เครือข่ายแรงงาน จี้รัฐ กำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

ยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เศรษฐกิจ สังคมในปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากล ด้าน รมว.แรงงาน ตอบรับเร่งดำเนินการ และติดตามเพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานให้กลุ่มแรงงาน มีหลักประกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

วันนี้ (1 พ.ค.66) กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) รวมตัวกันที่บริเวณประตู 5  ทำเนียบรัฐบาล จัดกิจกรรมรณรงค์ เนื่องในวันกรรมกรสากล” ปี 2023 และยื่นข้อเรียกร้องข้อเสนอเร่งด่วน ตลอดจนติดตามข้อเสนอที่ยื่นไปหลายปีแต่ยังไม่มีความคืบหน้า เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เศรษฐกิจ สังคมในปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากล โดยแบ่งเป็น “ข้อเสนอเร่งด่วน“

1. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน คือ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 712 บาท เท่ากันทั้งประเทศ, กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ รวมทั้งกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและมีการปรับค่าจ้างทุกปี

2. รัฐต้องลดรายจ่ายของประชาชน เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม ,ลดราคาน้ำมัน ก๊าซ พร้อมกับการปรับโครงสร้างการกำหนดราคาใหม่, ลดราคาค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ไม่ปล่อยให้กิจการเหล่านี้ตกไปอยู่ในการบริหารจัดการของกลุ่มทุนเอกชน, ลดราคาค่าไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก จากการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าที่ผิดพลาด

สำหรับข้อเสนอที่ติดตามจากปีก่อน ๆ ได้แก่

1. รัฐต้องหยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการยกเลิกการออก พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …., ให้จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ และให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ

2. รัฐต้องปรับปรุงโครงสร้างทางภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนนำมาใช้เป็นงบประมาณพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคนทุกมิติอย่างเท่าเทียม

3. รัฐต้องปฏิรูปการประกันสังคม ทั้งตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมให้กับผู้ประกันตน ตามสัดส่วนผู้ประกันตนแต่ละพื้นที่ พร้อมกับผลิตบุคลากรด้านการแพทย์และอื่น ๆ ของสำนักงานประกันสังคมเอง, สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน (ธนาคารแรงงาน), ปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม, การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต้องเป็นไปในสัดส่วนที่เท่ากันทั้งรัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน, ดำเนินการบริหารจัดการ ให้ผู้ประกันตน มาตรา 40 และมาตรา 33 ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน, เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้รับเงินชราภาพเป็น อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเดือนสุดท้าย และขยายกรอบเวลาในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

4. รัฐต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติทั้ง ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย และด้านด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ ทั้งในระบบและการศึกษาทางเลือกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

5. รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งฉบับที่ 87 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน, ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง, ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา, ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับคนทำงานบ้าน และฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกของการทำงาน

6.ให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33

7. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว 

8. รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ

9. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การปิดกิจการ หรือ การยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ

10. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของคนงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย คนงานต้องได้สิทธิรับเงินจากกองทุนนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนค่าดำเนินการทางคดีระหว่างผู้ประกอบการกับคนงาน หรือรัฐกับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย

11. รัฐต้องพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง และต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันความปลอดภัยฯ ให้เพียงพอสำหรับการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสร้างกลไก กติกา ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนงาน ทุกภาคส่วน และ ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ 

12. รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง เหมาค่าแรง เหมางาน  เหมาบริการ และการจ้างงานบางช่วงเวลา ทั้งภาครัฐและเอกชน

13. ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานะและไม่เลือกปฏิบัติต่อชาติใดชาติหนึ่งเพื่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาโรคและเยียวยาต่อแรงงานข้ามชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติ รัฐบาลต้องให้แรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิเงินกองทุนทดแทน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานไม่ว่ากรณีใด, รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือเยียวยาแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 ให้เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐโดยไม่เลือกปฏิบัติและยกเลิกเงื่อนไขว่าต้องมีสัญชาติไทย 

ทั้งนี้ กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) หวังว่า ข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นเสนอถึงรักษาการนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลนั้น จะได้รับการตอบสนอง เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เป็นผลในทางปฏิบัติ เพื่อให้กรรมกร ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ได้มีความมั่นคง มีความปลอดภัยในการทำงาน ได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ มีหลักประกันทางสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน

ด้านสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย เดินขบวนจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไปยังลานคนเมืองยื่น  7 ข้อเรียกร้อง ของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 

 1. ) รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง

 2) ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ – หรือประกาศเป็นกฎกระทรวง ให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง“เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง 

3) ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม อาทิ ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปีเป็น15-70 ปีเมื่อผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว ขอให้ยังรักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต 

4) ขอให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน 

5) ขอให้รัฐเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 รวมถึงการให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้ายหรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง ซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติไปแล้วและภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ 

6) เพื่อเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีผลบังคับใช้โดยเร็ว 

7) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2566 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน โดยข้อเรียกร้องที่กล่าวมานั้น เพื่อนำเสนอปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และความต้องการของพี่น้องแรงงาน โดยเชื่อมั่นว่าข้อเรียกร้องทั้งหมด 7 ข้อ จะเร่งดำเนินการและติดตามให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานพึงได้รับตามกฎหมาย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในการทำงานมีหลักประกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า  กระทรวงแรงงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัย ทัดเทียมกับนานาประเทศ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหากับการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 รัฐบาลได้มีมาตรการลดภาระค่าครองชีพ และเพิ่มรายรับให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ ทำให้โรงงานไม่ต้องปิดตัวลงส่งผลให้การส่งออกปี 2564 ขยายตัวสูงสุด 

รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยได้มีมติเห็นชอบให้ขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนโดยขยายอายุขั้นสูงจาก 60 เป็น 65 ปี ให้สิทธิผู้ประกันตน มาตรา 33 และ มาตรา 39 ที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินกรณีชราภาพ เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน และปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนการทำงานแบบเวิร์คฟอร์มโฮม โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงเวลาทำงาน พักผ่อน วันลา ให้ชัดเจน ให้สิทธิลูกจ้างปฏิเสธการติดต่อสื่อสารหลังเวลางานได้ 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีความมุ่งมั่นส่งเสริมให้แรงงานมีงานทำ ได้รับการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงในทุกมิติสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ให้การส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงให้มีความปลอดภัยในการทำงาน ยกระดับประกันสังคมเพื่อให้แรงงานได้รับประโยชน์สูงสุด เร่งรัดปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ส่วนข้อเรียกร้องที่เครือข่ายแรงงานยื่นมาทั้ง 7 ข้อ ที่นำเสนอปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และความต้องการของพี่น้องแรงงานนั้น  สุชาติ กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการและติดตามให้ผู้ใช้แรงงานพึงได้รับตามกฎหมาย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในการทำงาน มีหลักประกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active