวนาจากนักวิชาการที่ช่วยมองประวัติศาสตร์ การส่งต่อมรดกความเหลื่อมล้ำ และสวัสดิการสงเคราะห์ของไทยมาอย่างยาวนาน พร้อมกับข้อเสนอการนำประเทศไทยไปสู่ “รัฐสวัสดิการ” The Active สรุปบางช่วงบางตอนที่สำคัญจากวงพูดคุย โดยนักวิชาการมองว่า รัฐสวัสดิการไทย เกิดยาก เพราะอยู่ในเงื่อนไข “เป็นรัฐเผด็จการ และตลาดเสรี” ต้องปรับไปอยู่ในเงื่อนไขของ “ประชาธิปไตย และรัฐสามารถแทรกแซงระบบตลาดได้” และต้องใช้พลังคนชั้นล่าง 99% (ผู้จัดใช้สโลแกน We are the 99%) ต่อสู้กับ 1% บนสุดของประเทศ โดยไม่มีทางอื่นที่จะต่อรองกับระบบอำนาจเหล่านี้ได้ดีเท่ากับ “การรวมพลังของภาคประชาชน และการมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง”

ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวถึงความสำคัญของการปฏิรูปภาษีว่า “เราต้องปฏิรูประบบภาษีในปัจจุบันเพราะว่ามันแย่มาก แต่เราก็โชคดีที่มันแย่มาก เพราะความแย่มากหมายความว่าเรามีโอกาสที่จะปรับปรุงมันให้ดีขึ้นอีก”

ระบบภาษีของไทยแย่ ไม่เป็นธรรม ล้าสมัย เกรงใจผู้มีฐานะเกินความพอดี

รัฐไทยเก็บภาษีจากผู้ใช้แรงงานเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย

แต่กลับเก็บภาษีจากผู้มั่งคั่งและบริษัทธุรกิจใหญ่ไม่เก่ง แถมปล่อยให้มีช่องโหว่ให้คนมีฐานะดีเลี่ยงภาษีได้มาก โดยได้มีการลดหย่อนยกเว้นอย่างมากมาย เพราะมีการล็อบบี้ตลอดมา”

ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ประวัติศาสตร์ กับดัก-สวัสดิการสงเคราะห์

ช่วงแรกเป็นการอภิปรายของ 4 นักวิชาการ เรื่อง “รัฐสวัสดิการ ความหวัง มายาคติ ข้อถกเถียงและบทเรียน” เริ่มที่ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งปูพื้นฐานเรื่องสวัสดิการสังคมที่มีฐานคิดของการสงเคราะห์ ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. (ปี 2490) โดยจากการศึกษาพบเครือข่ายในอดีตที่วางรากฐานอำนาจสังคมสงเคราะห์ เช่น ปกรณ์ อังศุสิงห์, สุวรรณ รื่นยศ, เทียน อัชกุล, เรณู โชติดิลก, นิคม จันทรวิทุร ฯลฯ

กฤษฎา เล่าต่อว่า ไทยเริ่มมีความก้าวหน้าด้านสวัสดิการ อย่างการมีประกันสังคม มาตั้งแต่ปี 2497 แต่เครือข่ายอำนาจยังไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้สิ่งนี้กลายเป็นอุปสรรคการสร้างรัฐสวัสดิการ ขณะที่ประกันสังคม ก็ไม่ค่อยถูกพูดถึง แม้จอมพล ป. จะพยายามผลักดันแต่ก็ไม่สำเร็จ ขณะที่สวัสดิการสังคมสงเคราะห์ก็ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคง และพยุงอำนาจอย่างฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน

“สวัสดิการกับสังคมสงเคราะห์ ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงให้กับประเทศมากกว่า

ขณะที่ในปัจจุบัน ระบบสวัสดิการ เป็นเรื่องของสิทธิเท่าเทียม ความมั่นคงทางสังคม มากกว่าความมั่นคงของประเทศอย่างในอดีต

