อีสาน เผชิญภาวะ ”ครอบครัวแหว่งกลาง“ กระทบเด็กเล็ก

ภาคีฯ ท้องถิ่น เอกชน พรรคการเมือง เสนอ ยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เริ่มที่เงินอุดหนุนฯ 600 บาท ไม่ต้องพิสูจน์ความจน พัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ยืดหยุ่น พ่อแม่ยังทำงานได้

เด็กเล็ก

วันนี้ (25 ก.ย. 2566) คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 342 องค์กรทั่วประเทศ จัดเวที “สวัสดิการเด็กเล็กถึงเวลาถ้วนหน้า” ภาคอีสาน ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เพื่อรับฟังความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายถึงรัฐบาลใหม่ ให้สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 3,000 บาท เกิดขึ้นจริง โดยมี มุกดา พงษ์สมบัติ สส.พรรคเพื่อไทย และ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.พรรคก้าวไกล รวมถึง อบจ. เทศบาล หอการค้า ประจำจังหวัดขอนแก่น เข้าร่วม

ผศ.สุนี ไชยรส

ผศ.สุนี ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และประธานคณะทำงานเด็กเล็กถ้วนหน้าฯ กล่าวว่า นโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ถือเป็นหนึ่งในโยบายที่หลายพรรคการเมืองใช้หาเสียงในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อได้รัฐบาลซึ่งเป็นการผสมจากหลายพรรคการเมือง กลับยังไม่เห็นความพยายามในการผลักดันนโยบายเด็กเด็กเล็ก ขณะที่งบประมาณ 990 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอให้พิจารณางบประมาณสำหรับอุดหนุนเด็กแรกเกิด 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท เดือน ก.ย. 2566 ตามคำสัมภาษณ์ของ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. นั้น เป็นเพียงการเติมงบฯ ให้กับเด็กที่เข้าเกณฑ์ครอบครัวยากจนที่ตกหล่นเท่านั้น หากเป็นรัฐสวัสดิการรัฐต้องอนุมัติงบฯ ประมาณ 16,000 ล้านบาท เพื่อให้เด็ก 4.3 ล้านคนได้ถ้วนหน้า

“เราเห็นนายกฯ เศรษฐา ไปพูดในเวทีสหประชาชาติ ว่า ไทยจะพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจึงคาดหวังอย่างยิ่ง ว่าเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าที่เคยเสนอและถูกรัฐบาลตัดออกไปตั้งแต่ปี 65 จะนำกลับมาพิจารณาและอนุมัติทันสำหรับงบฯ ปี 67 เพราะเด็ก ๆ ของเราไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลมานานเกินไปแล้ว”

ผศ.สุนี ไชยรส

ด้านตัวแทนคณะทำงานเด็กเล็กถ้วนหน้าฯ ภาคอีสาน ได้นำเสนอข้อมูลผลกระทบของครอบครัวที่ตกหล่นจากเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท เช่น พื้นที่ริมรางรถไฟเขตเทศบาลนครขอนแก่น พ่อแม่เด็กจำนวนมากต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ฝากลูกไว้กับผู้สูงอายุในบ้าน เข้าไม่ถึงข้อมูลในการขอรับเงิน 600 บท ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีอาชีพ หรือเงินเพียงพอจะซื้อนมให้เด็ก ต้องมาขอการสนับสนุนจากมูลนิธิซึ่งมีงบฯ จำกัด ซึ่งในช่วง 0-6 ปีแรก เป็นช่วงที่เด็กจำเป็นต้องกินนมเยอะมาก แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในบ้าน เงิน 600 บาท จึงถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับคนจน มีตัวอย่างของปู่ที่ไม่มีเงินซื้อนมให้หลานกิน เครียดจนต้องไปผูกคอตาย 

ขณะที่ใน จ.ชัยภูมิ เครือข่ายสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น (LDP) พบอุปสรรคการขอรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดใน 3 ประเด็น คือ 1.เด็กย้ายมาจากพื้นที่อื่นโดยที่ไม่ย้ายที่อยู่ในทะเบียนบ้านมาด้วย 2.การจัดการเอกสารที่มีความซับซ้อน การเดินทางติดต่อบางครอบครัวไกลจากหน่วยงานท้องถิ่นทำให้ขาดการติดตาม 3.เด็กไม่ได้เกิดในประเทศไทย ซึ่งเครือข่ายในพื้นที่พยายามแก้ปัญหาจนปัจจุบันแทบไม่มีเด็กคนไหนตกหล่น 

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ สถานการณ์คุณแม่วัยใสใน อ.เนินสง่า จ.ชัยภูมิ จำนวนกว่า 50 คน ในจำนวนนี้มีถึง 20 % ที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว จึงมีความจำเป็นอย่างมากไม่ว่าจะให้ได้กลับไปเรียนต่อ หรือฝึกอาชีพ โดยมีศูนย์รับเลี้ยงเด็ก หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ต่ำกว่า 2 ขวบ ในแบบที่ตอบโจทย์การดำเนินชีวิต ไม่ให้การมีลูกกลายเป็นปัญหา

เมธาวี นินนานนท์

“ถ้าในชุมชนมีเนิร์สเซอรี ที่มีความยืดหยุ่นในการเปิดปิดเพื่อให้พ่อแม่ยังสามารถทำงานได้เต็มที่และไว้ใจได้ การสนับสนุนจากภาครัฐ อาจเป็นรูปแบบการสมทบรายจ่าย วันละ 10-20 บาท คิดว่าผู้ปกครองของเด็ก ๆ ส่วนใหญ่พร้อมที่จะจ่าย ที่สำคัญเมื่อเด็กผู้หญิงได้กลับไปเรียน มีวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น มีเงินอุดหนุนเข้ามาเติมไม่ให้การเลี้ยงเด็กคนนึงลำบากเกินไป การลงทุนกับเด็กก็เหมือนกับการแก้ปัญหาสังคมหลายด้านไปพร้อมกัน”

เมธาวี นินนานนท์
ปรียานุช ป้องภัย

ปรียานุช ป้องภัย ประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส ภาคอีสาน กล่าวว่า สถานการณ์ครอบครัวในภาคอีสาน จากข้อมูลพบว่า เด็กอีสานทุก ๆ 1 ใน 3 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มีลักษณะเป็นครอบครัวข้ามรุ่น หรือครอบครัวแหว่งกลาง มีข้อมูลว่า เด็ก ป.1 มี IQ 94.79 ต่ำกว่าค่ากลางมาตรฐานสากล และ IQ เฉลี่ยของทั้งประเทศ

ขณะที่เงินอุดหนุนเด็กเล็กคนละ 600 ร้อยบาท ตามเส้นเกณฑ์ความยากจนที่ระบุรายได้ครอบครัวปีละไม่เกิน 1 แสนบาท ก็ยังทำให้หลายคนตกหล่นจากการสำรวจ หรือ คนที่อยู่ในระบบอื่น ๆ ไม่มีรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูเด็ก 1 คน ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ทางคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าฯ จึงเสนอให้รัฐบาล ปรับเงินอุดหนุนเด็กเล็กเดือนละ 3,000 บาท แบบถ้วนหน้า และต้องปรับตามสภาพเงินเฟ้อ

พร้อมสนับสนุนรูปแบบศูนย์รับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนในสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชนบท เช่น ศูนย์ที่เป็นคุ้มในชุมชนที่ดูแลกันเองโดยผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นในการเปิดปิดมากกว่า โดยที่รัฐบาลสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากรด้านพัฒนาการปฐมวัย  ควบคู่กับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในสังกัดให้บุคลากรมีค่าตอบแทน และสวัสดิการที่มั่นคง

“เราจะได้ยินนักการเมืองบางคนพูดว่าเวลานี้จำเป็นต้องกระตุ้นกำไรระยะสั้นก่อน เราจะบอกว่าการลงทุนกับเด็กนี่แหละคุ้มค่าที่สุด เงิน 3,000 บาท พ่อแม่ต้องซื้อของที่ดีที่สุดให้ลูกอยู่แล้ว ที่สำคัญจะกระจายไปยังร้านค้าชุมชนแน่นอน และเราจะได้ผลกำไรในระยะยาวอีก คือ ครอบครัวจะอบอุ่น ไร้ความรุนแรง เด็กคนหนึ่งเติบโตมาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ”

ปรียานุช ป้องภัย

ในเวทียังมีข้อเสนออื่น ๆ เกี่ยวกับเด็กเล็กที่น่าสนใจ เช่น เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุ ความสำคัญของเด็กวัย 0-6 ขวบ สนับสนุนกลไกทางภาษีให้เอกชน สร้างศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อดูแลลูกของพนักงานในองค์กรตัวเองให้ยังสามารถทำงานได้ เป็นต้น 

ทั้งนี้ เวทีถัดไปของ “สวัสดิการเด็กเล็กถึงเวลาถ้วนหน้า” เวทีภาคใต้ จะจัดขึ้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค. 2566 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active