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

สอดคล้องกับ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงานอิสระ และเจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง จอมพลสฤษดิ์ มองว่า สวัสดิการไทยมีมานาน แต่พ่วงด้วยคำว่าสังคมสงเคราะห์ ทิ้งไว้ช่วงรอยต่อระหว่าง จอมพล ป. กับ จอมพลสฤษดิ์ จุดเปลี่ยนผ่านที่ต่างกันมาก ปี 2490-2500 ยังมีสวัสดิการที่เป็นสังคมสงเคราะห์ จอมพล ป. ยังให้รัฐแทรกแซง แต่หลัง จอมพลสฤษดิ์ มาก็ได้เปลี่ยนกรอบความคิดไปแทรกแซงตลาด รัฐถอยออกมา และทำให้ไทยอยู่ในระบบ มือใครยาวสาวได้สาวเอา และระบบอุปถัมภ์ โดยเป็นมรดกความเหลื่อมล้ำจากสังคมศักดินา สร้างให้คนไม่เท่ากัน และถูกทำให้เชื่อว่า คนมีอำนาจสูงกว่าจะเป็นผู้อุปถัมภ์

แต่หลังอภิวัฒน์สยาม 2475 คณะราษฎร กลับล้มเหลวในการทำงานวัฒนธรรมการเมือง เพราะระบบอุปถัมภ์ ยังคงถูกผลิตซ้ำ คนมีฐานะสูงกว่าสามารถสถาปนารัฐบาลขึ้นมาเองได้.. ศักดินา ยังได้อธิบาย วงจรอุบาทว์แห่งความเหลื่อมล้ำ ประกอบไปด้วย 10 ประการ คือ 1) ความเหลื่อมล้ำรวยกระจุก จนกระจาย 2) จัดตั้งรัฐบาลอำนาจนิยม รัฐบาลทุนนิยมพวกพ้อง 3) ครอบงำผลิตซ้ำ กรอบคิดอุปถัมภ์ 4) รับเชื้ออุดมการณ์เศรษฐกิจตลาดเสรี 5) เปิดเสรีการค้า เสรีการลงทุน การเงิน 6) พึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ 7) ลดภาษีภาระของทุน ลดกฎเกณฑ์เอื้อทุน 8) ทำให้เลิกจ้างง่ายขึ้น ปรับตลาดแรงงานให้ยืดหยุ่น 9) ทำลายขบวนการแรงงาน ทำลายอำนาจถ่วงดุลทุนและรัฐ 10) แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทุนได้ผูกขาดทรัพยากรของรัฐ

ศักดินา วิเคราะห์ ว่า คนไม่เท่ากัน คือวาทะกรรมที่ช่วยหล่อเลี้ยงอำนาจ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ สมุดปกเหลือง ของคณะราษฎร ถูกต่อต้าน และปัดตกจากการพิจารณาของผู้มีอำนาจ หากใช้ได้ประเทศไทย น่าจะเป็นประเทศแรกที่มี “รัฐสวัสดิการ” ในช่วงเวลานั้นอำนาจอยู่ในมือคนส่วนน้อย และคณะราษฎรไม่มีมวลชนที่เข้มแข็ง จึงใช้วิธีการประนีประนอมผ่านรูปแบบ ทุนนิยมโดยรัฐ ภายใต้การรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ทำให้เกิดรัฐวิสาหกิจ และอื่นๆ จนท้ายที่สุดแนวคิดตลาดเสรีก็ครอบงำ กลายเป็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา จนถึงปัจจุบันที่ทั่วโลกต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมการอุปถัมภ์ และเผชิญอยู่กับวงจนความเหลื่อมล้ำ เพราะอยู่ในจุดเป็น รัฐเผด็จการ และตลาดทุนเสรีนั่นเอง

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมว่า คุณูปการสำคัญของคณะราษฎร 2475 คือการปักหมุดยืนยันความคิด “คนเท่ากัน” ทำให้คนในสังคมไม่กล้าพูดในที่สาธารณะว่า คนไม่เท่ากัน จนถึงวันนี้ก็ยังถือว่าเป็นการสะสมชัยชนะ และยังมีความหวังกับคำว่า รัฐสวัสดิการได้ ษัษฐรัมย์ ย้ำว่าค่าใช้จ่ายสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น 1 บาท ช่วยทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น 1-3 เท่า ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำต่อจากนี้คือ สังคมไทยต้องคุยกันให้มากขึ้น และฝากถึงคนที่ทำงานในพรรคการเมือง หากต้องการจะชนะต้องนึกถึง “รัฐสวัสดิการ” และอย่าประนีประนอมกับคน 1% The Active ได้สัมภาษณ์ข้อมูลเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการในวันครบรอบ 90 ปี 24 มิ.ย. 2475 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ 2475 ร่องรอยความเหลื่อมล้ำ มรดกการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ

สหภาพแรงงาน-ภาคประชาชนเข้มแข็ง ต่อสู้กับ 1% สร้างระบบประชาธิปไตยเต็มใบ หนทางเดียวสู่ รัฐสวัสดิการ ?

ศักดินา ระบุด้วยว่า สิ่งเดียวที่จะแก้วงจรเหลื่อมล้ำได้คือ ภาคประชาชน และสหภาพแรงงานต้องเข้มแข็ง ขยายการจัดตั้ง สร้างขบวนการแรงงาน เพราะประเทศไหนสหภาพแรงงานเข้มแข็ง จะมีอำนาจต่อรอง เพราะไม่มีช่องทางไหนที่จะทำให้คนทำงานมีอำนาจการต่อรองได้ และต้องย้ายประเทศออกจากพื้นที่เผด็จการและตลาดเสรี ไปอยู่ในพื้นที่ประชาธิปไตย และมีรัฐแทรกแซง ถึงจะขยับเป็นรัฐสวัสดิการได้ แต่หากดูเวลานี้ยังพบว่ามีการรวมตัวของสหภาพแรงงานเพียง 1.5% และยังแตกแยกกัน

“ทางเดียวที่จะสู้ได้ คือ สร้างกระบวนการแรงงาน และภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะมีอำนาจต่อรอง แต่วันนี้มีสหภาพแรงงานเพียง 1.5% แถมยังแตกแยก..

ต้องย้ายประเทศออกจาก เผด็จการ และตลาดเสรี ไปอยู่ในพื้นที่ ประชาธิปไตย และมีรัฐแทรกแซง เราถึงจะขยับเป็น รัฐสวัสดิการ ได้”

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงานอิสระ

รศ.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า สิ่งที่เครือข่ายผลักดันรัฐสวัสดิการทำงานกันอย่างหนัก คือต่อต้านรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และพยายามจะบอกว่าทำไม รัฐสวัสดิการ ถึงสำคัญ และในเวลานั้นสังคมตั้งคำถามว่า “การคัดค้านรัฐประหาร เป็นเรื่องของประชาธิปไตย แต่การต่อสู้รัฐสวัสดิการเป็นปัญหาเศรษฐกิจ” ซึ่งอาจารย์มองว่าเรื่องนี้ส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่สังคมถูกข่มขู่ให้หวาดกลัวจากผู้มีอำนาจ 4 ประเด็น คือ

  • เราถูกทำให้เชื่อว่าความจนมาจากความขี้เกียจ แต่ความจริงเราทำงานหนักมาตลอดชีวิต
  • เรากลัวถูกไล่ออก เพราะเครื่องจักรพัฒนา แต่ทำไมเครื่องจักรไม่ตอบสนองการกินดีอยู่ดี ทั้งที่เราซ่อม และสร้างมัน ?
  • มีคนถามตลอดว่า ซื้อประกันชีวิตให้พ่อแม่หรือไม่ แก่ไปใครจะดูแล เพราะประเทศนี้ไม่มีสวัสดิการ เราจึงต้องทำงานหนัก และตายไม่ได้ ทำไมสังคมไม่เลี้ยงดูคนที่สร้างความมั่งคั่งใหัสังคมนี้ในวัย 60 ปี ?
  • และขู่ให้เราต้องหาความรู้ตลอดชีวิต เรียนตลอดชีวิต เป็นต้น

เก่งกิจ วิเคราะห์ต่อว่า ระบบการผลิตทุนนิยม จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานหลังบ้าน เช่น แม่บ้านที่ไม่ได้มีค่าจ้างทำงานบ้าน แต่พวกเขาเหน็ดเหนื่อยในการทำงานบ้าน และเป็นหลังพิงให้กับคนทำงาน ในวัยแรงงาน ดังนั้นการต่อสู้ของประชาชนผู้ใช้แรงงานจึงเต็มไปด้วยมิติที่หลากหลาย ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก ความต้องการอากาศสะอาด สิ่งแวดล้อมที่ดี สวัสดิการสังคมผ้าอนามัย ฯลฯ ดังนั้น สวัสดิการจึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกแยกออกจากประชาธิปไตยได้เลย และเห็นตรงกับ ศักดินา ว่าสังคมไทยต้องสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง เพื่อให้คนชั้นล่าง 99% สู้กับ 1% ได้ และรัฐสวัสดิการจำเป็นต้องตีไปที่ใจกลางคนชั้นบน 1% ของความเหลื่อมล้ำ

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน